สธ.เผยโควิด-19คนไทยหายเพิ่ม3รายประกาศ!เป็นโรคติดต่ออันตราย

 กระทรวงสาธารณสุข เผยผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หายเป็นปกติ กลับบ้านได้อีก 3 ราย พร้อมเพิ่มช่องทางตอบข้อสงสัยคลายกังวลประชาชนที่แชทบอท หรือฝากข้อความให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ ประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย

.
นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะแพทย์ที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า วันนี้มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้เพิ่มอีก 3 ราย จากสถาบันบำราศนราดูร 2 ราย เป็นชายจีน อายุ 63 ปีและชายไทย อายุ 49 ปี จากโรงพยาบาลราชวิถี เป็นหญิงจีน อายุ 33 ปี มีผู้ป่วยยืนยันที่รักษาหายแล้ว 27 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 13 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 40 ราย
.
สำหรับความคืบหน้าการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกับกลุ่มผู้ป่วยยืนยัน 3 รายวานนี้ (26 กุมภาพันธ์ 2563) ได้แก่ คนในครอบครัว เพื่อนร่วมกรุ๊ปทัวร์ บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อนร่วมชั้นเรียน ขณะนี้ติดตามได้ครบทุกคนแล้ว โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หมายถึง ผู้สัมผัสที่มีโอกาสสูงในการรับหรือแพร่เชื้อกับผู้ป่วยประกอบด้วยผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือมีการพูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตรนาน 5 นาทีหรือถูกไอ จาม รดจากผู้ป่วยโดยไม่มีการป้องกัน เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัย ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ปิดไม่มีการถ่ายเทอากาศ เช่น ในรถปรับอากาศห้องปรับอากาศร่วมกับผู้ป่วยและอยู่ห่างจากผู้ป่วยไม่เกิน 1 เมตรนาน 15 นาที โดยไม่มีการป้องกัน ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ หมายถึง ผู้สัมผัสที่มีโอกาสต่ำในการรับหรือแพร่เชื้อกับผู้ป่วย ได้แก่ ผู้สัมผัสที่ไม่เข้าเกณฑ์ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง
.
ทั้งนี้ มีผู้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 เข้ามาที่กรมควบคุมโรคผ่านสายด่วน 1422 (30 คู่สาย) เป็นจำนวนมาก กรมควบคุมโรคจึงได้เปิดช่องทางการสื่อสารเพิ่มเติมทางแชทบอท (chat boat) ชื่อ “คร.OK” ที่สามารถตอบคำถามที่พบบ่อย หรือ ออฟฟิเชียลไลน์ ชื่อ “รู้กันทันโรค” ประชาชนสามารถเลือกใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อฟังข้อมูลอัตโนมัติ หรือฝากข้อความให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ
.
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามในประกาศโรคติดต่ออันตรายแล้วเย็นวานนี้ (26 กุมภาพันธ์ 2563) และเตรียมประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ในวันถัดไป
.
กรณีผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงควรแจ้งประวัติการเดินทางทุกครั้งเพราะการปกปิดข้อมูลประวัติความเสี่ยงประวัติการเดินทาง ไม่เป็นประโยชน์ อาจเป็นโทษ นำโรคมาติดคนใกล้ชิด เพื่อนร่วมงาน ขอให้อย่ากลัวที่จะบอกประวัติความเสี่ยง สาธารณสุขไทยมีศักยภาพเพียงพอในการดูแลรักษา แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการป้องกันการแพร่กระจายของโรคหากเรามีความเสี่ยง และมีอาการสงสัยป่วย ให้หยุดที่ตัวเรา แยกตัวออกจากผู้อื่น ป้องกันตนเอง ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ งดใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น งดใช้ขนส่งสาธารณะ ผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง หากมีความจำเป็นต้องทำงาน สามารถทำงานที่บ้านได้ โดยปรึกษากับหัวหน้างาน จดบันทึกอาการของตนเองและวัดไข้ทุกวัน

ที่มา:PR.KHONKAEN ปชส.ขอนแก่น

แสดงความคิดเห็น