นำร่อง SMART LIVING LAB ส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัลสุขภาพ ขับเคลื่อนขอนแก่น SMART CITY

นำร่อง SMART LIVING LAB ตามนโยบายขอนแก่น SMART CITY ทดสอบและส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัลสุขภาพ  สร้างตัวแบบที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ วิเคราะห์และทำนายสุขภาพจากข้อมูลสุขภาพขนาดใหญ่

ที่ห้องวิทยวิภาส 1 ตึกวิทยวิภาส คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดสัมมนาระดมสมอง เพื่อสร้างรูปแบบการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ ด้านสุขภาพและการแพทย์ พื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยมี ดร.สมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธาน และมีพิธีมอบนวัตกรรมดิจิทัลสุขภาพและการแพทย์ ตามความร่วมมือ (MOU) “Khon Kaen Smart Lurbiving Lab”

รศ.ดร. รินา ภัทรมานนท์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงความเป็นมา ว่า จากแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ของประเทศ จังหวัดขอนแก่นถูกเลือกเป็นจังหวัดเพื่อนำร่องในเชิงนโยบาย โดยจากการระดมความเห็นของทุกภาคส่วนและความคืบหน้าของกิจกรรมและโครงการเพื่อมุ่งสู่ความเป็นอัจฉริยะ เครือข่ายทางด้านสุขภาพภายในจังหวัดได้มีกิจกรรมร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) จำนวน 12 หน่วยงาน ว่าด้วยการขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (SMART CITY) ภายใต้ชื่อโครงการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรม เพื่อบริการด้านการสุขภาพและการแพทย์ ขอนแก่นโมเดล “SMART LIVING LAB” (SMART HEALTH & MEDICAL HUB) เพื่อขับเคลื่อนจังหวัดขอนแก่นให้เป็นสถานที่ทดสอบและส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัลสุขภาพ และประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดในการสร้างตัวแบบที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ วิเคราะห์และทำนายสุขภาพจากข้อมูลสุขภาพขนาดใหญ่

 

   ข้อมูลสุขภาพดังกล่าว ได้จากเซนเซอร์ติดตามสุขภาพและพฤติกรรมจากการสวมใส่และการติดตั้งตามบ้านเรือน และจากข้อมูลสุขภาพจากสถานพยาบาล ผ่านถนนดิจิทัล (X-ROAD) ที่มีการรักษาความปลอดภัยที่เป็นสากล ตัวแบบที่ได้จะเป็นตัวอย่างของระบบที่ดำเนินการด้วยการใช้นวัตกรรมแบบเปิด (OPEN INNOVATION PLATFORM) เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลสุขภาพขนาดใหญ่ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่งที่ได้มาตรฐานของโลกด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ โดยข้อมูลสุขภาพขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ผ่านศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (INTELLIGENCE OPERATION CENTER) จะช่วยให้จังหวัดขอนแก่น สถานบริการสุขภาพ โรงพยาบาล รวมไปถึงผู้วางแผนด้านงบประมาณสุขภาพ สามารถวางแผนการดูแลประชากรในพื้นที่ได้ตรงตามข้อเท็จจริง นอกเหนือไปจากนี้ ข้อมูลที่สามารถเปิดเผยได้ (OPEN DATA) จะก่อให้เกิดนวัตกรรมดิจิทัลสุขภาพใหม่ ๆ อาทิ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมไปถึงการใช้ความจริงเสริมหรือความจริงผสมในการนำเสนอข้อมูลและการทำนายสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ และการประยุกต์ใช้ข้อมูลด้านสุขภาพขนาดใหญ่ในการวางแผนและรองรับการจัดสรรงบประมาณ การบริหารจังหวัดโดยใช้ข้อมูลสุขภาพขนาดใหญ่

 

นอกจากนี้ยังมีพิธีการมอบ ระบบและการ์ด Long Team Care Digital Innovation ผลงานวิจัยรูปแบบเทคโนโลยีฉลาดและระบบนิเวศชุมชนครบวงจร งบบูรณาการ 2562 มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 17,000 ใบ สายรัดข้อมือเพื่อบริหารจัดการสุขภาพ A-Live จำนวน 500 เรือน และ นาฬิกาเพื่อบริหารจัดการสุขภาพ Self by Zensorium จำนวน 300 เรือน

แสดงความคิดเห็น