ภาพประกอบทางอินเตอร์เน็ต
“คนเราไม่ว่าจะยากดีมีจน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า” ทุกคนต่างก็ไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะจากโลกนี้ไปเมื่อใด แต่เราสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนได้ ซึ่งทางเลือกหนึ่งคือ การทำประกันชีวิตไว้เพื่อเป็นหลักประกันให้กับคนที่อยู่ข้างหลังได้อุ่นใจ สามารถมีเงินที่จะอยู่ต่อได้อย่างไม่ยากลำบากมากนัก
เมื่อพูดถึงการซื้อประกันชีวิต หลายท่านคงเคยไปธนาคาร แล้วเจอเจ้าหน้าที่ธนาคารเข้ามาชักชวนให้ซื้อประกันชีวิต แต่ก่อนจะตัดสินใจซื้อ เรามีข้อแนะนำเบื้องต้นดังนี้ค่ะ
ประการแรก ต้องเข้าใจก่อนว่า ธนาคารพาณิชย์เป็นเพียงนายหน้าที่เสนอขายประกันชีวิตและอำนวยความสะดวกในการชำระค่าเบี้ยประกันให้กับบริษัทประกันเท่านั้น ซึ่งหากมีการเคลมประกัน บริษัทประกันจะเป็นผู้รับผิดชอบตามเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ค่ะ
ประการที่สอง การทำประกันชีวิตต่างกับการฝากเงิน กล่าวคือ ประกันชีวิตทำเพื่อชดเชยรายได้ที่ ต้องสูญเสียไปจากการตาย หรือทุพพลภาพ โดยบริษัทประกันจะจ่ายเงินคืนให้กับผู้รับผลประโยชน์ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ทั้งนี้ เราควรจ่ายค่าเบี้ยประกันให้สม่ำเสมอ หากหยุดจ่ายค่าเบี้ยประกันการคุ้มครองก็จะสิ้นสุดลง กรณีที่เราซื้อประกันและจ่ายเบี้ยประกันไปแล้วแต่ต้องการขอยกเลิกกรมธรรม์ ก็สามารถทำได้ด้วยการทำหนังสือแจ้งพร้อมส่งคืนกรมธรรม์ไปยังบริษัทประกันภายใน 15 วัน นับจากวันที่เราได้รับเล่มกรมธรรม์ ซึ่งเราจะได้รับค่าเบี้ยประกันภัยที่จ่ายไปทั้งหมดคืน แต่หากเลยเวลาที่กำหนด เราอาจไม่ได้รับเงินคืนหรือได้รับคืนเพียงบางส่วน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ถ้าเปรียบเทียบกับการฝากเงินไว้กับธนาคาร การฝากเงินจะมีสภาพคล่องสูงกว่าการทำประกันชีวิต เพราะเราจะฝาก จะถอน จะโอน เมื่อไรก็ได้ และหากปิดบัญชีก็จะได้รับเงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนดค่ะ
ประการที่สาม ก่อนซื้อประกันชีวิต ควรขอดูใบอนุญาตการเป็นนายหน้าขายประกันชีวิตของพนักงานธนาคารและดูว่าใบอนุญาตหมดอายุหรือยัง และสิ่งสำคัญอีกประการคือ เรามีอิสระที่จะเลือกซื้อประกันชีวิตกับบริษัทประกันใดก็ได้ที่มีผลิตภัณฑ์และเงื่อนไขความคุ้มครองตรงกับความต้องการและสอดคล้องกับกำลังการจ่ายค่าเบี้ยประกันของเราค่ะ
ประการที่สี่ การให้ข้อมูลในใบคำขอการทำประกันชีวิต เราต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริง และควรอ่านเงื่อนไขในกรมธรรม์ให้เข้าใจก่อนที่จะลงลายมือชื่อ ส่วนเอกสารประกอบการเสนอขายประกันชีวิตก็ควรเก็บไว้ ทั้งนี้การจ่ายค่าเบี้ยประกันควรจ่ายเข้าบัญชีบริษัทประกันโดยตรงจะปลอดภัยที่สุดค่ะ
ประการสุดท้าย เมื่อได้รับกรมธรรม์ ขอให้ตรวจสอบข้อมูลและรายละเอียดเงื่อนไขในกรมธรรม์ หากพบว่าไม่เป็นตามที่ตกลงกันไว้ ให้รีบติดต่อบริษัทประกันเพื่อขอแก้ไขให้ถูกต้องค่ะ
ท้ายนี้ หากมีข้อสงสัยต้องการขอคำปรึกษา สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สายด่วน 1186 หรือที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย สายด่วน 1213 นะคะ
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
บทความโดย-นางสาวอัมพร หาอุปละ ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ