ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ถ้าพูดถึงการแทรกแซงการเลือกตั้งของมหาอำนาจ ท่านผู้อ่านอาจคิดถึงรัสเซีย ที่เป็นข่าวมาตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งที่ผ่านมา ส่วนสงครามการค้าระหว่างสองยักษ์ใหญ่ สหรัฐอเมริกาและจีน ประเทศในเอเชียแทบทุกประเทศ จะสงบเงียบ ไม่หนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกนอกหน้า แต่อิทธิพลจากจีน ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องเริ่มหาทางรับมือกับการแทรกแซงการเลือกตั้ง ที่กำลังจะเกิดขึ้นในหลายประเทศ
ออสเตรเลียเคยกล่าวหาว่าจีนพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งผ่านทางคนเชื้อสายจีน 1.2 ล้านคน เมื่อปี 2018 นายกรัฐมนตรี Malcom Turnbull ได้เสนอกฎหมายต่อต้านการแทรกแซงจากต่างประเทศ และเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมารัฐบาลออสเตรเลียประกาศใช้งบประมาณ 60 ล้านดอลล่าร์ออสเตรเลีย หรือกว่า 1200 ล้านบาทเพื่อป้องกันการการโฆษณาชวนเชื่อจากจีน ตามที่สายลับกลับใจคนหนึ่งให้ข้อมูลกับทางการ
ปี 2020 ที่เพิ่งเริ่มต้น มีหลายประเทศกำลังจะมีการเลือกตั้ง เช่นไต้หวันในเดือนมกราคมนี้ ซึ่งแน่นอนว่าปักกิ่งต้องการมีอิทธิพลในหลายเรื่อง แต่จากผลการสำรวจความนิยม ประธานาธิบดีไต้หวันปัจจุบัน Tsai Ing-wen ที่ไม่ยอมปักกิ่งมากนัก ได้คะแนนนำและคงได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีต่อไปอีกสมัย
สิงคโปร์ คือประเทศต่อไปที่จะมีการเลือกตั้งปีนี้ ซึ่งอดีตนักการทูตที่ได้รับการยอมรับมากคนหนึ่ง Bilabari Kausikan ได้ออกมาเตือนให้ระวังความพยายามเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งผ่านคนเชื้อสายจีนในสิงคโปร์ ซึ่งมีมากกว่าเชื้อสายอื่น
พม่าก็จะมีการเลือกตั้งปลายปีนี้ และพม่าเป็นประเทศที่จีนมีความสนใจทางยุทธศาสตร์อยู่แล้ว เพราะเป็นจุดสำคัญของเส้นทางความร่วมมือ Belt and Road ที่จีนพยายามเชื่อมต่อกับยุโรปทางรางและถนน
อย่างไรก็ตาม ความพยายามแทรกแซงเพิ่มอิทธิพลของจีน ยังไม่ก้าวร้าวเท่าของรัสเซีย เพราะประธานาธิบดีซี จิ้นผิง มุ่งใช้วิธีการทำให้ประเทศต่างๆ ยอมรับ มองเห็นเป้าหมายของภูมิภาคเดียวกัน แต่ให้จีนเป็นพี่เบิ้ม นอกจากนั้นจีนก็ใช้ความร่วมมือด้านภาษาและวัฒนธรรม ผ่านสถาบันขงจื้อ เป็นต้น และการแทรกซึมผ่านสื่อ สังคมออนไลน์ องค์กรนักศึกษาและองค์กรธุรกิจ
บ้านเรายังไม่ค่อยมีใครมองเรื่องนี้มากนัก แต่น่าจะเป็นเรื่องที่เราต้องมาร่วมกันใส่ใจมากขึ้น ไหมครับ
บทความโดย-รศ.ดร.สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์