แดนสนธยาที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น?

แดนสนธยา ความหมายพจนานุกรม หมายถึง แดนที่เหมือนมีบางสิ่งบางอย่างลึกลับ และมีปัญหาสลับซับซ้อนแอบแฝงให้น่าสงสัยอยู่มาก

ซึ่งเมื่ออ่านความหมายนี้แล้วจะเปรียบเทียบกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นได้หรือไม่นั้นอันนี้ผู้เขียนไม่ทราบเพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการใดๆกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น แต่ในฐานะเป็นเลขาธิการมูลนิธิครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนืออันมีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือเพื่อนครูที่เดือดร้อน มีปัญหา ได้รับความไม่เป็นธรรมต่างๆได้รับหนังสือร้องทุกข์จากชมรมสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นได้มาร้องเรียนว่า มีเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นน่าจะหายไปจากบัญชีสหกรณ์กว่า 400 ล้านบาท ซึ่งพวกตนในฐานะเป็นสมาชิกจึงมีความสงสัยอยากตรวจสอบหาความจริงในประเด็นดังกล่าวและทางมูลนิธิโดยดร.ปรีดา บุญเพลิง ประธานมูลนิธิครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้มอบหมายให้ผู้เขียนในฐานะเลขาธิการมูลนิธิได้ระดมนักกฏหมายและทนายความประจำมูลนิธิหลายคนเข้ามาช่วยให้คำแนะนำบรรดาสมาชิกและกรรมการของชมรมสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นจำนวนหลายสิบคนที่มาขอความช่วยเหลือ

จากการพูดคุย สอบถาม และตรวจสอบข้อเท็จจริงจากบรรดาชมรมสมาชิกสหกรณ์เบื้องต้น ทำให้ทราบว่ามีปัญหาสลับซับซ้อนแอบแฝงในพฤติการณ์และในบัญชีทางการเงิน(สำเนา)บางส่วนที่ทางชมรมนำมาแสดงเป็นอย่างมากทางมูลนิธิได้มีการตรวจสอบและสอบถามจากผู้รู้หลายฝ่ายรวมถึงฝ่ายกฏหมายของมูลนิธิเองเห็นพ้องกันว่า น่าจะมีการขอเปิดประชุมวิสามัญ สมาชิกเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยด่วนและให้ทางชมรมทำหนังสือขอความร่วมมือจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อมาร่วมกันติดตามพิสูจน์หาความจริงให้ปรากฏจึงเป็นที่มาของการตามล่าหาความจริงในครั้งนี้

ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากประธานคณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น(ดร.อนุศาสตร์ สอนศิลปะพงษ์)และสหกรณ์จังหวัดขอนแก่นเปิดให้มีการประชุมวิสามัญสมาชิกในวันที่ 4 ธันวาคม 2562 (วันที่เขียนต้นฉบับวันที่ 30 พ.ย.)

ถ้าตรวจสอบจากระเบียบข้อบังคับของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นจะเห็นในข้อแตกต่างกับระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดอื่นๆอันเป็นนัยยะสำคัญที่จะทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นกลายเป็นแดนสนธยานานนับสิบปีก็คือการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ครู

ซึ่งในจังหวัดอื่นๆนั้นบรรดาสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจะเลือกประธานและคณะกรรมการจากที่ประชุมใหญ่โดยตรง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงประธานและคระกรรมการบริหารสหกรณ์อยู่มิได้ขาด ทุกสมัยทำให้มีการแข่งขันและตรวจสอบกันอยู่ตลอดมาทุกสมัย

แต่ในระเบียบข้อบังคับสหกรณ์ครูขอนแก่นกลับให้ประธานคณะกรรมการมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม กล่าวคือให้สมาชิกเลือกผู้แทนเข้ามาและให้ผู้แทนสมาชิกมาเลือกประธานคณะกรรมการอีกชั้นหนึ่ง เป็นเหตุให้มีการล็อบบี้หรือเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้มาซึ่งประธานกรรมการเป็นพวกพ้องของกลุ่มตน โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริหารการศึกษาระดับจังหวัดหรือระดับเขตพื้นที่เพราะมีอำนาจ

ในการบังคับบัญชาบรรดาสมาชิกที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการครู ใต้บังคับบัญชาจึงง่ายต่อการสั่งการและระบบบัญชีทางการเงินต่างๆที่สำคัญคือเมื่อได้ประธานและคระกรรมการที่เป็นพวกพ้องตนก็จะง่ายในการแต่งตั้งผู้ที่จะมาเป็นผู้จัดการ รองผู้จัดการ และตำแหน่งทะเบียน  บัญชีการเงิน และตำแหน่งสำคัญอื่นๆตามลำดับ กลายเป็นแดนสนธยาดังที่กล่าวข้างต้นหรือไม่? เป็นสิ่งที่บรรดาสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น ซึ่งเป็นเจ้าของสหกรณ์ตัวจริงจะต้องออกมาตรวจสอบตามล่าหาความจริงร่วมกันอย่างกระพริบตา

และต้องขอบคุณดร.อนุศาสตร์ สอนศิลพงษ์ ประธานคณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น คนปัจจุบันและทีมงานที่ช่วยสมาชิกตามล่าหาความจริงเพื่อกระชากหน้ากากไอ้โม่งตัวจริงที่ยักยอกเงินของสมาชิกเอาไปใช้ส่วนตัว ให้สังคมได้รับรู้เร็วๆนี้ ..ขอให้กำลังใจครับ..

โดย ดร.เพิ่ม หลวงแก้ว เลขาธิการมูลนิธิครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แสดงความคิดเห็น