
ภายหลังจากที่กระแสประชาชนได้ประณามการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนที่ไร้จรรยาบรรณและไร้ความรับผิดชอบในการรายงานข่าว ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ร้ายแรงที่ห้างเทอร์มินัล 21 จังหวัดนครราชสีมา โดยไม่คำนึงถึงความสูญเสียที่จะตามมานั้น
สื่อมวลชนบางคน ก็ได้ออกมาชี้แจงตอบโต้ในเหตุการณ์ครั้งนี้พร้อมกับได้เล่าถึงการทำงานของตนเองว่าทำอะไรบ้าง ผลเป็นอย่างไร
ก็เลยอยากจะขอถามต่อไปว่า หน้าที่หลักของสี่อมวลชนจริงๆ ในยามหน้าสิ่วหน้าขวานหน้าขวานนั้นคืออะไร ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ สมควรหรือไม่ที่จะลงไปถ่ายทอดสด รายงานข่าว ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ฯลฯ
ประการสำคัญ คือ คนร้ายคนนี้ได้ติดตามเหตุการณ์จากทางสื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทาง Social Media ตลอดเวลา และผู้ร้ายคนนี้เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการใช้สื่อ Social ให้เป็นประโยชน์ แม้กระทั่งเมื่อโดนปิดเฟสของตนเองแล้ว ก็ได้เอาเครื่องโทรศัพท์ส่วนตัวของตัวประกันมาดูข้อมูล ข่าวสาร หรือการทำงานต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ด้วย
นี่แหละคือสิ่งที่สื่อมวลชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารของสื่อต่างๆ จะต้องตระหนักให้ความร่วมมือกับทางราชการ โดยไม่คำนึงถึงธุรกิจของตนเองมากเกินไปจนลืมนึกถึงผลเสียหายที่จะตามมา
หากจะบอกว่าภายหลังจากการรัฐประหารของนายกฯ ลุงตู่แล้ว ได้กำหนดให้มีการปฏิรูปทั้งหมด 11 ด้าน แต่การปฏิรูปที่ยากที่สุด จนกระทั่งยังคาราคาซังไม่สำเร็จอยู่ในขณะนี้ ก็คือการปฏิรูปสื่อมวลชนนี่แหละครับ เพราะต่างคนต่างก็ใหญ่ ต่างคนต่างก็ไม่ยอมกัน
จนสุดท้ายการออกจรรยาบรรณเพื่อกำหนดความประพฤติ สิ่งที่พึงปฏิบัติของสื่อมวลชนให้เป็นรูปแบบเดียวกัน ยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน หากสมาคม สหพันธ์ หรือสภา ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับสี่อมวลชนทั้งหลายจะออกมาตอบโต้ว่า ได้กำชับ ได้บอกกล่าว ได้กำหนดขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ แม้กระทั่งจรรยาบรรณให้กับสมาชิกของสื่อมวลชนที่ตนเองรับผิดชอบได้ทราบแล้ว ท่านก็จะต้องมาดูว่า ผลเป็นอย่างไร
ซึ่งผลในกรณีที่เห็นนี้ ก็คือประชาชนทั่วไปยังเห็นการแข่งขันกันรายงานข่าว ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ เพื่อให้ยอดโฆษณาเข้า เป็นผลทางธุรกิจของตัวเองทั้งนั้น หากจะแก้ตัวอีกว่าถึงแม้ไม่รายงานข่าวทางโทรทัศน์ ทางวิทยุ แต่ประชาชนก็ยังจะเสนอข่าวทาง Social Media อยู่ดี นั่นก็เป็นคนละเรื่องกันนะครับ เพราะอย่าลืมว่าข่าว หรือข้อมูลจากสื่อกระแสหลักนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้ประชาชนเชื่อถือหรือคล้อยตามได้มากกว่าสี่อบุคคลที่นำเสนอทาง Social Media
เอาง่ายๆ ว่า เมื่อทางการโดยเฉพาะ กสทช. ซึ่งมีหน้าที่หลักรับผิดชอบในการนำเสนอข้อมูล ข่าวสารผ่านสื่อมวลชนโดยตรง ขอความร่วมมือสื่อมวลชนทั้งหลายแล้ว ท่านก็ต้องตระหนัก และให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามคำขอร้อง หรือขอความร่วมมือจากผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องตามกฏหมายดังกล่าว (ซึ่งภายหลังเมื่อสังคมด่าว่ามากๆ เข้า สื่อมวลชนส่วนใหญ่ก็เข้าใจ)
ที่เขียนมานี้ก็ด้วยความรัก ความเป็นห่วงสถานภาพของสื่อมวลชนไทยนะครับ คืออยากจะให้สถาบันสื่อมวลชนเป็นที่พึ่งของประชาชน เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนอย่างแท้จริงเพราะหากต่างคนต่างทำ ไม่ยอมรับเสียงประชาชน ปฏิบัติหน้าที่ไร้ซึ่งระเบียบ กฎเกณฑ์ และข้อปฏิบัติ รวมถึงจรรยาบรรณแล้วความล้มเหลวต่างๆ ก็จะตามมาเป็นลูกโซ่ สังคมกำลังมองท่านอยู่นะครับ.
โดย…ธีระพงษ์ โสดาศรี อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
แสดงความคิดเห็น