เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินกรณีผู้ลี้ภัยโรฮิงญาจากรัฐยะไข่ของพม่า พวกเขาเป็นคนมีสถานะ ไร้สัญชาติ จากการถูกอังกฤษนำมาจากบังคลาเทศ ในช่วงล่าอาณานิคม ทางการบังคลาเทศก็ไม่ยอมรับคนเหล่านี้ให้กลับประเทศ พม่าก็ไม่ยอมให้สัญชาติ ไม่กี่ปีก่อนมีเหตุการณ์ที่โรฮิงญาถูกทหารพม่าใช้กำลังปราบปรามล้มตายไปจำนวนมาก พวกเขาหนีเข้าไปในบังคลาเทศเกือบแปดแสนคน รวมทั้งที่ยอมเสี่ยงตายหนีจางเรือมาขึ้นฝั่งแถวบ้านเรา มาเลย์เซียและอินโดนีเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019 ประเทศแกมเบีย (ประเทศเล็กๆ ในอาฟริกา) ได้นำกรณีเหตุการณ์ดังกล่าวฟ้องรัฐบาลพม่าต่อศาลโลก ว่าทำผิดสนธิสัญญาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 1961 ซึ่งนางอองซานซูจี (ผู้นำตัวจริงของพม่า) ไปขึ้นศาลด้วยตนเอง ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของเธอที่เคยโดดเด่นด้านสิทธิมนุญชน และได้รับรางวัลโนเบล เสียหายมากพอสมควร
เมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา ศาลโลกได้มีคำสั่งเบื้องต้น (Preliminary ruling) แบบเป็นเอกฉันท์ สั่งให้รัฐบาลพม่าหาทางไม่ให้เกิดปัญหาการฆ่าแบบหวังล้างเผ่าพันธุ์ขึ้นอีก ไม่ให้ทหารใช้กำลังปราบปรามแบบเดิม ให้เก็บรักษาและป้องกันการทำลายหลักฐานต่างๆ และรายงานผลการดำเดินงานภายใน 4 เดือนและทุกๆ 6 เดือน จนกว่าศาลโลกจะมีคำพิพากษา ซึ่งคำสั่งดังกล่าวถือว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่โรฮิงญาจะได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม ถึงแม้ว่าฝ่ายรัฐบาลพม่าจะอ้างว่า ไม่มีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ก็ต้องจำนนต่อหลักฐาน และยอมรับว่ามีการฆ่าหมู่ เกิดขึ้นจริง
คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ทางการพม่าจะมีการดำเนินการต่อไปอย่างไร และในท้ายที่สุดศาลโลกจะตัดสินอย่างไร ศาลอาญาระหว่างประเทศ จะสามารถเข้ามาจัดการให้ทหารพม่าที่เกี่ยวข้องได้รับโทษบ้างหรือไม่
โดย-รศ.ดร.สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์