ประเทศไทยเราเสียโอกาสไปมากกับระบบที่จับเอาศักยภาพของคนและทรัพยากรต่างๆ ของท้องถิ่นไปผูกไว้กับอำนาจจัดการแบบรวมศูนย์ของส่วนกลางซึ่งมีราชการส่วนภูมิภาคเป็นเครื่องมือสำคัญศักยภาพของคนท้องถิ่นสูญเสียไปกับการถูกทำให้เชื่อว่าการตัดสินใจกำหนดทุกอย่างโดยส่วนกลางดีที่สุดการจัดทำบริการสาธารณะด้านต่างๆ โดยส่วนกลางหากไม่ดี ไม่เพียงพอ หรือไม่สอดคล้องความเป็นจริงของปัญหาหรือความต้องการท้องถิ่น ก็ถูกทำให้เชื่อว่า ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะมันต้องถูกเฉลี่ย – ถูกแบ่งปันไปให้ที่อื่นๆ ทั่วประเทศด้วยหรือเพราะประเทศยังขาดแคลนติดข้อจำกัด ความสามารถโดยรวมของประเทศเราก็ยังไม่ดีเหมือนประเทศอื่นๆ เขา (ซึ่งเป็นเหตุผลที่น่าหดหู่มาก เพราะหากมันจะจริงก็เป็นเพราะมันสิ่งเหล่านี้ถูกดึงมาใช้ไม่เป็นต่างหาก)
ในเชิงบริหารจัดการ การเป็นคนของรัฐส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคถูกทำให้เชื่อว่า มีคุณค่า ฐานะ ศักดิ์ศรีสูงกว่าคนท้องถิ่น การได้เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างในสังกัดราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาคกลายเป็นสิ่งที่เหนือกว่าการเป็นคนทำงานราชการสังกัดท้องถิ่นในค่านิยมของสังคมยังไม่นับว่า แผนพัฒนา นโยบายหรือการตัดสินใจใดๆ จากราชการส่วนกลาง(รวมไปถึงราชการส่วนภูมิภาค) ถูกบังคับหรือทำให้ต้องเชื่อว่าถูกต้องเหมาะสมเสมอ ทั้งที่อาจเห็นโดยชัดเจนว่า มันอาจฝืนความเป็นจริงและความเป็นไปได้สำหรับท้องถิ่นหนึ่งๆ
ในเชิงสังคม-วัฒนธรรม-เศรษฐกิจ อะไรที่ติดยี่ห้อว่าทำหรือมาจากส่วนกลางถูกทำให้เชื่อว่าดีกว่า สูงกว่า ฯลฯคนท้องถิ่นเลยวิ่งหนีท้องถิ่น ทิ้งทั้งคนและชุมชนที่ตัวเองเกิดและเติบโตมาไปแสวงหาโอกาสที่มีน้อยนิดในพื้นที่ส่วนกลาง ทั้งที่โอกาสในท้องถิ่นของตนเองยังเปิดกว้างให้สรรค์สร้างขึ้นตอบโจทย์ตัวเองการทิ้งท้องถิ่นตนเพื่อไปสร้างอาณาจักรชีวิตส่วนตนในส่วนกลางนั้น หมายถึงการทิ้งทรัพยากรท้องถิ่นที่มีศักยภาพและคุณค่ามหาศาลไว้ให้เหี่ยวเฉา เสื่อมค่าหรือถดถอยในศักยภาพลงตามกาลเวลาส่วนหนึ่ง
ขณะเดียวกัน การทิ้งท้องถิ่นของคนท้องถิ่นก็เป็นส่วนหนึ่งของเปิดโอกาสให้เกิดการจัดการและฉวยใช้โดยมือที่ไม่ได้เข้าใจคุณค่าของทรัพยากรเหล่านั้น และ/หรือไม่ได้มีจิตผูกพันที่จะสงวนรักษาให้เกิดความยั่งยืนไปด้วยอีกส่วนหนึ่งมือที่เข้ามาจัดการนั้น หากเป็นรัฐก็เข้ามาพร้อมกับการบอกว่า ทรัพยากรเหล่านั้นเป็นของส่วนรวมที่ต้องจัดการโดยอำนาจและมือของรัฐส่วนกลาง รูปธรรมผลงานของมือนั้นคือ การออกกฎหมายมากำหนดให้รัฐส่วนกลางเป็นเจ้าของทรัพย์สินอย่างกว้างขวาง อำนาจตัดสินจัดการและใช้ทรัพยากรเป็นของหน่วยงานรัฐในราชการส่วนกลางแทบทุกกรณี
ในขณะที่มือของท้องถิ่น (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) และชุมชนท้องถิ่นนั้น ให้โอกาสเข้ามาเกี่ยวข้องเพียงบางเบาผิวเผินเพื่อความเป็นเอกภาพ ประโยชน์ส่วนรวม หรืออะไรอีกมากมายผลที่เกิดขึ้นกับท้องถิ่นคือ ทรัพยากรในท้องถิ่นถูกจัดการให้ตอบสนองประโยชน์ของทุนใหญ่นอกพื้นที่ท้องถิ่นหรือทุนใหญ่นอกประเทศ รวมแม้แต่ ทุนเล็ก – ทุนน้อยสัญชาติต่างด้าวที่แทรกซึมแบบกองทัพมดเข้ามาครอบครองทรัพยากรและแย่งชิงอาชีพคนท้องถิ่นแบบเงียบๆ แต่กว้างและลึกอย่างมาก
ที่แปลกประหลาดมากไปกว่านั้นคือ แม้แต่ภาษีที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นโดยคนภายนอกแบบนี้ก็ตกอยู่ในอำนาจจัดเก็บของท้องถิ่นเพียงน้อยนิดรายได้จากภาษีส่วนใหญ่ที่คนเข้ามาใช้ทรัพยากรท้องถิ่นจ่ายให้แก่รัฐผู้มีอำนาจเก็บนั้น เมื่อแปรเป็นงบประมาณรัฐ ก็ถูกจัดสรรมาเป็นเงินอุดหนุนแก่ท้องถิ่นเพียงเล็กน้อย ผกผันอย่างยิ่งกับสัดส่วนการใช้ประโยชน์ทรัพยากรของท้องถิ่น
ในขณะที่หากเกิดปัญหามลภาวะหรืออะไรก็ตามแต่เกิดขึ้น คนท้องถิ่นนั่นละที่ต้องรับกรรมไปที่กล่าวมาจึงเป็นเหตุเป็นผลในตัวมันเองว่า ที่คุณภาพชีวิตคนท้องถิ่นแย่ ความเจริญเติบโตของท้องถิ่นในภาพรวมเกิดล่าช้า เป็นเพราะศักยภาพของทั้งคนท้องถิ่นและทรัพยากรท้องถิ่นไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อตอบสนองประโยชน์ของท้องถิ่น
ขณะเดียวกัน ศักยภาพทั้งสองมิติของท้องถิ่นก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้ผลักดันตอบสนองการพัฒนาประเทศ ซึ่งหมายถึงประโยชน์ของคนทั้งชาติไปด้วยเพราะอย่างนี้ การปลดปล่อยศักยภาพท้องถิ่นจึงหมายถึงการปลดปล่อยศักยภาพของประเทศ ขณะที่การควบคุมจำกัดศักยภาพท้องถิ่นคือควบคุมจำกัดศักยภาพตัวเองของประเทศไปพร้อมกัน
……………………..
โดย-ดร.ศักดิ์ณรงค์ มงคล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)