ไปดูจุดติดแล้วไฟลามทุ่งไปที่ภาคเหนือ นายสมจิต สุวรรณบุษย์ ผู้แทนสมาชิกสหกรณ์เครือข่ายบำนาญพร้อมสมาชิก 7 อำเภอ เข้ายื่นหนังสือเปิดประชุมใหญ่วิสามัญโดยสมาชิก เพื่อให้ สอ.แม่ฮ่องสอนทบทวนแก้ไขหลักเกณฑ์อัตราเงินปันผลและเฉลี่ยคืนที่ชอบธรรม เมื่อพิจารณากำไรสุทธิลดลงจากปีก่อนจำนวนมาก กล่าวคือในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2562 ที่เพิ่งผ่านมาผลการดำเนินงานทำให้สมาชิกเกิดข้อสงสัยในการบริหารจัดการซึ่งผลกำไรเหลือเพียง 77 ล้านบาทในปีบัญชี 2562 ในขณะที่ปี 2561 กำไรสุทธิสูงถึง 123 ล้านบาท(ตัดเศษออก) ส่งผลให้เงินปันผลเหลือเพียงร้อยละ 4 (เคยได้ปี 2561 ร้อยละ 5.75 บาท) เงินเฉลี่ยคืนเหลือร้อยละ 8 (เคยได้ร้อยละ 12) มูลเหตุที่ต้องขอเปิดประชุมใหญ่วิสามัญโดยสมาชิกคือ ปมเงื่อนที่ สอ.มส.นำเงินไปให้สหกรณ์การเกษตรเมืองแม่ฮ่องสอนกู้ยืมอีกกว่า 40 ล้านบาท และผู้กู้ก็ไม่สามารถคืนเงินกู้เป็นเวลานานแล้วเนื่องจากเกิดการทุจริต หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเอกสารกู้ยืมเงินเป็นการฝากเงิน(เป็นประเด็นใหม่และประเด็นพิเศษของสหกรณ์ครูที่เกิดปัญหาทุจริต) นายสมจิตฯ กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมผู้แทนสมาชิกถึงลงมติตามการตั้งวาระของคณะกรรมการดำเนินการให้จ่ายเงินปันผลและเฉลี่ยคืนในอัตรานี้ ดังนั้นจึงขอเปิดประชุมใหญ่วิสามัญโดยสมาชิกเพื่อทบทวนแก้ไขหลักเกณฑ์จ่ายเงินฯ ที่ชอบธรรม
ในตอนที่ 4 ที่ผ่านมาเราได้กล่าวถึงแชร์ลอตเตอรี่ที่อื้อฉาวที่สุดถึงขั้นประลองกำลังในการประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อวันที่30 พฤษภาคม 2553 เพื่อแก้ไขข้อบังคับสหกรณ์ หมวด 2 วัตถุประสงค์ข้อ 2 โดยเพิ่ม (20) คือ “จัดหาสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิกเพื่อเป็นสวัสดิการ” โดยมีนายก๊ก ดอนสำราญ ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเลยจำกัด (ความจริงท่านจบดอกเตอร์แต่งานเขียนของเราจะใช้ตามระบบงานสารบัญของราชการเท่านั้น ไม่ให้ใช้คำว่าหน้าว่า ดร. แต่ใช้คำว่านาย-นาง-สาวนาง เว้นแต่มีกฎหมายบัญญัติให้เขียนได้)และผู้จัดการนายสุรศักดิ์ ยศปัญญา ผู้จัดการสหกรณ์ฯ
เลยได้เข้าประชุมและเป็นผู้ชี้นำและชักชวนให้สมาชิกจะได้ประโยชน์ส่วนต่างราคาฉบับละ 2-3 บาท ที่ประชุมฯมีมติชนะด้วยคะแนนเสียง 266 ต่อ 102 เสียงและขออนุมัติวงเงินลงทุน 500 ล้านบาท จากนั้นสหกรณ์ฯได้โอนเงินมัดจำจำนวน 295.2 ล้านบาท(สองร้อยเก้าสิบห้าล้านสองแสนบาท) สลากกินแบ่งรัฐบาลให้แก่บริษัทเทวาสิทธิพิฆเนศ จำกัด พวกชาวสหกรณ์ผู้เห็นงามกับเงินบาปเฝ้ารอแล้วรออีกสลากกินแบ่งก็ยังไม่มีมามีแต่เงินสหกรณ์โอนออกไป จนนายสานิตย์ พลศรี ประธานสหกรณ์(ชุดที่ 54) ทำหนังสือสอบถามไปยังผู้อำนวยการสลากกินแบ่งรัฐบาลและได้รับคำตอบกลับมาว่า ผู้มีสิทธิได้รับสลากไปจำหน่ายไม่ปรากฏว่ามีชื่อบริษัทดังกล่าว
การบอกเลิกสัญญาก็เกิดขึ้นโดยที่ประชุมใหญ่วิสามัญโดยสมาชิกเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2554 แล้วก็เกิดขบวนการทวงถามให้คืนเงินอย่างยาวนาน ก็ปรากฏผลดังคาดหมายเงินจำนวนนั้นได้จ่ายให้หมู่พวกที่สมคบคิดร่วมกันกระการทุจริตไปหมดแล้ว หลังจากนั้นขบวนการสหกรณ์ เจตนารมณ์ของกฎหมาย พฤติการณ์ของนายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์(สหกรณ์จังหวัด) ผู้ตรวจราชการกรมผู้ปฏิบัติหน้าที่นายทะเบียนสหกรณ์ ประธานและกรรมการสหกรณ์ครู ผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ และพฤติการณ์เจ้าพ่อแชร์ลอตเตอรี่ทั้งสองของจังหวัดเลย รวมทั้งบรรดาผู้แทนสมาชิกและสมาชิก(บรรดาผีโม่แป้ง) ได้แสดงพฤติการณ์จนนำไปสู่การร้องทุกข์กล่าวโทษสู่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ(ป.ป.ช.) และฟ้องร้องศาลปกครองกลางนครราชสีมา และศาลได้อ่านคำพิพากษาแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ 22/2558 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 ระหว่างนายสานิตย์ พลศรีที่ 1 นายมังกร พันธ์กิ่งที่ 2 นายปิยะวุฒิ ดวงกมลที่ 3 นายสุดสาคร เรืองวิเศษที่ 4 นายวีระพจน์ ตันติปัญจพรที่ 5 นายสันติ คงวัฒนาที่ 6 ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์(ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์) ผู้ถูกฟ้องคดี เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สรุปความว่า คดีนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูชัยภูมิจำกัด(สอ.ชย.) ชุดที่ 53 ได้จัดทำสัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลกับบริษัทเทวาสิทธิพิฆเนศจำกัดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2553 โดยมิได้เรียกหลักประกันสัญญาและเป็นการซื้อขายแบบไม่มีการส่งมอบสลากกินแบ่งรัฐบาลกันจริงซึ่งการซื้อขายดังกล่าวไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสหกรณ์ตามมาตรา 33(1) แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ประกอบกับข้อบังคับของสหกรณ์ฯ ข้อ 2(20) จึงเป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1(โดยสหกรณ์จังหวัดชัยภูมิ) สั่งให้คณะกรรมการชุดที่ 53 แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว โดยให้สหกรณ์ฯดำเนินการให้เป็นไปตามหลักสหกรณ์กล่าวคือ สหกรณ์จะต้องไม่เป็นผู้ดำเนินธุรกิจในลักษณะจัดหาสินค้ามาจำหน่ายเสียเอง แต่ยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว ต่อมาผู้ฟ้องคดีทั้งหกได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2553 ให้เข้ามาเป็นคณะกรรมการฯชุดที่ 54 โดยคณะกรรมการชุดนี้มีกรรมการที่เคยเป็นคณะกรรมการฯชุดที่ 53 อยู่จำนวน 9 คน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงสั่งมีคำสั่งให้คณะกรรมการฯชุดที่ 54 แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวเป็นครั้งที่ 2 และมีคำสั่งให้คณะกรรมการฯ ชุดที่ 54 แก้ไขข้อบกพร่องครั้งที่ 3 ดังนี้ (1) ให้ดำเนินการเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการการซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลร่วมกันรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 295.2 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย หรือให้มีหลักประกันให้คุ้มกับมูลค่าความเสียหายดังกล่าวภายใน 15 วัน (2) ให้รายงานผลดำเนินการตามข้อ 1 ภายใน 3 วัน หากไม่ดำเนินการนายทะเบียนสหกรณ์จะพิจารณาใช้อำนาจตามกฎหมายสหกรณ์ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งผู้ฟ้องคดีที่ 1(ประธานกรรมการสหกรณ์ฯ) ได้มีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการฯชุดที่ 53 ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว และแจ้งให้บริษัทคู่สัญญานำเงินค่าจองสลากล่วงหน้ามาคืนสหกรณ์ฯภายใน 15 วัน แต่ทั้งคณะกรรมการฯชุดที่ 53 และบริษัทคู่สัญญา มิได้นำจำนวนดังกล่าวมาชำระหรือคืน ให้สหกรณ์ฯ แต่อย่างใด หลังจากนั้นผู้ตรวจการกรมส่งเสริมสหกรณ์รองนายทะเบียนปฏิบัติการแทนนายทะเบียนได้มีคำสั่งให้คณะกรรมการฯ ชุดที่ 54 พ้นจากตำแห่งทั้งคณะในวันที่ 22 มีนาคม 2554 รวมระยะเวลาประมาณ 1 ปี 5 เดือน
ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งหกในฐานะคณะกรรมการฯ ชุดที่ 54 ได้ดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวตามคำสั่ง
นายทะเบียนมาโดยตลอด กรณีที่ประธานคณะกรรมการฯ ชุดที่ 54 มีหนังสือแจ้งแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ทราบว่า สหกรณ์ฯได้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวแล้วโดยให้ยุติการจำหน่ายสลากกินแบ่งฯ ตามมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญ และมีหนังสือถึงบริษัทคู่สัญญากับสหกรณ์ฯ โดยอ้างเหตุที่บริษัทฯ ไม่วางหลักประกันสัญญาตามที่สหกรณ์ทวงถามจึงถือว่าบริษัทฯปฏิบัติผิดสัญญา ประกอบกับอ้างเหตุผลว่าที่ประชุมใหญ่วิสามัญมีมติให้เลิกสัญญาจึงได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญากับบริษัทฯ รวมทั้งหนังสือทวงถามให้บริษัทฯ ส่งเงินค่าจองสลากฯล่วงหน้าคืนให้สหกรณ์ จึงถือว่าการดำเนินการของคณะกรรมการฯชุดที่ 54 ดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนสหกกรณ์ครบถ้วนแล้ว และประเด็นที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่สองอ้างว่า ในช่วงที่คณะกรรมการฯชุดที่ 54 ได้โอนเงินค่าซื้อฉลากอีก 10 งวดถือว่าเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์
(ศาล)เห็นว่าการโอนเงินดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไปตามข้อผูกพันที่สหกรณ์ฯมีกับบริษัทฯ ตามสัญญาที่คณะกรรมการฯชุด 54 ได้จัดทำไว้ เป็นช่วงระยะเวลาที่คณะกรรมการฯชุด 54 เพิ่งเข้ามาบริหารกิจการสหกรณ์ จึงยังไม่ทราบปัญหาดังกล่าว ต่อมาเมื่อทราบปัญหาและได้มีการจัดประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวแล้วก็ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและยุติการโอนทันที และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อ้างว่า ไม่มีการติดตามทวงถามฟ้องร้องเรียกร้องเงินดังกล่าวคืน และไม่มีการสอบสวนหาผู้กระทำผิดเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สหกรณ์ฯ เห็นว่า คณะกรรมการฯชุดที่ 54 พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของบริษัทฯและผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกง จึงได้ดำเนินการร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ และร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองชัยภูมิ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเป็นคดีพิเศษและรับโอนคดีจากสถานีตำรวจฯ มาดำเนินการเอง และฟ้องแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากบุคคลที่กระทำผิด ต่อมาก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการฟ้องเป็นคดีอาญาและคดีแพ่งแล้ว กรณีนี้จึงถือว่าคณะกรรมการฯ ชุดที่ 54 ได้กระทำการติดตามทวงถามและดำเนินการหาคนรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สหกรณ์ตามสมควรแก่กรณีแล้ว และศาลยังเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ให้การยอมรับว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการฯชุดที่ 54 มีปัญหาในการบริหาร เนื่องจากประกอบด้วยกลุ่มผู้ฟ้องคดีทั้งหก และกลุ่มบุคคลที่เคยเป็นคณะกรรมการฯชุด 53 จำนวน 9 คนซึ่งเคยเกี่ยวข้องกับการทำสัญญาซื้อขายสลากฯมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งให้สหกรณ์ฯ ดำเนินการเรียกร้องให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สหกรณ์ฯ ฉะนั้น การให้คณะกรรมการฯชุดที่ 54 ดำเนินการประชุมร่วมกันทั้งสองฝ่ายเพื่อมีมติให้ความเห็นชอบกับการมีหนังสือทวงถามให้บุคคลที่เคยเป็นคณะกรรมการฯชุดที่ 53 และบริษัทฯ ชดใช้ค่าเสียหาย จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยาก เพราะย่อมมีประโยชน์ได้เสียกับเรื่องดังกล่าว ประกอบกับเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1(โดยผู้ตรวจราชการกรมฯ) ทราบว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการฯมีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ และตามมาตรา 22(4) แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ได้ให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการเลือกที่จะออกคำสั่งให้พ้นตำแหน่งทั้งคณะ หรือให้กรรมการซึ่งเกี่ยวข้องกับการซื้อขายฉลากฯ พ้นจากตำแหน่งเป็นการเฉพาะรายก็ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งหกในฐานะคณะกรรมการฯ ชุดที่ 54 มิได้เกี่ยวข้องการจัดทำสัญญาซื้อขายสลากฯ และได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ตามคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์มาโดยตลอด ดังที่ได้วินิจฉัยไปแล้ว รวมทั้งออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกในฐานะคณะกรรมการฯชุดที่ 54 พ้นจากตำแหน่ง จะมีผลให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกต้องขาดคุณสมบัติในการรับสมัครรับการสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการฯสหกรณ์ตามมาตรา 52(3) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ก็ยังเลือกที่จะออกคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ จึงถือว่าคำสั่งดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกโดยไม่จำเป็นและเกินสมควร กรณีการใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองรับฟังไม่ได้ และการที่ผู้ตรวจการสหกรณ์ได้เข้าตรวจสอบกิจการของสหกรณ์ และมีความเห็นว่าสหกรณ์ฯ ยังมิได้ดำเนินการตามคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์จึงเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1(โดยผู้ตรวจราชการกรมฯ) มีคำสั่งให้คณะกรรมการฯ ชุดที่ 54 พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะจึงเป็นการใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีผลให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งหก เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบกฎหมายตามไปด้วย พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 317/2555 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2555 เฉพาะส่วนที่ให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกพ้นจากตำแหน่งฯ และคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งหก ทั้งนี้นับแต่วันที่มีคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว
หลังจากคดีนี้แล้ว นายสานิตย์ พลศรีกับพวก ยังได้ไปยื่นเรื่องกล่าวหาไปที่ ป.ป.ช. กล่าวหาบุคคลดังต่อไปนี้คือ 1. อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายสมชาย ชาญณรงค์ ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ 2. นายโอภาส กลั่นบุศย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ 3. นายสุกรี พันละบุตร ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ 4. นายสุพจน์ วัฒนวิเชียร อดีตสหกรณ์จังหวัดชัยภูมิ ปัจจุบันสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์ 5. นายบุญเสริม ไกรสินธุ์ สหกรณ์จังหวัดชัยภูมิ 6. นายวรรณศักดิ์ ไม้จัตุรัส ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดชัยภูมิ และ 7. นางวราลักษณ์ กุลบวรรัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดชัยภูมิ (อ้างในหนังสือเรื่องขอทราบรายละเอียดตามคำกล่าวหาเพิ่มเติม ของนายสานิตย์ฯ ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 และหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช.ที่ ปช 0017/1480 ลงวันที่ 18 กันยายน 2555)
ที่ควรจดจำอย่างยิ่งกับการเกิดขึ้นของขบวนการทุจริตแชร์ลอตเตอรี่ครั้งนี้ แสดงความชัดแจ้งให้เห็นว่า
1.นายสมสันต์ ปาณาเขียว ประธานคณะกรรมการฯชุดที่ 53 และนายธวัชชัย วุฒิจามร กรรมการและเลขานุการได้นำเงินมามอบให้นายสานิตย์ พลศรี (ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2554) รวมจำนวน 3.5 ล้านบาท(สามล้านห้าแสนบาท) พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองชัยภูมิได้อายัดยึดไว้เพื่อใช้เป็นหลักฐานว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกระทำผิดได้รับเงินตอบแทนนี้มา(อ้างในคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อ.862/2561)
2.เป็นไปได้…กรรมการฯทั้ง 9 คนถูกถอดถอนในที่ประชุมใหญ่วิสามัญโดยสมาชิกเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2554 แต่กรรมการที่ถูกถอดถอนยื่นอุทธรณ์ต่อนายทะเบียนสหกรณ์ฯ ว่า “การประชุมใหญ่วิสามัญต้องประกอบด้วยผู้แทนสมาชิก” นายวรรณศักดิ์ฯ รักษาราชการแทนสหกรณ์จังหวัดฯ ได้ให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อ 18 กันยายน 2554 และมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญวันที่ 2 ตุลาคม 2554 เป็นผลให้กรรมการฯทั้ง 9 คนกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งในสหกรณ์ฯอีก
3.เป็นไปได้ทั้ง…แก้ไขข้อบังคับให้แล้ว ไม่นานก็เพิกถอนการแก้ไขข้อบังคับทิ้งเสีย…เริ่มจากการประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อวันที่30 พฤษภาคม 2553 เพื่อแก้ไขข้อบังคับสหกรณ์ หมวด 2 วัตถุประสงค์ข้อ 2 โดยเพิ่ม (20) คือ “จัดหาสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิกเพื่อเป็นสวัสดิการ” หลังจากนั้นวันที่ 8 สิงหาคม 2554 รองนายทะเบียนสหกรณ์ชัยภูมิสั่งเพิกถอนการรับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับสหกรณ์ ข้อ 2 วัตถุประสงค์ (20) ทิ้งไปเสีย (สงสัยไหม!!!)
4.ทำไมนายทะเบียนสหกรณ์ไม่แยกแยะใครกลุ่มไหนในคณะกรรมการฯ เป็นผู้สร้างปัญหา กลุ่มไหนในคณะกรรมการฯ เป็นผู้เข้าไปแก้ปัญหาเป็นผู้ระงับยับยั้งความเสียหายไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ และกลุ่มไหนในคณะกรรมการฯ เป็นผู้บอกเลิกสัญญา (สงสัยไหม!!!)
5.การทำสัญญาซื้อขายสลาก(หรือสิ่งของใดๆ) ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อกฎหมาย เพราะไม่ใช่กิจการร่วมกันและเป็นธุรกิจที่แสวงหากำไร อีกทั้งขัดต่อวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสหกรณ์ ดังที่หนังสือด่วนมากของกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่ กษ 1115/070 ลงวันที่ 6 กันยายน 2553 นายทะเบียนสหกรณ์เห็นว่า “ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่ายแก่สมาชิก ไม่ใช่กิจการร่วมกัน ตามประเภทของสหกรณ์ตามความในมาตรา 33(1) แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542” (สงสัยไหม!!!)
คงอีกไม่นานนักคดี ป.ป.ช.ที่ได้พิจารณามาช้านานมากแล้ว คงจะได้ข้อสรุปว่าจะชี้มูลความผิดหรือไม่ และเชื่อเหลือเกินว่า
อีกไม่นานเช่นกันศาลปกครองสูงสุดจะตัดสินให้เป็นบรรทัดฐานของสังคมไทยที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทุจริตอย่างถ้วนหน้า.
(โปรดติดตามตอนที่ 6 สหกรณ์ครูเลยเจ้าพ่อแห่งแชร์ลอตเตอรี่).