เปลี่ยน “ขยะ” เป็นบุญ สร้างกองทุนฌาปนกิจ ชุมชนบะขาม “เราทำได้!”

 บทเรียนการกำจัดและคัดแยกขยะ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งขายเป็นรายได้ รีไซเคิล และทำปุ๋ยอินทรีย์ จนนำมาสู่กองทุนรวม และกองบุญฌาปนกิจ ภายใต้ “ชมรมคนขอนแก่นหัวใจไร้มลพิษ” ที่เทศบาลนครขอนแก่นเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุน โดยเฉพาะชุมชนบะขาม ถือเป็นต้นแบบที่เข้มแข็ง และประสบความสำเร็จอย่างสูง  

 ที่น่าสนใจ นายทัศนัย ประจวบมอญ ผู้อำนวยการส่วนฯสำนักการสาธารณสุข เทศบาลนครขอนแก่น เล่าว่า เรื่อง “กองทุนฌาปนกิจเปลี่ยนขยะเป็นบุญ” เป็นกิจกรรมในการรณรงค์คัดแยกขยะรีไซเคิล ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เราต่อยอดมาจากการคัดแยกขยะรีไซเคิลในลักษณะของธนาคารขยะ

เดิมมีการรณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะรีไซเคิลออกมาขายผ่านรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขายเอง หรือรวมเป็นศูนย์รีไซเคิลของชุมชน แล้วบางส่วนก็ทำเป็นธนาคารขยะ มีการรับฝากเงิน ซึ่งเราได้แนวคิดมาจาก จ.บึงกาฬ

ที่นั่นเขาทำเป็นกองทุนฌาปนกิจ เลยมานั่งคุยกับประธานชุมชนว่า ถ้าเรานำเรื่องนี้มาต่อยอดจะดีหรือไม่ ประธานชุมชนก็เห็นด้วยว่าดี ประชาชนน่าจะได้ประโยชน์และยังช่วยในการลดปริมาณขยะ จึงริเริ่มดำเนินการ โดยกลุ่มประธานชุมชนทั้งหมด 95 ชุมชนในเขตเทศบาลนครขอนแก่น คุยกันผ่านการจัดตั้งชมรมเรียกชื่อว่า “ชมรมคนขอนแก่นหัวใจไร้มลพิษ” มีชุมชนต่างๆ เข้ามาเป็นเครือข่ายสำหรับชุมชนบะขาม ถือเป็นชุมชนแรกๆ ที่ทำงานร่วมกับเราเมื่อประมาณปี 2548 เริ่มตั้งแต่การคัดแยกขยะอินทรีย์มาทำปุ๋ย การคัดแยกขยะอันตราย จนวันนี้ธนาคารขยะชุมชนบะขามทำมาเป็น 10 ปีแล้ว

สำหรับ สำนักงานประสานความร่วมมือพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ลงมาขับเคลื่อนเรื่องของกระบวนการ นวัตกรรมทางสังคมในการรวมกลุ่มเพื่อการกำจัดขยะ ทั้งขยะรีไซเคิลและขยะในครัวเรือนนั้น ก็ทำได้ดีมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากเวลานี้ ประชาชนเริ่มสนใจมากขึ้น เพราะรายได้จากการขายขยะ เราจะนำมารวมในนามกองทุน โดยเริ่มที่ 300 บาท เป็นค่าสมาชิก เมื่อมีสมาชิกเสียชีวิตเราก็จะจ่ายให้โดยหักจากบัญชีละ 20 บาท คูณตามจำนวนสมาชิก ตอนนี้ตกประมาณ 17,000 บาท จากสมาชิกประมาณ 1,000 กว่าคน แต่ว่าจะมีเงื่อนไขต้องเป็นสมาชิกตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป เงื่อนไขต่อมาคือต้องมีการขายขยะอย่างต่อเนื่อง ห้ามขาดเกิน 2 เดือน ถ้าขาดเกิน 2 เดือนจะโดนพักสิทธิ์ ต้องมาเริ่มขายใหม่จึงจะได้สิทธิ์นั้นคืน นี่คือแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ามาคัดแยกขยะ

ข้อที่สองคือ กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย หรืออาจจะมีรายได้ไม่พอ ถ้าเกิดมีคนในครอบครัวเสียชีวิต ก็จะมีเงินช่วยได้ส่วนหนึ่ง อนาคตเราตั้งเป้าไว้ที่ 5,000 ครัวเรือน ภายใน 3 ปี ประมาณปี 2564 ซึ่ง 5,000 ครัวเรือนนี้ ก็โฆษณาไว้ศพละแสน เทศบาลนครขอนแก่นจะเป็นหน่วยงานสนับสนุนเรื่องของเอกสาร เรื่องการทำฐานข้อมูลระบบข้อมูลต่าง ๆ เพื่อชุมชนจะได้รณรงค์คัดแยกต่างๆ เป็นหลัก

    

ขณะที่นางจารุณี สุตะชา ประธานชุมชนบะขาม  กล่าวว่า จากปี 2548 ชุมชนเรามีขยะทิ้งเกลื่อนกลาดมากมาย ส่งกลิ่นเหม็น แมลงวันตอมเต็มไปหมด ซึ่งมีปัญหาต่อสุขภาพ เพราะว่าเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค จึงมีแนวคิดเปิดเวทีชาวบ้านเรื่องการจัดการขยะร่วมกัน ทุกคนก็ให้ความร่วมมือและเราก็ลงแรง ลงขัน ลงแขก แต่ละซอย แต่ละจุดช่วยกันแก้ไขพัฒนา จนต่อยอดขยายผลมาทุกวันนี้

ณ ปัจจุบันนี้ เราเก็บขนขยะเอง ซึ่งการจัดการเก็บขนขยะเอง เราจะรู้ว่าขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์มีค่ากว่าทองคำ อย่างที่เขาพูดกัน ขยะรีไซเคิลสามารถจำหน่ายเป็นรายได้ของครัวเรือน ส่วนขยะอินทรีย์ก็นำไปทำปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยหมัก เพื่อการเกษตร ถือว่าสร้างรายได้สร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชน และยังช่วยลดปริมาณขยะ ลดโรคภัยต่างๆ ส่งผลดีต่อสุขภาพของคนในชุมชนด้วย

จากการพัฒนาต่อยอดจนมาร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่น จัดตั้งชมรมคนขอนแก่นหัวใจไร้มลพิษ เพื่อทำกิจกรรมกองทุนเปลี่ยนขยะเป็นบุญ ก็เป็นอีกก้าวหนึ่ง ที่ช่วยเหลือสมาชิกแต่ละครัวเรือนในเขตเทศบาล ที่สมัครเป็นสมาชิก มีการทำกิจกรรมเดือนละครั้งร่วมกันในการนำขยะรีไซเคิลมาขายร่วมกัน จะมากน้อยเท่าไหร่ไม่ว่า เป็นการสร้างจิตสำนึกให้แต่ละครัวเรือนรู้จักการลดปริมาณขยะ เก็บขยะก่อเกิดรายได้ และที่สำคัญ เป็นการเก็บออมเงิน นี่เป็นจุดหลักความมุ่งหมาย และครอบครัวไหนเป็นสมาชิกก็จะคุ้มครองได้ถึง 6 คน แต่ต้องเป็นสมาชิก 6 เดือนขึ้นไป จึงจะได้รับเงินสวัสดิการช่วยเหลือฌาปนกิจ ตอนนี้มอบให้รายละ 17,800 บาท ลดความเดือดร้อนในส่วนนี้ได้เป็นอย่างดีเยี่ยม

การสมัครเป็นสมาชิกไม่จำกัดอายุและเพศ แต่ต้องมีทะเบียนบ้านอาศัยอยู่ในชุมชน เพราะจุดประสงค์ที่เทศบาลจัดตั้งชมรมก็คือเพื่อให้ส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะร่วมกัน

“ขยะเกิดจากภาคประชาชนเราทุกคนร่วมกันสร้างขึ้น เพราะนั้นการแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุดก็คือคนที่สร้างขยะ”

ด้าน รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานประสานความร่วมมือพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า

ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องขยะน่าจะเป็นโจทย์ใหญ่ในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคตน่าจะรุนแรงขึ้น เพราะฉะนั้นเราอยากจะดูว่าชุมชนใดบ้างที่เขาคิดค้น เกิดการรวมกลุ่มแล้วสามารถปฏิบัติการจัดการขยะได้จนประสบผลสำเร็จ เพื่อที่จะมาดูปัจจัยความสำเร็จ ขณะเดียวกันเราก็กำลังจะหาทางส่งเสริม หาระบบของกระบวนการวิจัยและพัฒนาเพื่อที่จะยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มนี้

เราจะเห็นปัจจัยความสำเร็จว่า ชุมชนบะขาม เขารวมกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหาแล้วก็ช่วยตนเองมานาน ประการที่ 2 มีผู้นำที่เข้มแข็งส่งทอดรุ่นต่อรุ่น ที่สำคัญคือเขาสามารถชักจูงให้คนในชุมชนเห็นปัญหาเรื่องของขยะ แล้วก็มองโอกาสว่าขยะนั้นเราเป็นคนสร้างเพราะฉะนั้นเราน่าจะเป็นคนมีส่วนร่วมในการทำลายขยะในรูปแบบต่าง ๆ

ในกลุ่มนี้เขาใช้ระบบเงินกองทุน กองทุนฌาปนกิจ สามารถนำไปขยายผลให้สังคมรับรู้ได้ ตลอดจนแนวนโยบายของรัฐที่จะช่วยบริหารจัดการกำจัดขยะในครัวเรือนได้อย่างไร

ความสำเร็จของชุมชนบ้านบะขาม อาจจะมองว่าเป็นความสุขเล็ก ๆ แต่ว่าในอนาคตอาจจะเป็นจุดคานงัดที่สำคัญ เพราะว่าเทศบาลฯเอง ก็มาหนุนเสริม จังหวัดขอนแก่น ประกาศตนเองว่าเป็นสมาร์ทซิตี้ เพราะฉะนั้นเราต้องสมาร์ทในทุกมิติ

นับว่าเป็นแนวทางการกำจัดขยะแบบมีส่วนร่วม และเป็นประโยชน์ต่อชีวิตคนในชุมชน ตลอดจนสังคมส่วนรวม ที่น่าขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆทั้งประเทศได้ ถ้าหลายหน่วยที่เกี่ยวข้องจริงใจที่จะสนับสนุนและส่งเสริมอย่างจริงจังเช่นที่ขอนแก่น

แสดงความคิดเห็น