เวลาเราเจ็บป่วย ไม่ว่าด้วยอาการอะไร อาการนั้นจะรุนแรงหรือไม่รุนแรง ทุกคนก็ต้องการให้ได้รับการรักษาที่ดีที่สุด หายเร็วที่สุด จึงเกิดคำถามว่าจะไปรับการรักษากับแพทย์ที่คลินิก แพทย์ที่โรงพยาบาลรัฐ แพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชน การตัดสินใจจะทำอย่างไรดี ผมมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
- อาการเจ็บป่วยเป็นประการสำคัญที่สุด ถ้าอาการนั้นรุนแรง เร่งด่วนก็ต้องเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เป็นโรงพยาบาลของรัฐก็น่าจะดีกว่า เพราะจะไม่เสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากระบบการรักษาของประเทศไทย กรณีเป็นภาวะเร่งด่วน สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลของรัฐ จะไม่เสียค่าใช้จ่าย
- กรณีอาการเจ็บป่วยนั้นไม่รุนแรง ไม่เร่งด่วน ก็ขึ้นกับความพึงพอใจ ความพร้อมด้านค่าใช้จ่าย ความสะดวก จะเข้ารับการรักษาที่ไหนก็ได้ แต่ถ้าต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ก็ควรเลือกเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐดีกว่า
- กรณีเป็นผู้ป่วยเก่า ประจำที่ใด และไม่มีข้อจำกัดด้านค่ารักษาพยาบาล ก็ควรเข้ารับการรักษาที่เดิม เพราะจะมีประวัติการรักษาเก่า ประวัติการใช้ยา การแพ้ยา และเป็นที่คุ้นเคยกับแพทย์ผู้ทำการรักษา การคุ้นเคยกับระบบการรักษา
- กรณีมีอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง แต่ไม่เร่งด่วน และไม่มีความพร้อมในค่าใช้จ่าย ก็ต้องรีบเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐที่ใกล้ที่สุดก่อนเสมอ และแจ้งสิทธิ์การรักษาของตนด้วย เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรีบทำการรักษาและติดต่อหน่วยประสานสิทธิ์การรักษาต่อ
ข้อดีของการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ คือ ไม่เสียค่ารักษาพยาบาล การรักษาในโรงพยาบาลเอกชนหรือที่คลินิก คือ ความสะดวก รวดเร็ว แต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล การตัดสินใจจะเข้ารับการรักษาที่ใดนั้น ก็ขึ้นกับความรุนแรงการเจ็บป่วย ภาวะฉุกเฉิน เร่งด่วน และความพร้อมในด้านการจ่ายค่ารักษา สิทธิ์การรักษาครับ
โดย-ศ.นพ. สมศักดิ์ เทียมเก่า รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์
แสดงความคิดเห็น