ไม้ขีดก้านแรกส่งให้รัฐจัดการกลุ่มทุจริตยักยอกฟอกเงิน จุดติดแล้ว “ไฟลุกท่วมสหกรณ์ครูทั่วประเทศ” (2)

ข้อเขียนของเราตีพิมพ์ตอนที่ 1 ว่าด้วยสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นจํากัด (สอ.ขก.)  ในเว็บไซต์ “อีสานบิซ” ในวันที่ 13 ธันวาคม 2562 จากนั้นเพียงวันที่ 17 เดือนเดียวกันสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นจํากัดได้มอบอำนาจให้ทนายความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ได้กระทำการปลอมแปลงเอกสารใช้ยักยอกเงินแล้วนำเงินไปเข้าบัญชีเงินฝากของบุคคลอื่นไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ฯ โดยสรุปก็คือ “ให้ดำเนินคดีทางแพ่งและอาญากับ 1.นายเอกราช ช่างเหลา 2.นายนพรัตน์ สร้างนานอก 3.นายสมศักดิ์ โคตวงศ์ ในข้อหาร่วมกันปลอมเอกสาร ร่วมกันใช้เอกสารปลอม ร่วมกันยักยอกทรัพย์ ร่วมกันกระทำความผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือร่วมกันกระทำความผิดอื่นตามที่ได้ความจากการสอบสวนและขอให้เรียกเงินจำนวนดังกล่าวทั้งต้นและดอกเบี้ยคืนให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นจํากัด” (www.esanbiz.com) ยังต้องสู้กันไปอีกยาวนานมาก เพราะการต่อสู้ครั้งนี้ภาพชั่วข้าเลวร้ายมากในวงวิชาชีพครู ด้วยฐานการต่อสู้มาจากความอ่อนแอของ “ผู้แทนสมาชิก” จำนวนไม่ถึง 400 คนต่างเข้ามาเพื่อประชุมใหญ่สามัญประจำปีแล้วก็อนุมัติการจ่ายเงินปันผลและเฉลี่ยคืน และที่น่าสนใจจ่ายโบนัสจำนวนมหาศาลให้แก่กรรมการดำเนินการ 15 คนเจ้าหน้าที่ คณะที่ปรึกษาและผู้ช่วยหักเงินเดือนประจำพวกผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาฯหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นและเจ้าหน้าที่ โดยไม่สู้จะสนใจการทุจริตที่มีอยู่

เหตุการณ์นี้จะมีการกระตุ้นเตือนให้ครูไปสู่การฟ้องร้องรองนายทะเบียนสหกรณ์ และนายทะเบียนสหกรณ์เหมือนสหกรณ์ออมทรัพย์ครูชัยภูมิ จํากัด กล่าวอย่างสั้น ๆ เรื่อง สอ.ขก. ยังมีอีกสามเรื่องเป็นอย่างน้อยที่จะตามมาคือ การนำเงินจำนวนหลายร้อยล้านบาทไปฝากที่สหกรณ์เครดิตยูเนียนจํากัด (โคตรทุจริตธาตุแท้ของกรรมการและผู้จัดการ) การโยกโอนเงินไปยังเจ้าหน้าที่จำนวนมาก (ปลอมหลักฐานการโอนกันมั่วในสำนักงานฯ) และที่สำคัญยังไม่มีการร้องทุกข์กล่าวหาว่าผู้จัดการและเจ้าหน้าที่สหกรณ์ฯจัดทำรายงานประจำปี (8 ปีตั้งแต่ปี 2554-2561) อันเป็นเท็จต่อมวลสมาชิก นายทะเบียนสหกรณ์ ผู้สอบบัญชีและเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนมอบหมายในวันประชุมใหญ่ประจำ (8) ปี อีกเลย.

คราวนี้เราผู้เขียนอยากจะเชิญมวลครูมาดูสหกรณ์ฯ ที่ทุจริตมากอันดับต้น ๆ ของประเทศคือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูมหาสาคาม จํากัด (สอ.มค.) มีสมาชิก 14,792 คน มีทุนดำเนินการ 21,451,966 ล้านบาท นอกจากวัตถุประสงค์หลักตามกฎหมายเป็นสถาบันการเงินที่เกิดจากการออมทรัพย์ของครู (แต่ตอนต่อมารับฝากจากบุคคลภายนอกแล้วบังคับให้เป็นสมาชิกประเภทสมทบ) เป็นแหล่งทุนในการกู้ยืมของสมาชิกเพื่อการศึกษาต่อและประกอบอาชีพแล้ว และที่สำคัญยิ่งให้ครูที่ครองอำนาจและผิดกฎหมายอย่างยาวนานร่วมทำกันสหกรณ์ให้เป็นแหล่งทำมาหากินของกลุ่มผลประโยชน์ที่แฝงเข้ามาในรูปของกรรมการผู้มีอำนาจและผู้มีอิทธิพลในวงการครู.

เริ่มจากเริ่มเมื่อ 50 ปีมาแล้วกรรมการ เจ้าหน้าที่และกลุ่มนายทุนภายนอกผู้มีอิทธิพลปล่อยเงินกู้นอกระบบจนถึงวันนี้ (เป็นเหมือนกันทุกสหกรณ์) และมาทำการทุจริตครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของ สอ.มค. เมื่อคณะกรรมการดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา นำเงินของสมาชิกไปลงทุนสามครั้งครั้งละสองร้อยล้านบาทรวม 600 ล้านบาทกับนาย ศุภชัย ศรีอักษร ประธานกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนียนฯ โดยอ้างอิงมาจากข้อมูลเชิงลึกของคณะกรรมการสอบสวนระดับสูงว่า มีการจ่ายใต้โต๊ะแก่สหกรณ์หลายแห่งร้อยละ 10-12 (อ้างอิงแถลงการณ์ฯข้อ 2 โดยอวยชัย วะทา.ประธานเครือข่ายกอบกู้ สอ.มค.) ในที่สุดสหกรณ์เครดิตยูเนียนจํากัดก็ถึงกาลล่มสลายทำให้เกิดภาวะหนี้ (สงสัยจะ) สูญ นอกจากกรรมการดำเนินการไม่ดำเนินการฟ้องร้อง นายทะเบียนสหกรณ์ก็ไม่ดำเนินการฟ้องร้อง (ตามมาตรา 21 ของกฎหมายสหกรณ์) ด้วย โดยเฉพาะทางแพ่งเรียกค่าเสียหายแล้ว คณะกรรมการดำเนินการได้ตั้งงบประมาณเพื่อตัดเป็นหนี้สูญเฉพาะปี 2561 จำนวน 21 ล้านบาท (สมาชิกต้องมาร่วมรับผิดชอบ) อีกด้วย

การทุจริตครั้งที่สอง คณะกรรมการดำเนินการได้นำเงินจากสามกองทุนกว่า 126 ล้านบาทไปทำประกันปลอมกับบริษัทจดทะเบียนค้าพืชผลการเกษตร ศาลชั้นต้นตัดสินให้คณะผู้รับผิดชอบมีความผิด แต่คณะกรรมการดำเนินการ 15 คนในชุดปัจจุบันกลับไม่ใส่ใจยื่นขอบังคับคดีต่อศาลเพื่อป้องกันการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินตามข้อเสนอของสมาชิกเหมือนกับมีวาระซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่

นอกจากนี้แล้ว ปีทางบัญชีนี้คณะกรรมการดำเนินการมีการตั้งงบประมาณไปจ่ายแก่คณะกรรมการฯ เฉลี่ยปีละกว่า 10 ล้านบาท โดยประธานกรรมการฯ ได้รับส่วนแบ่งมากที่สุดเกือบล้านบาท นับเป็นการสูญเปล่า เพราะเป็นการลงทุนไม่คุ้มค่า แต่ผลประโยชน์ของสมาชิกกลับลดลง การบริหารเต็มไปด้วยความไม่โปร่งใส แทนที่จะมีจิตสำนึกช่วยกันเสียสละประหยัดในภาวะสหกรณ์กำลังตกต่ำ สมาชิกต่างเดือดร้อนแสนสาหัส (อ้างอิงจาก อวยชัย วะทา.17/12/2562)

อย่างไรก็ตาม ในการหาครูที่พร้อมจะลุกขึ้นต่อสู้แสนยากแสนเข็ญนี้ ก็มีบุคคลจำนวนน้อยนิดประกอบด้วย นายสันต์ เพียรอดวงษ์และนายบุญศรี ไชยบุดดี บุคคลทั้งสองนี้ได้เป็นโจทย์ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดมหาสารคามเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 นายปราการ เจริญสุรสกล ที่ 1 กับพวกรวม 16 คนจำเลย ฐานฉ้อโกงเงินกองทุนผู้เกษียณอายุราชการ เริ่มก่อตั้งปี 2535 รายได้เงินสวัสดิการสงเคราะห์สมาชิก (กสส.) ได้มาจากเงินกำไรสุทธิ หรือจัดสรรงบประมาณ หรือเงินบริจาคเข้าเป็นรายได้ ในแต่ละปีให้นำดอกเบี้ยมาจ่ายให้ผู้เกษียณแต่ไม่เกินรายละ 50,000 บาท (ตามอายุการเป็นสมาชิก) ในแต่ละปีนับแต่จัดตั้งเป็นต้นมา จนกระทั่งในวันประชุมใหญ่ประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 เมื่อกลุ่มครูผู้กล้าได้ตรวจสอบ (น่าสังเกตว่าผู้แทนสมาชิกไม่เคยตรวจสอบเลยหรืออย่างไร) โดยละเอียดแล้ว ไม่ปรากฎระเบียบวาระรายงานการจัดสวัสดิการฯ ซึ่งเคยปรากฏต่อเนื่องมานานกว่า 30 ปี มีแต่เพียงระเบียบวาระที่ 4 เรื่องพิจารณาข้อ 4.6 การแก้ไขปัญหาการจัดสวัสดิการสมาชิกเกษียณอายุ จำนวนล่าสุดปรากฏในรายงานกิจการประจำปี 2559 ยอดเงิน 27,128,848 บาท แต่กลับไม่ปรากฏในรายงานกิจการประจำปี 2560 แต่อย่างใด ช่วยสื่อสารต่อมวลสมาชิกให้เห็นว่าน่าจะเกิดการทุจริตกับกองทุนนี้

ต่อมานายสันต์ เพียรอดวงษ์ นายณตวรรษ อินทะวงษ์ นายสุพจน์ นาถเหนือ และนายทองดี เทียบหมั่ง ได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองฯ จังหวัดมหาสารคราม ให้ดำเนินคดีคณะกรรมการดำเนินการ สอ.มค.ร่วมกันออกระเบียบยืมเงินกองทุนผู้เกษียณอายุ จำนวน 23,898,000 บาท ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จากเงินเกษียณอายุ (เลขที่ 001-2-00226) เพื่อไปทำประกันชีวิตกลุ่มแก่สมาชิกกลุ่มฯ ในทางนำสืบของเจ้าพนักงานฯ พบว่าโอนเงินจำนวนนี้ไปให้กับบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรับการโอนดังกล่าวนี้เท่านั้น และเจ้าพนักงานฯ สามารถนำตัวบุคคลที่รับจ้างเป็นผู้จดทะเบียนนี้มาดำเนินคดี รายละเอียดปรากฏตามคำฟ้องของกลุ่มครูผู้กล้าอย่างแท้จริง เราผู้เขียนขอยกย่องชมเชยพวกครูกลุ่มนี้มาก

คดีนี้จะเป็นคดีประวัติศาสตร์อีกด้านหนึ่งของวงการสหกรณ์ครู หัวเรื่องการทุจริตยอดนิยมของครูสีเทา ครูผู้ขูดรีดครูด้วยกัน และครูชื่อเสียงร้อยสองร้อยบาท ได้แก่ การยักยอก ฉ้อโกงประชาชน และฟอกเงิน และนำบุคคลภายนอกมาร่วมฉ้อโกงครูด้วยคือแชร์ลอตเตอรี่จนทำให้หุ้นสหกรณ์หดวูบหายไปจนเกือบจะหมดสิ้น (เช่น สหกรณ์ครูเลยแชร์ลอตเตอรี่) และอีกรูปแบบคือการขายตรงเป็นปรากฏการณ์ใหม่ เป็นต้น

เรื่องของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมหาสารคามจํากัด ยังมีข้อมูลอีกหลายประการจากนายสงบ บูรพันธ์และนางคำหยาด ศรีบุญเรือง ฯลฯ จบลงไม่ได้ ยังมีการทุจริตแทบท่วมแผ่นดิน “ตักศิลา” ยอมรับว่า มากจริง ๆ

ความชั่วและเลวร้ายรุนแรงของสองสหกรณ์ครูทั้งขอนแก่น และมหาสารคามเป็นไม้ขีดก้านแรก ๆ ที่เร่ง “ไฟลุกลามท่วมแผ่นดินไทย”  (ตอนที่ 3 สหกรณ์ออมทรัพย์ครูมหาสารคามต่อ)

 

โดย-สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์

 

 

แสดงความคิดเห็น