ระบบสุขภาพกับการพัฒนาประเทศ

ผมในฐานะหมอคนหนึ่งที่ให้การรักษาคนไข้มานานเกือบ 30 ปี และผ่านประสบการณ์ที่เห็นความสูญเสียในชีวิตคนต่างๆ รวมทั้งการล่มสลายของครอบครัวผู้ป่วยเมื่อมีปัญหาสุขภาพเกิดขึ้น แล้วก็เห็นการเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุคสมัยที่ไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพ จนมาถึงปัจจุบันที่คนไทยมากกว่าร้อยละ 98 มีหลักประกันสุขภาพที่ดี ติดอันดับ 6 ของโลกในความเข้มแข็งของระบสุขภาพ ซึ่งโดยส่วนตัวนั้นผมมีความสุขมากที่เห็นคนไทยได้รับการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับในอดีต

อย่างไรก็ตามผมยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่าระบบสุขภาพของไทยนั้น น่าจะยังมีโอกาสพัฒนาอีกหลายประการ เพื่อให้เกิดการส่งเสริมการพัฒนาของประเทศมากยิ่งขึ้น เพราะถ้าคนไทยมีสุขภาพไม่ดี ย่อมทำให้ทุกๆ อย่างที่ประเทศไทยต้องก้าวเดินไปนั้น หยุดชะงักอย่างแน่นอน ผมขอเสนอประเด็นที่ผมเห็นว่าน่าจะรีบดำเนินการ ดังนี้

1. การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณด้านสุขภาพของกรมบัญชีกลางที่ดูแลประชาชนที่มีสิทธิการรักษาข้าราชการ หรือระบบจ่ายตรง เนื่องจากยังมีการใช้จ่ายงบประมาณที่เป็นอัตราส่วนที่สูงมาก เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพกับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง เช่นเดียวกับการบริหารงบประมาณของสิทธิบัตรทอง ก็คงต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวให้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน เพื่อช่วยลดปัญหางบดุลของโรงพยาบาล ที่มีปัญหารายรับต่ำกว่ารายจ่าย ส่วนสิทธิประกันสังคม ผมว่าควรเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนมากกว่าปัจจุบัน

2. การพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่มีประสิทธิภาพ และมีความเหมาะสมกับระบบสุขภาพไทย ต้องมองให้รอบด้านว่าการจัดซื้อยาหรือเวชภัณฑ์แต่ละชนิดนั้น แบบไหนที่มีความคุ้มค่ามากที่สุด ไม่ควรคำนึงถึงแต่ราคาเพียงอย่างเดียว เพราะบางกรณีราคาที่ต่ำ แต่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าของที่มีราคาเหมาะสม ย้ำว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพนั้นมิใช่เพียงแค่ราคายา หรือราคาอุปกรณ์เท่านั้น แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งเป็นผลทางตรง และทางอ้อมด้วย จึงต้องมองและคำนึงถึงประเด็นนี้ด้วย

3. การส่งเสริมให้เกิดการส่งเสริมป้องกันด้านด้านสุขภาพให้ดีกว่านี้ ความรู้ ความตระหนักและการปฏิบัติของประชาชนต้องใส่ใจ เน้นย้ำว่ามีความสำคัญ และถ้าสมารถกำหนดรูปแบบที่ส่งเสริมให้ผู้ที่ปฏิบัติด้านการดูแลสุขภาพที่ดีนั้น ควรได้รับสิทธิประโยชน์ทางสังคมมากกว่าคนที่ไม่ดูแลสุขภาพตนเองเลย เช่น การลดหย่อนภาษี เป็นต้น ส่วนผู้ที่ไม่ดูแลสุขภาพแล้วก็ยังมุ่งมั่นในการทำลายสุขภาพตนเอง เช่น ดื่มเหล้าหนัก สูบบุหรี่อย่างมาก เมาแล้วขับ ติดยาเสพติด กลุ่มคนเหล่านี้ก็ต้องถูกตัดสิทธิประโยชน์บางอย่าง เพื่อให้เกิดความตระหนักด้านการดูแลสุขภาพตนเองให้มากยิ่งขึ้น

4. การพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกลให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น เน้นการเข้าถึงของคนไข้กับแพทย์ และทีมสุขภาพ โดยใช้เทคโนโลยีที่ประหยัด และประชาชนคุ้นเคย เช่น ไลน์แอพพลิเคชั่น เป็นต้น หรือคอลเซ็นเตอร์เพื่อให้ประชาชนได้ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

5. การเพิ่มระบบการกระจายยาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดภาระของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ยังต้องคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพ ความปลอดภัยของผู้ป่วย

6. การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างดี ให้การคัดกรอง ดูแลเบื้องต้น และส่งต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

7. การทำให้คนไทยทุกคนมีจิตสำนึกที่ดีว่า สุขภาพเป็นเรื่องของคนไทยทุกๆ คนที่ต้องใส่ใจ ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา เพื่อให้ตนเองมีสุขภาพที่ดี โดยเน้นการส่งเสริม ป้องกัน และเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสม ในปัจจุบันนั้นกระแสการดูแลสุขภาพนั้นมีมากขึ้นมาก แต่บางส่วนก็ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง จึงควรมีการจัดทำฐานข้อมูลที่ดีเกี่ยวกับการส่งเสริมป้องกัน การรักษาตนเองเบื้องต้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย และได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่มีผลประโยชน์อื่นๆ เคลือบแฝงอยู่

8. ควรเพิ่มมาตรการต่างๆ ที่จะทำให้คนเข้าถึงสิ่งที่มีหลักฐานทางการแพทย์อย่างชัดเจนแล้วว่าเป็นสิ่งที่ทำลายสุขภาพ เช่น เหล้า บุหรี่ การขับขี่รถที่รวดเร็ว เมาแล้วขับ ง่วงแล้วขับ การทำงานหนักเกินเวลาที่เหมาะสม อาหารทำลายสุขภาพ สารเคมี สารพิษ และอื่นๆ อีกมากมาย เข้าถึงได้ยากขึ้นมากๆ หรือไม่ก็ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงได้เลย หรือต้องไม่มีสิ่งเหล่านี้เลยในประเทศไทย

9. การแก้ปัญหายาเสพติด สารเสพติดต่างๆ เพราะเป็นสิ่งที่ทำลายสุขภาพ ทำลายความก้าวหน้าของคน ทำลายความสุขของครอบครัว ก่อให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆ มากมายตามมา

10. ส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในด้านการดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง

ผมอยากเสนอแนวคิดนี้ไปยังคนไทยทุกๆ คนครับ ถ้าเราทุกคนค่อยๆ ปรับวิธีคิด สร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องในการดูแลสุขภาพ และดูแลสุขภาพตนเองให้ดี ผมเชื่อว่าจะทำให้ทุกคน ทุกครอบครัว ทุกชุมชน และประเทศไทยต้องก้าวหน้าในทุกๆ ด้าน เพราะสุขภาพที่ดีนั้นเป็นพื้นฐาน องค์ประกอบที่สำคัญของการเริ่มต้นทำทุกสิ่งทุกอย่าง ฝากไว้ด้วยครับ สุขภาพเป็นเรื่องของคนทุกคน สุขภาพดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ครับ

โดย-ศ.นพ. สมศักดิ์ เทียมเก่า รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ 

แสดงความคิดเห็น