ไม้ขีดไฟก้านแรกส่งให้รัฐจัดการกลุ่มทุจริตยักยอกฟอกเงิน จุดติดแล้ว “ไฟลุกท่วมสหกรณ์ครูทั่วประเทศ”(ตอน3)

ในขณะที่เราผู้เขียนได้นำเสนอเรื่อง จุดติดแล้ว “ไฟลุกท่วมสหกรณ์ครูทั่วประเทศ” ไปแล้วสองตอน ปรากฏว่ามีกลุ่มครูผู้ชั่วช้าสามานย์แสวงหาเงินทอนได้กระทำการต่อเพื่อนครูผู้ถูกขูดรีดและทำนาบนหลังคนในวิชาชีพเดียวกัน และครูจากทั่วประเทศส่งข้อมูลจำนวนมากมาให้ หลายคนส่งไลน์มารำพึงว่าใจจดใจจ่อเมื่อไรจะเขียนถึงตอนสหกรณ์ครูจังหวัดตนเสียที เราก็ตอบไปว่าตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้ไปอีกหลายตอน.

ในสมัย 14 ตุลาคม 2516 นั้นเราเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม (มศว.มค.) ได้รับเลือกตั้งจากนิสิตนักศึกษาให้เป็นประธานสภานิสิต มศว.มค. และได้รับรางวัลจากการประท้วงคณาจารย์อย่างยืดเยื้อยาวนานจนมหาวิทยาลัยต้องสั่งปิด ส่วนนิสิต(ผู้เรียนภาคปกติ)จำนวนเกือบห้าร้อยคนก็แยกย้ายไปตามที่เลือกเรียนอย่างเสรีใน มศว.ทั้ง 8 แห่งทั่วประเทศ

เราในฐานะผู้นำได้ถูกย้ายด่วนไปเรียนที่ มศว.ประสานมิตร และได้รับเลือกตั้งอย่างเป็นทางการให้ดำรงตำแหน่งประธานสภานิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒกลาง (8แห่ง) เข้าร่วมกับขบวนนิสิตนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หลังจากนั้นก็ร่วมขบวนการประชาชน ที่สำคัญและภาคภูมิใจมากควรบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังรับรู้คือ ได้เข้าร่วมกับขบวนการสามประสาน (นักศึกษา กรรมกร และชาวนา) ของ”สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย”(ก่อตั้งเมื่อปี 2517)

ผลงานที่ต้องกล่าวถึงของชาวนาชาวไร่คือการตรากฎหมายสองฉบับพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่านา พ.ศ.2517 และฉบับอื้อฉาวยาวนานมากว่า 20 ปีมาแล้วคือ พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 พร้อมๆกันนั้นก็ได้เขียนข่าวและบทความลงในหนังสือพิมพ์และนิตยสารแนวก้าวหน้ามาโดยตลอดจนกระทั่งปัจจุบัน.

ทำไมเราถึงเลือกเขียนเรื่องยาวเป็นตอนๆ ในสหกรณ์ครู เพราะว่าหลังจากเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เป็นต้นมา แทบทุกแห่งจะใช้วิธีที่ผิดกฎหมาย แต่ถูกระเบียบและมติของที่ประชุมใหญ่สหกรณ์กระทำการกับเงินก้อนใหญ่จัดตั้งงบประมาณเพื่อการทุจริตคอร์รัปชันกันตลอดเวลา โดยใช้กลไกผีโม่แป้งได้ ทั้งซื้อเสียงมวลสมาชิกในการเลือกตั้ง (บางสหกรณ์เบิกเงินจากกองกลางคนละ 500-1,000 บาท ก็ซื้อเสียงแถมเติมเงินให้อีก 200-500 บาทก็จะสำเร็จกับการโม่แป้ง) และแลกผลประโยชน์หลายอย่างในกลโกง

“ผู้แทนสมาชิก”บางสหกรณ์ครู เลือกใช้วิธีการจ้างนักวิชาการผู้เชียวชาญจากสำนักสหกรณ์จังหวัดลาออกมาเป็นผู้จัดการ บางแห่งใช้ครูผู้เป็นเพื่อนของตนมาเป็นผู้จัดการ บางแห่งเข้าหาพรรคการเมืองใหญ่สีเทาเพื่อให้ตนได้พ้นผิดจากการไม่ถูกตรวจสอบจากรัฐ (ระวังรองฯและนายทะเบียนสหกรณ์จะถูกฟ้องศาลทุจริตฯเล่นงานมาตรา 157 ทางที่ดีในฐานะเป็นข้าราชการลูกจ้างประชาชนต้องฟ้องแทนสมาชิกตามกฎหมายสหกรณ์มาตรา 21).

การคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจำนวน 65 แห่งนำเงินไปลงทุน(ตอนหลังกลัวจะไม่ได้เงินคืนก็เปลี่ยนไปเป็น “เงินฝาก”) จำนวนมากที่สุดนับเป็นหมื่นล้านบาท สร้างความเจ็บปวดแก่ครูเจ้าของเงินอย่างแสนสาหัส หลายแห่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) รับไว้ฐานยักยอก ฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงินแล้ว (หลายแห่งกำลังร้องเรียนไปยังดีเอสไอ)

ประเด็นที่ร้องทุกข์นั้นจะต้องแนบอาวัลปลอม (หรือไม่มีอาวัล) บันทึกการประชุมสหกรณ์ปลอม หนังสือจากเชิญลงทุนจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานเครดิตยูเนียนฯปลอม หลักฐานที่ส่งให้ศาลอาญาปลอมเกือบทั้งหมด ผู้จัดการรับรองสำเนาเอกสารปลอม(แล้วลาออกหนีไป).

การทุจริตใหญ่อย่างที่สองคือแชร์ลอตเตอรี่อย่างน้อยมี 13 แห่ง(อีกแห่งหนึ่งถูกซ่อนไว้) ถูกโกงไปโดยผู้กระทำผิดจำนวนเกือบร้อยคน สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงที่สุดจำนวนมากกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท (คดีหมายเลขแดงที่ อ.862/2561 วันที่ 28 มีนาคม 2561) อีกไม่นานเดี๋ยวมวลสมาชิกสหกรณ์ครูจำนวนเกือบ 7 แสนคนจะเห็นภาพผู้นำครูถูกจองจำในคุกตอนแก่พร้อมทั้งถูกยึดทรัพย์ฟ้องล้มละลายจำนวนมาก.

คอร์รัปชันที่สามคือการทำประกันปลอมและฉ้อฉล อันนี้จะเป็นเรื่องที่กำลังร้อนแรงมีการฟ้องร้องสองคดีโดย สอ.มค. ก่อนสหกรณ์ครูใดๆ เรื่องนี้การนำเงินกองทุนเกษียณอายุราชการไปใช้ร่วมมือกับบริษัทประกันชีวิตโดยบริษัทปลอมและบริษัทประกันชีวิต(กฎหมายปี 2535)และประกันวินาศภัย(กฎหมายแยกอีกฉบับปี 2535) อยากจะเชิญชวนสมาชิกสหกรณ์จำนวนกว่า 7 แสนคนช่วยกันตรวจสอบด้วย เพราะค่าคอมมิชชั่นเป็นความรุนแรงที่สุดการแสวงหาค่าเบี้ยประกันเพื่อนำไปแบ่งกันเป็นจำนวนเงินนับหมื่นๆล้านบาท(เป็นการฟอกเงินหรือไม่ยังกังขาอยู่) ในสัญญาเงินกู้จากธนาคารออมสินจำนวนครู 4.5 แสนรายกำลังตกอยู่ในบ่วงหนี้ที่ใช้ทั้งชาติก็ไม่หมด.

การทุจริตอย่างที่สี่ การตั้ง”สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์” หลายแห่งโดยน่าจะผิดกฎหมายการฌาปนกิจสงเคราะห์ปี 2545 สหกรณ์ครูจำนวนเกือบทั้งหมดพากันแห่ตั้ง สมาคมฯ นี้จำนวนมาก บางแห่งถึง 4-5 สมาคม และรวมกับสมาคมฯครูไทยอีกสองสมาคม แล้วเป็นหกสมาคมฯ เช่น สอ.มค.มี 6 สมาคมฯ พากันไปตั้งสำนักงานอยู่บนชั้นสองของสอ.มค. มั่วจริงๆ ประเทศไทย เรื่องนี้กำลังอยู่ในขั้นการฟ้องร้องนายทะเบียนสมาคมฯประจำท้องที่ปล่อยให้เกิดขึ้นได้อย่างไร.

การคอร์รัปชันอย่างที่ห้า การเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ของบรรดาเจ้านายในสำนักงาน ทั้งผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา(ประถมและมัธยมศึกษา) ผู้บริหารในสถาบันอุดมศึกษาและตำแหน่งอื่นๆ ที่ลงนามในสัญญาเงินกู้เบื้องต้นโดยไม่ตรวจดูข้อมูลว่าผู้กู้เงินได้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการฯ ว่าเงินได้ได้รายเดือนเหลืออยู่ร้อยละ 30 หรือไม่ ปล่อยเลยตามเลย”สมควรให้กู้ได้” เพื่อหวัง “เงินค่าจ้าง”(ยูทูปของผู้อำนวยการธนาคารออมสิน)

จนกระทั่งครูทุกภาคทั่วประเทศจำนวน 2,919 คนในนามชมรมครูชีวิตใหม่เพื่อชาติ ได้รุมกันฟ้องศาลปกครองมากถึง 45 สำนวน และศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในวันที่ 26 กันยายน 2562 สรุปว่าบรรดาศึกษาจังหวัด ผู้อำนวยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งหัวหน้าสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการ สพฐ. ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ทั้งนี้ให้ดำเนินการตามคำพิพากษาให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด”.

การทุจริตลำดับที่หกสุดท้ายอยากนำเสนอเป็นปรากฏการณ์ใหม่ล่าสุด คือจะถือว่าเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ ยังไม่กล้ายืนยันจนกว่านายทะเบียนสหกรณ์จะยืนยันออกมา พฤติการณ์แห่งการกระทำมีว่า มีการปล่อยเงินกู้จำนวนมากพอควร แล้วบังคับให้ซื้อสิ่งของในแชร์ลูกโซ่ แล้วให้โอนเงินเข้าบัญชีเจ้าหน้าที่สหกรณ์ครู.

หลังจากเราผู้เขียนได้เสนอมาสองตอนในอีสานบิซ (esanbiz) ในเดือนธันวาคม 2562 นี้เราได้เห็นว่า โลกและสังคมนี้ซ่อนเรื่องยากมากในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ก ใน สอ.ขก.รายงานเพิ่มเติมจากยักยอก ฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงิน 431 ล้านบาท และนำเข้าบัญชีนายเอกราช ช่างเหลานักการเมือง ส.ส.ของพรรครัฐบาล 396 ล้านบาทมีว่า งานนี้ยังไม่ได้รวมคดีแชร์ลอตเตอรี่อีกหลายร้อยล้านบาทของบริษัท(หนึ่งใน5เสือสลากฯ)ที่ถูกคนในดีเอสไอสั่งระงับการสอบสวนกรณีแชร์ลอตเตอรี่ไว้ก่อน(ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าทำไมจึงมีคนเกือบร้อยคนถูกศาลสั่งจำคุกจาก 13 สหกรณ์ครูเท่านั้น)

และยังเพิ่มข้อกังขามากขึ้นเมื่อเครือข่ายทนายความเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(นายคุ้มพงษ์ ภูมิภูเขียว) กล่าวโดยสรุปว่า ใครจะต้องรับผิดชอบทางคดีแพ่งและคดีอาญาบ้าง และว่า เงินก้อนแรกที่เบิกไป 700 ล้านบาทจากบัญชีหลักต้องสอบถามว่าเงินตรงนี้ไปไหน หากชี้แจงว่านำไปค้ำประกัน(แชร์)ลอตเตอรี่ ผู้ตรวจสอบบัญชีเอกชนอาจไม่มีอำนาจหน้าที่ไปห้ามปราม เพราะผู้มีอำนาจหน้าที่คือนายทะเบียนสหกรณ์ แต่หลังจากนั้นนายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจออกคำสั่งห้ามได้

และว่าการเบิกเงินหมุนเวียนเข้าออกตลอดในปี 2555-2556 (เราใช้คำว่าโอนกันมั่ว) บางช่วงยอดเงินฝากมากถึง 1,900 ล้านบาท (ดังนั้น)ต้องไปดูองค์ประกอบ ประธานและกรรมการสหกรณ์ ผู้จัดการ ผู้สอบบัญชีเอกชน ผู้ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ รวมไปถึงผู้แทนสมาชิกอีกกว่า 300 คน รวมทั้งนายทะเบียนสหกรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  ใครรู้เห็นเป็นใจและมีส่วนในการยักยอกทรัพย์

การโอนออกเข้าบัญชีใครบุคคลนั้นถือว่ามีส่วนร่วมในการกระทำผิด และพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอาญามาตรา 157 ในส่วนของกรรมการสหกรณ์ไม่เข้าข่ายความผิดในมาตรา 157 ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีนี้เท่าที่ทราบมีการเบิกถอนเงินหลายครั้งถือว่าเป็นคดีเดียวกันแต่เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ เวลาลงโทษจะเป็นแต่ละกรรมไป (esanbiz.29พฤศจิกายน 2562)

หันมาในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมหาสารคาม มูลเหตุมาจากผลการประชุมที่พากันหอบผู้แทนสมาชิกกว่า 400 คนไปประชุมใหญ่วิสามัญที่โรงแรมรอแยล แม่โขง จังหวัดหนองคายเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2562 และห้ามเด็ดขาดมวลสมาชิกที่ร้องขอเป็นหนังสือขอเข้าสังเกตการณ์ก็ไม่อนุญาต สาระสำคัญนอกจากจะเป็นเรื่องการส่อว่าจะทุจริตทางตรง ทางอ้อมและทางลับ

การอนุมัติใช้จ่ายเงินก่อสร้างตกแต่งห้องทำงานของสมาคมฯและการสร้างลานจอดรถผิดตามข้อกำหนด(สเปค) การหักเงินผู้กู้เงินแสนละ 650 บาทโดยสมาชิกตายแล้วสหกรณ์กลับคืนเงินเบี้ยประกัน และปฏิเสธการจ่ายสินไหมทดแทน สหกรณ์ก็ไม่ออกมาชี้แจง(มีหลักฐานทุกอย่างพร้อมจะเปิดเผย) มีมติสำคัญในประเด็นที่ต้องการโต้แย้งคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์และปิดการเข้าร่วมในฐานะเจ้าของสหกรณ์ของมวลสมาชิกคือ “ให้นำเงินจำนวน 23 ล้านบาทเศษกลับคืนมา” และมอบหมายให้เลือกผู้แทนสมาชิกอำเภอละคนรวม 14 คนเป็นผู้รับผิดชอบเป็น “คณะกรรมการเฉพาะกิจ”

“เงิน 27 ล้านคืออะไร?” หมายความว่า เงินกองทุนผู้เกษียณอายุมีทั้งสิ้นจำนวน 27 ล้านบาท เป็นเงินที่คณะกรรมการชุด 50 จำนวน 16 คน(รวมผู้จัดการ) ได้แบ่งเป็นสองกองโดยกองที่ 1 เงิน 23 ล้านบาท เงินก้อนนี้คณะกรรมการฯ นำไปทำประกันชีวิตกลุ่มปลอม ส่อไปในทางทุจริต

สมาชิก 3 คนไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อนายทะเบียนสหกรณ์ว่า เนื่องจากนายทะเบียนสหกรณ์ได้มีหนังสือแจ้งว่ากองทุนเกษียณอายุไม่ใช่กิจการของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมหาสารคาม จำกัด กิจการนี้ต้องมอบให้ผู้มีส่วนได้เสียไปดำเนินการ แต่คณะกรรมการฯ ไม่ปฏิบัติตามกลับโต้แย่งคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์โดยตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจไปเอาคืนมา

ต่อมาทางพนักงานสอบสวนจับบุคคลที่รับจ้างทำบริษัทประกันปลอม เสนอไปยังอัยการจังหวัด อัยการก็ยังไม่ส่งฟ้องศาลเป็นคดีที่หนึ่ง กลับเสนอไปที่สำนักอัยการภาค 4 (ขอนแก่น)ในปัจจุบัน (มันยากยาวนานจริงๆ เหมือนสอ.ขก.เกือบทุกประการ) และคดีที่สอง นายสันต์ เพียรอดวงษ์ ครูเกษียณคนเดียวสวมวิญญาณครูผู้กล้าได้เป็นโจทก์ฟ้องคณะกรรมการชุด 52 ปัจจุบันต่อศาลในคดีอาญาในวงเงินที่เหลือ 4 ล้านเนื่องจากนำไปเปิดในบัญชีใหม่และใช้จ่ายไม่น่าจะถูกต้อง (รวม 27 ล้านบาทเสนอไว้ในตอนที่2แล้ว)

ผลของการกระทำประกันชีวิตปลอมครั้งนี้ ส่งผลสองประการ มีกรรมการและผู้จัดการชิงลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากทนไม่ได้กับกรรมการฯจำนวนหนึ่งและผู้แทนสมาชิกและกลัวความผิดอาญาอย่างมาก และอีกส่วนยืนหยัดในการกระทำของตนตามอำเภอใจว่าอย่างไรก็ไม่ผิด (ดังนั้น) อีกไม่ถึงเดือนหลังจากการลาออก นายทะเบียนสหกรณ์จึงมีคำสั่งที่ 7/2560 เรื่องให้คณะกรรมการฯ สอ.มค.ชุดที่ 50 พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ

ทั้ง 9 คนประกอบด้วย นายถนอม จันหาญ ประธานฯ กรรมการอีก 8 คน นายจรัส รัตนทิพย์ นายประมวล อัคฮาคศรี นายธีรวัฒน์  โคตรศักดี นายจักรพล แสนเมือง นายเสรี สิมศิริวัฒน์ นายศรศักดิ์ หล่มศรี นายอำนาจ อินโท่โล่ และนางผอบทอง คำชาย 

ส่วนคนที่ลาออกจากก่อนจะถูกปลดพ้นตำแหน่งคือ นางสาวฉวีวรรณ ศุภสาลัมภ์ นางจารุณี ศิวารักษ์ นายบุญถม พลศรี นายเชาว์วัศ ปัดสำราญ นายสังคม รัตน์รองใต้ นางอาภาภรณ์ อินเสมียน และผู้จัดการนายรวิชิต ผิวขาว แต่แม้จะลาออกไปเสียก่อนก็ไม่พ้นผิดอยู่ดี เพราะคณะกรรมการฯ ทั้งคณะรวมผู้จัดการพวกเขาจะถูกมวลสมาชิกฉีกหน้ากากในคดีอาญาสองคดี รวมทั้งคณะกรรมการชุด 52 ภายใต้การนำของนายปราการ เจริญสุรสกล ประธานกรรมการฯเข้าอยู่ในสถานการณ์ที่จะถูกตรวจสอบทุกเรื่อง และถูกฟ้องในคดีที่สองอีกด้วย

ภายใต้การออกแบบของครูผู้ได้ชื่อว่าโคตรโจร และยังทำหน้าที่ศักดิ์สิทธิสั่งสอนศิษย์ให้เป็นคนดี พวกเขามีขีดความสามารถยักยอก ฉ้อโกงและฟอกเงินในการโคตรทุจริตอย่างใหญ่หลวงทั้ง 6 ประการ มันได้เกิดขึ้นแล้วจุดเปลวไฟให้ลุกโชนในสหกรณ์ทุกแห่งทั่วประเทศ และช่วยชี้ให้เห็นว่า การทุจริตฉ้อฉลปล้นมวลสมาชิกครูครั้งล้วนกระทำกันอย่างเป็นระบบ(organized corruption) หมายความได้ว่า ทำกลุ่มเป็นกลุ่มทั้งฝ่ายกรรมการ เจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานของรัฐ

นักการเมือง กลุ่มนายทุนนักธุรกิจ และกลุ่มผู้มีอิทธิพล ในลักษณะสมคบคิดร่วมมือกันได้เงินตอบแทนทุกฝ่ายน่าจะเข้าลักษณะฟอกเงินเป็นแน่ โดยมีผู้แทนสมาชิกเป็นฐานขั้นต้น และที่ยังไม่รู้ว่าจะจัดการได้อย่างไร.

(ติดตามตอนที่ 4 สหกรณ์ครูแชร์ลอตเตอรี่ชัยภูมิ)

 

แสดงความคิดเห็น