“เสียงตอบจากแม่ญิงอีสาน หยุด เหยียดหยาม ลดทอน อคติ ที่ไม่ดีต่อคนดีสาน” ถึง เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง กรณีเขียนบทความเรื่อง “อุปนิสัยที่ชี้ชะตากรรม” ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13-19 ธ.ค. 62 ที่มีเนื้อหาวิจารณ์การแต่งงานของหญิงอีสานกับชาวต่างชาติในเชิงดูหมิ่นว่า รักสบาย จ้องแต่จะหาสามีรวยๆ เพื่อยกฐานะของตนเอง นั้นได้ตอกย้ำวาทะกรรม “โง่ จน เจ็บ” ที่คนอีสานถูกดูแคลน
เรื่องราวและกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อข้อเขียนดังกล่าวได้กระจายไปสู่วงกว้าง สร้างความไม่พอใจให้ชาวแม่ญิงอีสานเป็นอย่างมาก จึงได้จัดเวทีโสเหล่ขึ้นที่ ห้องศรีบุญ กองจันทร์ ชั้น 2 วิทยาลัยการปกครอง มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีนักวิชาการ นักศึกษา สื่อมวลชน และนักกิจกรรมทางสังคมร่วมแสดงความคิดเห็น
น.ส.พิณทอง เล่ห์กันต์ นักวิจัยอิสระ ผู้รณรงค์ผ่านเว็บไซต์ change.org เรียกร้องให้นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์และเพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง ขอโทษคนอีสาน กล่าวว่า เป็นลูกค้ามติชนสุดสัปดาห์มาโดยตลอด พออ่านบทความแล้วรู้โกรธตั้งแต่เห็นชื่อบทความ ทำให้ต้องออกมาทำคลิปแสดงความไม่พอใจผ่านยูทูป เพื่อบอกสังคมว่าไม่เห็นด้วย
“บทความของคุณเพ็ญศรีมีเนื้อหาเชิงตีตราว่า หญิงอีสานรักสบาย รับฟังคำสั่ง รักงานบริการ คำว่า สบาย มันบอกว่า ไม่อยากทำมาหากิน เลือกจะขยับฐานะของตัวเองที่เร็วที่สุดด้วยการแต่งงานกับชาวต่างชาติผิวขาว” น.ส.พิณทอง กล่าวและว่า
น.ส.พิณทอง เล่ห์กันต์ นักวิจัยอิสระ ผู้รณรงค์ผ่านเว็บไซต์ change.org คนที่ 2 จากซ้ายมือ
เป็นการดูหมิ่นศักดิ์ศรีของตนในฐานะที่เป็นผู้หญิงอีสาน จึงเชิญชวนผู้ที่ไม่เห็นด้วยเข้าร่วมลงชื่อเพื่อรวมพลังส่งต่อให้สังคมและน.ส.เพ็ญศรีได้ทราบว่า ส่ิงที่น.ส.เพ็ญศรีทำสร้างความเสียหายให้สังคมอีสาน จึงมีความคิดว่าจะฟ้องร้องในฐานะถูกกระทำ แต่จะศึกษาข้อกฎหมายและหาทนายความ และหากเครือข่ายอื่นเห็นว่า ควรฟ้องเอาผิดก็สามารถทำได้เลย ในต่างประเทศจะถือว่า เป็นเรื่องที่เขาให้ความสำคัญมาก
น.ส.พิณทอง กล่าวอีกว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ขอโทษสังคมแล้ว แต่น.ส.เพ็ญศรียังไม่ได้ขอโทษคนอีสาน ทำเพียงแค่ขอโทษเจ้าของภาพที่นำไปลงในบทความเท่านั้น และภาพที่นำมาประกอบก็ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ
“ดิฉันขอเรียกร้องให้คุณเพ็ญศรีขอโทษคนอีสาน เพราะคุณยังไม่สำนึกว่า บทความนั้นได้ทำลายคนอีสาน ทั้งนี้จะนำรายชื่อที่ร่วมลงชื่อบนเว็บไซต์ขยับเป็นการนำเสนอเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง” น.ส.พิณทอง กล่าวและว่า
ดร.พัชรินทร์ กล่าวอีกว่า สังคมไทยเป็นสังคมชายเป็นใหญ่เมื่อเกิดการหย่าร้าง ปัญหาจึงเกิดอยู่กับฝ่ายหญิงเพราะระบบสังคมและกฎหมายไม่รองรับ ในต่างประเทศเมื่อหย่าร้างพ่อและแม่ต้องส่งเสียลูกไม่ว่าลูกจะอยู่กับใครแต่ในสังคมไทยกลับไม่เป็นเช่นนั้น
นางสุมาลี สุวรรณกร บก.ศูนย์ข่าวเครือเนชั่นภาคอีสาน
“บทความนี้ไม่เพียงฆ่าคุณเพ็ญศรี แต่ยังฆ่าบรรณาธิการด้วย ถ้า บก.อ่านแล้วปล่อยออกมาได้อย่างไร เพราะเป็นบทความที่มีทัศนคติอันตราย ไม่มีใครควรถูกดูถูกเหยียดหยาม” บก.ศูนย์ข่าวเครือเนชั่นภาคอีสานกล่าว
บทเรียนจากปรากฏการณ์คร้ังนี้ สังคมควรเรียนรู้บทความดังกล่าวด้วยการไม่นำไปสู่การชิงชังเหยียดหยาม และเป็นโอกาสดีที่สื่อควรจะสร้างความเข้าใจว่า ภาคอีสานไม่ได้แห้งแล้ง ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมโง่ จน เจ็บ และอยากให้คนอีสานสร้างมุมใหม่ๆ ต่อภูมิภาคผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อลดมายาคติเดิมๆ
รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า แม้นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์จะถอดบทความออกจากสื่อออนไลน์แล้ว แต่บทความน้ันได้เผยแพร่ไปทั่วโลกและสร้างความเสียหายที่ยากจะประเมินค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ได้
“การขอโทษและการถอดคุณเพ็ญศรีจากการเป็นคอลัมนิสต์ไม่สามารถเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ เพราะการเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์มันกระจายไปทั่วโลก เสียหายไปทั่วโลก” รศ.ดร.ศุภวัฒนากร กล่าวและว่า
หากชุดความคิดนี้ไม่ได้รับการสะสางให้กระจ่างจะเป็นมรดกทางความคิดสืบต่อไปยังคนรุ่นหลัง และซ้ำร้ายไปยิ่งกว่านั้นคือชุดความคิดที่มีอคติต่อผู้หญิงอีสานส่งต่อไปยังผู้นำประเทศจะสร้างความขัดแย้งที่หยั่งรากลึกสืบต่อไปในสังคม