การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 สหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2563 ที่ผ่านมาได้เสร็จสิ้นไปแล้ว โดยข้อเสนอของชมรมผู้แทนสมาชิกสหกรณ์ฯที่ต้องการให้ “ยกเว้นการจ่ายโบนัส” ของคณะกรรมการฯ ผู้แทนสมาชิก
ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องอื่นๆที่ได้มีการกำหนดวงเงินไว้ 20 ล้านบาทนั้น เนื่องจากบริหารงานผิดพลาดปล่อยให้มีการยักยอกเงินออกไปจากบัญชีเงินฝากธนาคารของสหกรณ์ฯจำนวน 431 ล้านบาท ไม่ได้รับการตอบสนองจากคณะกรรมการฯและผู้แทนสมาชิกทั้งหมด
นอกจากไม่ฟังเสียงทักท้วงแล้วดร.อนุศาสตร์ สอนศิลพงษ์ ประธานสหกรณ์ฯยังได้ออกมาตอบโต้สื่อว่า เสนอข่าวโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงโดยอ้างว่า เงินจำนวน 20 ล้านบาทนั้นเมื่อแบ่งให้แก่คณะกรรมการฯและผู้เกี่ยวข้องแล้ว มีจำนวนเงินไม่มากและมีความเหมาะสมแล้ว ซึ่งเป็นคนละเรื่องเป็นคนละประเด็นกับข้อเรียกร้องของสมาชิกจึงไม่มั่นใจว่า ดร.อนุศาสตร์บิดเบือนประเด็นเช่นนี้เพื่ออะไร?
การแก้ไขปัญหาการทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นหรือในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอื่น ๆนั้นมีความสลับซับซ้อนในระเบียบข้อบังคับของสหกรณ์แต่ละแห่งซึ่งอาจเหมือนกัน หรือไม่เหมือนกันก็ได้ โดยมีพ.ร.บ.สหกรณ์ฯ เป็นตัวกำกับอีกชั้นหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามแม้จะมีพ.ร.บ.สหกรณ์ฯกำกับไว้ก็ไม่ได้หมายความจะสามารถกระทำการโดยขัดกฎหมายหลักคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายอาญาได้
เราจะเห็นว่ามีคณะกรรมการฯสหกรณ์บางแห่งพยายามที่จะใช้มติของที่ประชุมใหญ่สหกรณ์กระทำการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยเข้าใจว่าอำนาจสูงสุดในการบริหารสหกรณ์อยู่ที่ประขุมใหญ่แต่ที่สุดก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากการความรับผิดได้
น่าเศร้าใจเป็นอย่างยิ่งว่าบุคลากรด้านการศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นผู้ทำหน้าที่ในการประสิทธิ์ประศาสน์วิชาความรู้ให้แก่เด็กและเยาวชน และสมควรจะเป็นต้นแบบในการเป็นพลเมืองดีให้แก่ประเทศชาติ จะกลับกลายเป็นกลุ่มคนที่กระความผิดเพียงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
การทุจริตในแวดวงการศึกษาที่มีงานวิจัยระบุไว้ชัดเจน ตั้งแต่เรื่อง การรับเด็กเข้าเรียน การซื้อวัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษา ผลประโยชน์ที่เกิดขากโครงการก่อสร้าง ปรับปรุงอาคารสถานที่ต่างๆ การโยกย้ายตำแหน่งของบุคลากร การซื้อขายตำแหน่งผู้บริหาร เหล่านี้คือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับวงการครู
ด้วยเม็ดเงินในระบบสหกรณ์ที่มีจำนวนมหาศาลและอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสถานะทางการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ ได้เคยมีข้อเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เข้ามาทำหน้าที่ในการกำกับดูแลสหกรณ์เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นๆ
หากเป็นเช่นนั้น หลักการสหกรณ์ที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นเพื่อให้สมาชิกได้พึ่งตนเองและดูแลกันเองตามหลักการประชาธิปไตยก็คงจะถูกทำลายไป
น่าแปลกใจว่า หลักการประชาธิปไตยที่คนไทยเรียกร้องกัน ไม่สามารถที่จะได้รับการปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ได้อย่างแท้จริง เพราะแม้แต่ครูที่ถือได้ว่า เป็นปัญญาชนที่มีความรู้ มีบทบาทหน้าที่ในการอบรมสั่งสอนให้คนเป็นคนดี ยังไม่สามารถที่จะเป็นต้นแบบที่ดีได้
แล้วอย่างนี้สังคมไทยจะหวังไปพึ่งใครได้อีก คิดแล้วก็เศร้าใจคนไทยเท่านั้นแหละที่จะช่วยกันค้นหาคำตอบ ?