ปีใหม่ 2563 นี้จะเป็นปีเริ่มต้นในการเข้าตรวจสอบสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ เพราะความไม่ชอบมาพากลได้เกิดกับวงการสหกรณ์ครูและสหกรณ์รูปแบบอื่นๆ ความสิ้นหวังในการให้รองนายทะเบียนสหกรณ์(สหกรณ์จังหวัด) นายทะเบียนสหกรณ์(อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์) และผู้ตรวจราชการกรมฯซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนนายทะเบียนสหกรณ์ ตรวจสอบและสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่อง และสั่งให้กรรมการพ้นจากตำแหน่งเป็นเรื่องยากยิ่ง หากจะให้นายทะเบียนสหกรณ์เป็นผู้แทนร้องทุกข์และฟ้องคดีแทนตามมาตรา 21 นั้นยากยิ่งยวด แม้สมาชิกจะได้ร้องเรียนหลักฐานชัดเจนสักปานใด ก็ยากมากที่จะตอบว่าแก้ไขข้อบกพร่องตามมาตรา 22(1) แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ได้สำเร็จหรือไม่ เราผู้เขียนทราบดีว่าบุคคลที่เป็น “ผู้แทนสมาชิก” นั้น ส่วนมากอาจจะไม่สู้ในเชิงอภิปรายคัดค้านมากนัก และประโยชน์ในเชิงต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบนั้น แทบกระทำไม่ได้เลย
เราอาจต้องเริ่มจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมหาสารคามจำกัด(สอ.มค.) คนกลุ่มนี้ก่อกรรมทำเข็ญกับเพื่อนครูไว้มาก อีกไม่นานเราอาจจะเห็นการเปิดโปงครั้งใหญ่(ขอปิดลับเรื่องอะไร) ในเร็ววัน แต่วันนี้ในระหว่างที่รอเราจะนำเรื่องที่พวก สอ.มค.ทำสำเร็จมาแล้วด้วยการรณรงค์ โดยการโหวตลงคะแนนเสียงตัดเงินโบนัสประจำปี 2561 (ประชุมใหญ่วันที่ 30 มกราคม 2563) จากตั้งไว้ 10 กว่าล้านบาท ตัดได้ 3 ล้านกว่าบาท และยังเข้าชื่อสมาชิกไว้กว่า 1,000 คนแล้วเพื่อเตรียมการครั้งใหญ่เพื่อจะเปิดประชุมใหญ่วิสามัญพร้อมทั้งเปิดโปงข้อพิรุธและประเด็นส่อว่าจะทุจริตจำนวนมาก
ประเด็นที่ สอ.มค.จะเริ่มดำเนินการโดยใช้ความพยายามอีกครั้งหนึ่งคือ สิ่งที่นายทะเบียนเคยมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องตามมาตรา 22(1) มานานแล้วกล่าวคือ 1. กรณีการทำประกันชีวิตกลุ่มกับบริษัทสยามซิตี้ประกันภัย จำกัด(มหาชน) ทุนประกันจำนวน 100,000 บาท ค่าเบี้ยประกันจำนวน 10,780,600 บาท อาจเชื่อได้ว่าไม่ใช่กรมธรรม์ที่แท้จริงของบริษัทดังกล่าว 2. กรณียืมเงินทดรองจ่ายเพื่อจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตให้สวัสดิการแก่สมาชิก 72,876,000 บาท เป็นการฝ่าฝืนกับมติที่ประชุมใหญ่ การกระทำดังกล่าวอาจทำให้สหกรณ์ได้รับความเสียหายและอาจทำให้สมาชิกเสื่อมเสียผลประโยชน์ 3.ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่ใช่กรมธรรม์ของบริษัทฯ ให้ดำเนินการตามกฎหมายและให้ผู้เกี่ยวข้องชดใช้ค่าเสียหายและรับโทษทางอาญา 4. ให้คณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 50 และผู้จัดการนำเงินยืมทดรองจ่ายจำนวน 72,876,000 บาทชดใช้คืนแก่สหกรณ์(คำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ที่ มค 17/2560 สั่ง ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2560) มาในวันนี้ตัวอย่างข้อมูลติดตามหนี้เข้าเกณฑ์จะสูญ (1) คดีรอยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด 31,163,838 บาท (2) คดีที่ 1 ยืมเงินทดรองจ่ายยังทวงคืนไม่ได้ 86,103,504 บาท (3) คดีที่ 2 ยืมเงินทดรองจ่าย 76,342,400 บาท (4) คดีที่ 3 ไม่ส่งเบี้ยประกัน 6,750,919 บาท (5) คดีที่ 4 ไม่ส่งเบี้ยประกัน 2,871,644 บาท (6) คดีที่ 5 ฝากเงินสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น และผู้รับฝากเงินผิดสัญญายังคืนไม่ได้ 265,134,792 บาท รวมเก็บไม่ได้ทั้งสิ้น 459,367,097 บาท(อ้างใน Natawat.2563)
คราวนี้มาดูสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นจำกัดบ้าง เรื่องกำลังทดสอบขุมกำลังต้องวัดกันคือการประชุมใหญ่ผู้แทนสมาชิกประจำปี 2562 ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ฝ่ายอำนาจเก่าต้องการให้วาระจ่ายโบนัสที่ตั้งไว้จำนวน 20 ล้านบาท(เข้าใจว่ามากที่สุดเท่าที่ควรเห็นมา)ผ่านสะดวก แต่ฝ่ายที่ต้องการตัดโบนัสออกจำนวนมากคือฝ่ายสมาชิกที่ตื่นตัวลุกขึ้นมาตรวจสอบในเรื่องทุจริตเงินสูญหายและกำลังตรวจสอบเรื่องอื่นๆ ซึ่งประธานชมรมสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น(นายวิศร์ อัครสันตติกุล) คาดว่าเงินน่าจะสูญหายไปมากกว่า 431 ล้านบาท อาจสูญหายไปมากกว่า 1,000 ล้านบาท เกรงว่า ประธานกรรมการฯ สอ.ขก.(นายอนุศาสตร์ สอนศิลพงศ์) ให้นายเอกราช ช่างเหลา ลงนามในสัญญารับสภาพหนี้ 431 ล้านบาทอย่างเงียบเชียบนั้น จะเป็นการเตรียมการเพื่อให้เรื่องเงินสหกรณ์ยุติการสอบสวนเพียง 431 ล้านบาทเท่านั้น หรือไม่
แหล่งข่าวกล่าวว่า เงิน สอ.ขก.สูญหายไป 431 ล้านบาทเป็นเพียงจุดเริ่มต้น น่าจะได้ตรวจสอบโดยคนที่เป็นกลางโดยตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฯ ในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีอย่างน้อย 11 คนเพื่อตรวจสอบเรื่องค่าเบี้ยประกันชีวิตทั้งที่สมาชิกจ่ายเองและเงินที่สหกรณ์จ่ายให้สมาชิก เงินยืมทดรองจ่าย สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ฯ หลายสมาคมฯ เงินฝากสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นจำกัด และที่สำคัญที่สุดเรื่องเงินแชร์ลอตเตอรี่ที่นายธาริต เพ็งดิษฐ อธิบดีฯ ได้สั่งยุติไว้ก่อนแล้วสั่งย้ายพนักงานสอบสวนของดีเอสไอจากขอนแก่นไปที่นครราชสีมา คงเหลือให้สหกรณ์เพียง 13 แห่งที่ถูกฟ้อง แต่สำนวนในคดียังสามารถตรวจสอบและอาจรื้อฟื้นคดีได้อีก
โดย-สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์