นายคุ้มพงษ์ ภูมิภูเขียว เครือข่ายทนายความเพื่อการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น ตามที่ปรากฎเป็นข่าวออกมาและมีข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่ามีเงินหายไปจำนวน 400 ล้านบาท ต้องบอกให้ได้ว่าใครจะต้องรับผิดชอบทั้งทางคดีแพ่งและคดีอาญา
ในทางคดีแพ่งตนเห็นว่า โดยพื้นฐานคนที่มีอำนาจหน้าที่ได้มีการปล่อยปละละเลยให้สหกรณ์เกิดความเสียหาย มาตั้งแต่ปี 2553 โดยเฉพาะคณะกรรมการฯชุดที่ผ่านมาจนถึงปี 2562 หากละเลยไม่ดำเนินการใดใดก็ถือว่ามีความผิด เป็นการละเมิด คือ มีอำนาจหน้าที่ทำแล้วไม่ทำ เงินจำนวนไม่น้อย หากบอกว่า ไม่รู้และปล่อยปละละเลย โดยหลักจะต้องรับผิดชอบทั้งอดีตประธานฯ อดีตผู้จัดการและคณะกรรมการฯที่ผ่านมาทุกชุด
“การตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการเพราะเชื่อถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ แต่กลับเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแม้ว่าจะไม่ได้ทุจริต แต่ทางแพ่งต้องผิดชอบ ซึ่งที่ผ่านมามีแนวคำพิพากษาจำนวนมากที่มีการลงโทษให้ต้องรับผิดชอบทางแพ่ง” นายคุ้มพงษ์ กล่าว
นายคุ้มพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนคดีอาญาพนักงานสอบสวนคงจะต้องไปไล่เลียงดูรายละเอียดว่า ใครมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง และไม่เฉพาะเงินจำนวน 400 ล้านบาทเท่านั้น เพราะในบัญชีมีบางช่วงที่ยอดเงินฝากพุ่งไปถึง 1,900 ล้าน ต้องไปดูองค์ประกอบ ประธานฯ คณะกรรมการสหกรณ์ฯ ผู้จัดการสหกรณ์ฯ ตลอดจนผู้ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ ผู้สอบบัญชีเอกชน รวมไปถึงผู้แทนสมาชิกสหกรณ์อีกกว่า 300 คน
“ใครรู้เห็นเป็นใจและมีส่วนในการยักยอกทรัพย์ของสหกรณ์ออกไปบ้าง การโอนเงินออกไปเข้าบัญชีใคร บุคคลผู้นั้นจะต้องถือว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย เพราะยอดเงินจำนวนมากเป็นหลักร้อยล้านบาทคงไม่ได้เป็นการเบิกเงินสดออกไปแน่นอน” นายคุ้มพงษ์ กล่าว
นายคุ้มพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ธนาคารยังไม่ปรากฎชัดว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง ยกเว้นว่า เข้าไปมีส่วนในการตบแต่งบัญชี เจ้าพนักงานของรัฐอย่างน้อยสองหน่วยงาน คือ นายทะเบียนสหกรณ์ และสหกรณ์จังหวัด ในฐานะรองนายทะเบียนสหกรณ์ อีกส่วนหนึ่งผู้ตรวจบัญชีเอกชนที่สหกรณ์ว่าจ้างดำเนินการได้เข้าไปมีส่วนร่วมหรือไม่
“เงินก้อนแรกที่เบิกไป 700 ล้านบาทจากบัญชีหลัก ต้องสอบถามว่าเงินตรงนี้ไปไหน หากชี้แจงว่าไปนำค้ำประกันลอตตารี่ ผู้ตรวจสอบบัญชีเอกชนอาจไม่มีอำนาจหน้าที่ไปห้ามปราม เพราะผู้มีอำนาจหน้าที่คือนายทะเบียนสหกรณ์ แต่หลังจากนั้นนายทะเบียนมีอำนาจออกคำสั่งห้ามได้” นายคุ้มพงษ์ กล่าวและว่า
การเบิกเงินหมุนเวียนเข้าออกตลอดในปี 2555 -2556 ฝ่ายตรวจบัญชีฯต้องรู้แล้วว่า ตรงนี้ไม่ถูกต้อง อำนาจหน้าที่ผู้ตรวจสอบบัญชีไม่สามารถห้ามได้ แต่ต้องแสดงความเห็นว่า เงินตรงนี่อธิบายไม่ได้ โดยมีหนังสือมายืนยันอธิบายหรือให้ความเห็นทางบัญชี
ทั้งนี้เมื่อฝ่ายตรวจสอบบัญชีเอกชนบันทึกไว้แล้ว ต้องแจ้งไปนายทะเบียนสหกรณ์ คือ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ตามขั้นตอนต่อไปแต่หากผู้ตรวจสอบบัญชีเอกชน ไม่มีความเห็นเงินก้อนนี้หายไป อาจมีสิทธิ์ร่วมหัวจมท้าย ความผิดของนายทะเบียนสหกรณ์คือ เป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ตามป.อาญา มาตรา 157 แต่ในส่วนของกรรมการสหกรณ์ไม่เข้าข่ายความผิด 157 เพราะไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ
นายคุ้มพงษ์ กล่าวด้วยว่า การแจ้งความดำเนินคดีจะต้องกระทำภายใน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ไม่ใช่จากวันเกิดเหตุ คดียักยอกทรัพย์มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีและมีอายุความคดี 10 ปี และกรณีนี้เท่าที่ตนทราบมีการเบิกถอนเงินหลายครั้ง ถือว่าเป็นคดีเดียวกัน แต่เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ เวลาลงโทษจะเป็นแต่ละกรรมไป
“ผมเห็นว่าต้องเชิญนายทะเบียนสหกรณ์มาร่วมประชุมในวันที่ 4 ธันวาคม ด้วยซึ่งจะเป็นประโยชน์ กับประธานสหกรณ์ฯและคณะกรรมการฯชุดปัจจุบัน ไม่เช่นนั้นอาจจะเข้าข่ายการกระทำผิดและถูกดำเนินคดีทางแพ่งด้วย เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วต้องแสดงความสุจริตใจเต็มที่เชิญนายทะเบียนสหกรณ์ และผู้ตรวจสอบบัญชีมาร่วมชี้แจงด้วย” นายคุ้มพงษ์กล่าว