บทเรียนจากเหตุการณ์วิกฤตที่นครราชสีมา

ภาพจากเพจKorat : เมืองที่คุณสร้างได้
               จากวิฤตการณ์ร้ายแรงที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันมาฆบูชา 8 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา จนทำให้เกิดการเสียชีวิต และบาดเจ็บครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย เป็นข่าวดังกระฉ่อนไปทั่วโลกนั้น
              ในฐานะที่ผู้เขียนเองก็พอมีประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถพอที่จะให้คำแนะนำหน่วยราชการ สื่อมวลชน และพี่น้องประชาชนพอเป็นสังเขป  ซึ่งเป็นอีกแง่มุมหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ภาวะวิกฤต ที่ทุกฝ่ายจะต้องประสานงาน เตรียมการกันเป็นอย่างดี ซึ่งจะสามารถลดความเสียหายอย่างรุนแรงลงได้
               โดยเหตุวิกฤตนั้นอย่างที่ทราบว่าเกิดขึ้นจากหลายทาง ทั้งจากน้ำมือของมนุษย์ จากธรรมชาติ และจากสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ทั้งหมดนั้นถ้าหากว่ามีการบูรณาการอย่างเป็นระบบ ระเบียบ มีการสั่งการบังคับบัญชาจากแหล่งเดียว กันแล้ว ความเสียหายอย่างรุนแรงก็อาจจะเกิดน้อยที่สุด โดยมีคำแนะนำ คือ
               เมื่อหน่วยงานต่างๆ วิเคราะห์ดูแล้วว่า เหตุวิกฤตนั้นหากเริ่มจากในระดับอำเภอ หรือจังหวัด ต่อเนื่องไปจนถึงระดับประเทศ ผู้บริหารในที่นั้นพิจารณาเห็นว่าความรุนแรงจะต้องเกิดขึ้นในวงกว้างอย่างแน่นอน ผู้บังคับบัญชา ณ ที่เกิดเหตุจะต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นได้รับทราบและพิจารณาสั่งการในทันที โดยนำแผนการเผชิญเหตุที่จะต้องมีกฎหมายรองรับ และผ่านการซักซ้อมทำความเข้าใจเป็นอย่างดีแล้วออกมาใช้ และต้องมีการแต่งตั้งผู้บัญชาเหตุการณ์
              ซึ่งประการสำคัญผู้ที่มีอำนาจเด็ดขาดในการสั่งการทุกหน่วยงาน และสถานที่เกิดเหตุนั้น จะต้องเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย คำสั่งการต่างๆ ที่ออกมาหากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องมีกฎหมายลงโทษอย่างรุนแรง
             ขณะเดียวกันการสั่งการต่างๆ นั้น ในเบื้องต้นจะต้องมีการประชุมปรึกษาหารือถึงผลดี ผลเสีย เบื้องหลัง เบื้องลึก ตลอดถึงผลกระทบที่จะตามมา หรือผลดีต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยทั้งนี้จะต้องมีข้อมูลเชิงลึก ประกอบการตัดสินใจของผู้มีอำนาจสั่งการนั้นๆ ด้วย
           ในส่วนของสื่อมวลชนนั้น เบื้องต้นจะต้องคำนึงถึงกฏ ระเบียบ ตลอดทั้งจรรยาบรรณของสื่อมวลชนประกอบการตัดสินใจในการรายงานข่าว ทำข่าว หรือถ่ายทอดสด ตลอดทั้งการสัมภาษณ์  รวมทั้งการใช้ภาพข่าวต่างๆ ต้องมีการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กสทช. ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลโดยตรง จะต้องติดตามเหตุการณ์ตลอดเวลา
      หากเห็นว่าแนวโน้วจะรุนแรง ขยายวงกว้าง กสทช. ก็จะต้อง “สั่งการโดยเด็ดขาด” ให้สื่อมวลชนปฏิบัติ เพราะมีกฎหมาย มาตรการรองรับอยู่แล้ว ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ บานปลาย ลุกลามใหญ่โตจนยากที่จะควบคุมได้จากสาเหตุที่เกิดจากสื่อมวลชน
      สำหรับผู้นำระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีนั้น ผู้ที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำปรึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปรึกษาทางด้านการประชาสัมพันธ์ จะต้องรายงานเหตุการณ์ต่างๆ ให้ผู้บริหารเหล่านี้ได้ทราบตลอดเวลา
     ประการสำคัญจะต้องให้คำแนะนำในการวางตัว การใช้วัจนภาษา หรืออวัจนภาษา ตลอดทั้งการพูด การคุย การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างๆ อย่างเหมาะสมถูกกาลเทศะ
สรุป ในโลกยุคปัจจุบันนี้ เหตุการณ์วิกฤตต่างๆ ทั้งที่ดี หรือไม่ดี สามารถสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง สร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล หน่วยงานของรัฐ หรือผู้บริหารประเทศได้  ฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องเข้มงวด เอาใจใส่อย่างจริงจัง พร้อมกับมีมาตรการรองรับเมื่อเกิดเหตุต่างๆเหล่านี้  โดยสามารถนำมาใช้ได้ทันที และก็จะต้องมีการฝึกซ้อมกันอยู่อย่างสม่ำเสมอ
    ทั้งนี้เพราะเราไม่อาจทราบว่าจะเกิดเหตุรุนแรง ส่งผลกระทบทั้งในระดับประเทศ หรือระดับนานาชาติได้อย่างไรบ้าง เตรียมพร้อมไว้ดีกว่าครับ (ไม่ใช่ทำแบบไฟไหม้ฟาง) ดีกว่าที่ทำกันสะเปะสะปะแบบมวยวัดเหมือนที่ผ่านๆ มา.
โดย…ธีระพงษ์  โสดาศรี อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
แสดงความคิดเห็น