วช. และ สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ม.ขอนแก่น ยกระดับร่วมมือนักวิชาการนานาประเทศ แก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำเสนอผลงานวิจัย และหารือแนวทางในการแก้ไขร่วมกันอย่างบูรณาการ
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ศูนย์ความเป็นเลิศมะเร็งท่อน้ำดี โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ชมรมศัลยแพทย์ตับ ตับอ่อน ทางเดินน้ำดีแห่งประเทศไทย มูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี สถาบันโรคเขตร้อนและสาธารณสุขลาว (Lao Tropical and Public Health Institute) กระทรวงสาธารณสุขสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และโรงพยาบาลมโหสถ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Mahosot Hospital, Lao PDR) จัดงานประชุมวิชาการด้านมะเร็งท่อน้ำดี ครั้งที่ 2 (Asean Cholangiocarcinoma Conference) ในหัวข้อ การต่อต้านมะเร็งท่อน้ำดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Combating Cholangiocarcinoma in Southeast Asia) ระหว่างวันที่ 12-14 ธ.ค.62 ณ โรงแรมแลนด์มาร์คนครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อนำเสนอผลงานวิจัย นวัตกรรมใหม่และหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภูมิภาคเอเชียร่วมกันอย่างบูรณาการ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2559 สภาวิจัยแห่งชาติได้สนับสนุนการดำเนินงานโครงการท้าทายไทย (Thailand Grand Challenge) ซึ่งมุ่งเน้นโครงการวิจัยที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและวาระแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายในการค้นหาทางออกของปัญหาที่สำคัญที่สุดที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน หนึ่งใน หนึ่งในโครงการท้ทายไทย คือ “โครงการท้าทายไทย ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ” ดำเนินโครงการโดย รศ.ดร.ณรงค์ ขันตีแก้ว จากสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มีผลงานวิจัยและต่อยอดงานวิจัยช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นายแพทย์สุทธิพร กล่าวต่อว่า โครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหาการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีได้อย่างรวดเร็ว โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อกำจัดการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับในประเทศไทยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยผ่านการทำงานร่วมกันในรูปแบบต่างๆ สิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
จากความสำเร็จในการดำเนินงานโครงการในประเทศไทย ทางโครงการได้แสวงหาโอกาสที่จะดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาให้กับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่ ซึ่งมีปัญหาคล้ายกันเกิดขึ้นโดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จจากประเทศไทย โดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นประเทศแรกที่ได้ร่วมงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยผ่านการทำงานร่วมกันในรูปแบบต่างๆ สิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืน