นักวิชาการเผยผลวิจัยพบ“ที่ใดมีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่นั่นมีการทุจริต” เพราะเป็นแหล่งการเงินที่มีผู้มีอิทธิพลเข้าไปแสวงหาประโยชน์เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ และเป็นที่รับรู้ของบุคลากรทั่วไป ระบุกรณีขอนแก่นชัดเจนสมาชิกต้องออกมาจัดการเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตอีกต่อไป
รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัยหัวข้อเรื่อง “การศึกษาเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลนำไปสู่การทุจริตคอรัปชั่นอย่างเป็นระบบของภาคการศึกษา” กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ครูในหลายจังหวัดของภาคอีสาน กลายเป็นแหล่งทางการเงินที่เครือข่ายกลุ่มผู้มีอิทธิพลได้แอบแฝงเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ด้วยการใช้อำนาจในทางทุจริตมิชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้คือ การคดโกง ฉ้อโกง หรือเอาประโยชน์ทั้งหลายของบุคคล เพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องอยู่เสมอ อันเป็นความผิดทางแพ่งและอาญา ซึ่งกลุ่มอิทธิพลเหล่านี้ มักมีการดำเนินการเป็นเครือข่ายสลับซับซ้อนยากแก่การสืบสวนดำเนินคดี ประกอบไปด้วยผู้มีอิทธิพลทั้งที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง
“ผลของการกระทำนั้นเป็นการบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคม ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของสังคมโดยส่วนรวม ขณะที่บางจังหวัดเป็นที่รับรู้กันในบรรดาบุคลากรทางการศึกษาว่า ผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ครูบางราย คือ ผู้อิทธิพลตัวจริง โดยมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับนักการเมืองระดับชาติในส่วนกลาง”รศ.ดร.พรอัมรินทร์กล่าว
รศ.ดร.พรอัมรินทร์ กล่าวอีกว่า พฤติการณ์การทุจริต เช่นมีการร่วมมือกับผู้บริหารธนาคารฯบางแห่ง ด้วยการเปิดบัญชีใหม่ แล้วนำเงินสหกรณ์ส่วนกลางไปหมุนใช้เพื่อประโยชน์ในวงการธุรกิจของตน ได้แก่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ การทุจริตเหล่านี้จะมีการฉ้อฉลปิดบังความจริงกับสมาชิกสหกรณ์ ฯด้วยการนำใบฝากใหม่ หรือใบฝากปลอม มารายงานเท็จในที่ประชุมใหญ่ให้สมาชิกรับทราบว่า สหกรณ์ออมทรัพย์มีสถานะการเงินมั่นคง และโปร่งใส
“พฤติการณ์ทุจริตการให้เงินกู้พิเศษ มีวงเงินกู้จำนวนหนึ่ง จากการกู้ได้นั้นจะต้องมีเงื่อนไข หลักทรัพย์ค้ำประกัน ของบุคคลและการที่จะสามารถ มีหลักทรัพย์ได้นั้นผู้กู้ต้องมาทำธุรกิจ ซื้อบ้านจัดสรร ในที่ดินหรือโครงการส่วนตัวของตนเอง เพื่อให้มีหลักทรัพย์ค้ำประกันตามศักยภาพ และมีสิทธิ์ในการกู้เงินประเภทนั้นได้”รศ.ดร.พรอัมรินทร์กล่าวและ
รศ.ดร.พรอัมรินทร์ กล่าวว่า พฤติการณ์ของผู้มีอิทธิพลตามความหมายของการวิจัยนี้ มักใช้อำนาจดำเนินการในทางมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ในระบบบริหารสหกรณ์ออมทรัพย์หลายแห่ง ของภาคอีสานส่วนใหญ่มีการทุจริตคอรัปชั่นแทบทั้งสิ้น “ที่ใดมีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่นั่นย่อมมีการทุจริตคอรัปชั่น”
สำหรับประเด็นที่กำลังตกเป็นข่าวในจังหวัดขอนแก่น ตนเห็นว่า เข้าข่ายลักษณะที่เป็นเครือข่ายผู้มีอิทธิพลที่นำไปสู่การทุจริตคอรัปชั่นอย่างเป็นระบบ มีลักษณะของความร่วมมือประสานงานกัน บูรณาการเต็มระบบหรือเต็มรูปแบบโดยมีบุคลากรทางการศึกษา ได้แก่ ผู้บริหารสหกรณ์ฯ ฝ่ายจัดการฯและนักการเมืองบางรายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
“เรื่องนี้ไม่ควรฝากความหวังไว้กับคณะกรรมการสหกรณ์ฯเท่านั้น แต่สมาชิก จะต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ เพราะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลได้ โดยเคยมีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า หากคณะกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ฯไม่ฟ้อง หรือไม่ดำเนินการ สมาชิกผู้ถือหุ้นมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 19 ได้ด้วยตนเอง”รศ.ดร.พรอัมรินทร์กล่าวและว่า
นอกจากนี้ในส่วนความผิดทางอาญา สมาชิกมีสิทธิ์ที่จะแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีความผิดฐานฉ้อโกง หรือร้องเรียนต่อหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริต อาทิ ปปช. ปปท. สตง.แม้แต่ ปปป.ซึ่งเป็นหน่วยงานสนง.ตำรวจแห่งชาติ แต่ไม่ใคร่เป็นที่รู้จัก โดยสมาชิกไม่ควรนิ่งเฉยเพื่อทำให้เกิดเป็นกรณีตัวอย่าง และไม่ให้เกิดปัญหาการทุจริตอีกต่อไป