เราผู้เขียนขอเริ่มทักทายสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมหาสารคามจำกัด ขณะนี้รองนายทะเบียนสหกรณ์(สหกรณ์จังหวัด)ได้ตอบหนังสือร้องเรียนของครูมหาสารคามสามคนแล้ว ครูผู้ร้องเรียนบ่นเสียงดังว่า รองนายทะเบียนสหกรณ์ดำเนินการน่าจะผิดเพี้ยนไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงตามที่ร้องเรียนไป(นายสุรพงษ์ เล็กศรัณยพงษ์ สหกรณ์จังหวัดมหาสารคาม แจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามหนังสือที่ มค 0030/226 ลงวันที่ 31 มกราคม 2563) ไปทั้ง 6 ประเด็น เราเห็นว่ารองนายทะเบียนสหกรณ์ต้องตอบคำถามให้กระจ่างสมกับเป็นผู้กำกับดูแลสหกรณ์ตามมาตรา 16 (1)-(9) แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 เช่น ตัวอย่างคำตอบในเรื่องที่ 4.1 กรณีนายเศรษฐพัฒน์ แก่นผกา ที่รองฯ บอกว่า สหกรณ์มีเหตุต้องบอกเลิกกรมธรรม์ แต่เกิดจากความคาดเคลื่อนในการทำประกันบอกเลิกสมาชิกล้าช้าไป 1 วัน สมาชิกได้เสียชีวิตลง (ทายาทสมาชิกรายดังกล่าวก็ไม่ติดใจใดๆกับสหกรณ์และไปถอนแจ้งคำร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองมหาสารคามแล้ว) ขอถามท่านด้วยความเคารพว่า ทำไมท่านไม่ไต่สวนเรื่องทำประกันที่เป็นปัญหาตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 16(1)-(9) 1. สหกรณ์ต้องบอกเลิกกรมธรรม์ (เขาทำไม่ถูกต้องตามกฎหมายใช่หรือไม่) 2. แต่เกิดความคาดเคลื่อนในการบอกเลิก(เพราะอะไร ใช่เรื่องกฎหมายใช่หรือไม่) 3. ทำไมการลงนามพยานหลักฐานต้องให้ผู้ใหญ่บ้านลงนามด้วย(กลัวทายาทติดใจในการดำเนินคดีต่อไปหรือไม่) 4. ใครรวบรวมเงินมาจ่ายเยียวยาให้แก่ทายาทสมาชิก (เขาเหล่านั้นทำประกันฯกันเอง ไม่ทำกับบริษัทประกันฯใช่หรือไม่) 5. สหกรณ์จังหวัดมหาสารคามท่านทราบหรือไม่ว่า (1) เคยมีปัญหาการทำประกันชีวิตให้กับครูจนคณะกรรมการทั้งคณะต้องถูกปลดออกจากตำแหน่ง(คำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ที่ 7/2560) มาแล้ว (2) ท่านทราบหรือไม่ว่าที่สหกรณ์ฯบอกเลิกกรมธรรม์เพราะมีครูผู้กู้แล้วได้ทำประกันชีวิตกว่า 3,000 คน และมีบางคนเท่านั้นที่บริษัทประกันภัยรับรอง (3) ครูผู้กู้ทุกคนต่างมีหลักฐานสำคัญเสียค่าเบี้ยประกันรายละ 4,200 บาท(ใบสำคัญรับเงิน) (4) คณะกรรมการสหกรณ์ฯ เคยนำเงินจาก 3 กองทุนกว่า 126 ล้านบาทไปทำประกันปลอมกับบริษัทจดทะเบียนค้าพืชผลการเกษตร ศาลชั้นต้นตัดสินให้คณะผู้รับผิดชอบมีความผิด แต่คณะกรรมการดำเนินการ 15 คนในชุดปัจจุบันกลับไม่ใส่ใจยื่นขอบังคับคดีต่อศาลเพื่อป้องกันการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินตามข้อเสนอของสมาชิก เหมือนกับมีวาระซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่ ฯลฯ และเรื่องอื่นๆ อีกจำนวนมาก
และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นจำกัดข้อมูลจากอีสานบิซ(29พฤศจิกายน 2562) รายงานเพิ่มเติมจากยักยอก ฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงิน 431 ล้านบาท และนำเข้าบัญชีนายเอกราช ช่างเหลานักการเมือง ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ 396 ล้านบาทมีว่า งานนี้ยังไม่ได้รวมคดีแชร์ลอตเตอรี่อีกหลายร้อยล้านบาทของบริษัทหนึ่ง(ใน5เสือสลากออมสิน)ที่ถูกคนในดีเอสไอสั่งระงับการสอบสวนกรณีแชร์ลอตเตอรี่ไว้ก่อน(ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าทำไมจึงมีคนเกือบร้อยคนถูกศาลสั่งจำคุกจาก 13 สหกรณ์ครูเท่านั้น) และยังเพิ่มข้อกังขามากขึ้นเมื่อเครือข่ายทนายความเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(นายคุ้มพงษ์ ภูมิภูเขียว) กล่าวโดยสรุปว่า ใครจะต้องรับผิดชอบทางคดีแพ่งและคดีอาญาบ้าง และว่า เงินก้อนแรกที่เบิกไป 700 ล้านบาทจากบัญชีหลักต้องสอบถามว่าเงินตรงนี้ไปไหน หากชี้แจงว่านำไปค้ำประกัน(แชร์)ลอตเตอรี่ ผู้ตรวจสอบ
บัญชีเอกชนอาจไม่มีอำนาจหน้าที่ไปห้ามปราม เพราะผู้มีอำนาจหน้าที่คือนายทะเบียนสหกรณ์ แต่หลังจากนั้นนายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจออกคำสั่งห้ามได้ และว่า การเบิกเงินหมุนเวียนเข้าออกตลอดในปี 2555-2556 (เราใช้คำว่าโอนกันมั่ว) บางช่วงยอดเงินฝากพุ่งไปถึง 1,900 ล้านบาท (ดังนั้น)ต้องไปดูองค์ประกอบ ประธานและกรรมการสหกรณ์ ผู้จัดการ ผู้สอบบัญชีเอกชน ผู้ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ รวมไปถึงผู้แทนสมาชิกอีกกว่า 300 คน รวมทั้งนายทะเบียนสหกรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ใครรู้เห็นเป็นใจและมีส่วนในการยักยอกทรัพย์ การโอนออกเข้าบัญชีใครบุคคลนั้นถือว่ามีส่วนร่วมในการกระทำผิด และพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอาญามาตรา 157 ในส่วนของกรรมการสหกรณ์ไม่เข้าข่ายความผิดในมาตรา 157 ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีนี้เท่าที่ทราบมีการเบิกถอนเงินหลายครั้งถือว่าเป็นคดีเดียวกันแต่เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ เวลาลงโทษจะเป็นแต่ละกรรมไป.
มาในการประชุมใหญ่ประจำปี 2562 เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นี้ สหกรณ์ฯขอนแก่น นายอนุศาสตร์ สอนศิลพงศ์ ประธานสหกรณ์ฯครูขอนแก่น(ได้รับการสรรหาแบบไร้คู่แข่ง) ได้แถลงข่าวเรื่อง “ข้อเท็จจริงเงินโบนัส” ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 โดยอ้างข้อบังคับสหกรณ์ข้อ 28 การจัดสรรเงินโบนัสไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ ทำไมสหกรณ์ฯครูขอนแก่นจัดสรรกำไรมากกว่าสหกรณ์อื่นตามที่สมาชิกข้องใจ(เราผู้เขียนก็คิดว่าเช่นนั้นตั้งสูงยิ่งมากกว่าสหกรณ์ครูฯอื่นทั่วประเทศ) การจัดโบนัสแบ่งดังนี้ คณะกรรมการดำเนินการ 15 คน เจ้าหน้าที่และลูกจ้าง 69 คน ผู้แทนกรรมการ 30 คน ผู้ตรวจสอบกิจการ 5 คน ผู้แทนสมาชิก(ผู้ลงมติให้จ่ายหรือไม่) 390 คน ที่ปรึกษาฯ 7 คน หน่วยงานหักเงิน 17 หน่วย รวมเกี่ยวข้อง 533 คน เราผู้เขียนเห็นว่า ผู้แทนสมาชิก 390 คนเป็นผู้ลงมติใน พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ.2542 ไม่ได้เขียนไว้ แต่ในพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 เขียนไว้ในมาตรา 28 ในกรณีที่จะมติเรื่องใด ถ้าส่วนได้เสียของกรรมการหรือสมาชิกของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ผู้ใดขัดกับประโยชน์ได้เสียของสมาคม กรรมการหรือสมาชิกของสมาคมผู้นั้นจะออกเสียงลงคะแนนเสียงในเรื่องนั้นมิได้ เราคิดว่าเรื่องนายทะเบียนสหกรณ์น่าจะออกระเบียบฯ นี้เรื่องการลงมติในประเด็นโบนัสสมาชิก(ถ้าเขาจะลงมติรับเงินโบนัสเองตามนายอนุศาสตร์ฯ) หรือผู้แทนสมาชิก(ถ้าเขาจะลงมติรับเงินโบนัสเองเหมือนสหกรณ์ฯขอนแก่น)ตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 16 (1)…และกฎหมายอื่น และอาจใช้มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ด้วยเพื่อให้เป็นไปตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการขัดกันแห่งประโยชน์(conflict of interest ) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 84 (เห็นบทบาทสุดยอดของผู้แทนสมาชิกหรือยังครับ)
เรามองปรากฏการณ์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นจำกัดว่า ดูเหมือนพลังกำลังกลุ่มและระบบติดตามเรื่องการทุจริตเอาจริงเอาจังของฝ่ายสมาชิกครู(ฝ่ายเปิดโปง) กับฝ่ายตรงข้ามกรรมการทั้งเก่า/ใหม่ และผู้แทนสมาชิกแล้ว เห็นว่าคงจะสู้กับกลุ่มอิทธิพลของพรรครัฐบาลหัวโจกอดีตผู้จัดการและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) และบางคนมากด้วยที่เป็นผู้แทนสมาชิก ได้ยากยิ่ง ในที่สุดถ้าไม่ชนะด้านกฎหมาย(ฟ้องคดีและบังคับคดี) เราแทบจะไม่เห็นหนทางชนะทางอื่นได้เลย
ฉบับนี้เราจะเสนอเรื่อง “ผู้ริเริ่มก่อการจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ที่ไม่ดี 4 แห่งในจังหวัดเลยคือ สหกรณ์บริการผู้ค้าล็อตเตอรี่ไทเลย จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเลยจำกัด สหกรณ์ครูกรมสามัญศึกษาจังหวัดเลยจำกัด และสหกรณ์การเกษตรวังสะพุง จำกัด โดยเฉพาะการจัดตั้งและพัฒนาการด้านความสามานย์ของทุน (หุ้นในสหกรณ์เหลือมูลค่าเพียงเล็กน้อย) มีเริ่มที่สหกรณ์บริการผู้ค้าล็อตเตอรี่ไทเลยจำกัด นายทะบียนฯได้จดทะเบียนข้อบังคับฯ ไว้ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2553 (โดยนักวิชาการชำนาญการรักษาราชการแทนสหกรณ์จังหวัดเลย) เพียงวันเดียวของการประชุมใหญ่สมาชิกเพียง 1 วัน(ทำไมทำได้รวดเร็วมากอย่างน่าฉงน!) จากรายงานการประชุมสามัญประจำปีเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 เราจะได้เห็นบทบาทในการคุมบังเหียนของสหกรณ์บริการฯ แห่งนี้ เริ่มจากนายก๊ก ดอนสำราญ ประธานฯ และนายสุรศักดิ์ ยศปัญญา ผู้จัดการ หลังจากเดินสายสร้างเครือข่ายในสหกรณ์หลายแห่ง(ถูกสอบสวนฯ 14 แห่งส่งฟ้องศาล 13 แห่ง ยกเว้นของขอนแก่น เงินหายไป 431 ล้านบาทจะช่วยหาเส้นทางการเงินจำนวนมากจนคาดคิดไม่ถึง) แล้วได้มาเปิดสหกรณ์บริการฯ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 (ณ ห้องประชุมของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเลยฯ) จากรายงานการตรวจสอบกิจการประจำปี ผู้ตรวจสอบกิจการสองคนรายงานว่าสมาชิกได้พุ่งขึ้นจากต้นปี 86 คน แต่มีเพิ่มขึ้นในปีรุ่งขึ้นถึง 3,378 คน สหกรณ์บริการฯแห่งนี้ มีผลตรวจสอบพบอีกว่า มันเริ่มเกิดปัญหาอย่างรุนแรงและรวดเร็วสุดขีดจากด้านการลงทุน โดยเฉพาะ (1) เงินให้กู้เพื่อธุรกิจรับขึ้นเงินรางวัลกับบริษัทหยาดน้ำเพชร จำกัดเป็นเงิน 369 ล้านบาท(ในบทความนี้จะปัดหมด) และ(2) เงินให้กู้แก่บริษัทหยาดเพชรจำกัดเพื่อเป็นเงินค้ำประกันคู่สัญญาผู้แทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยฝากไว้ที่ บจม.ธนาคารกรุงไทย สาขาราชดำเนิน 374 ล้านบาท โดยเฉพาะเงินกู้ตาม(1) นั้นถือเป็นความเสี่ยงควรจัดทำสัญญาให้รัดกุมและระมัดระวัง
และจับตายเห็นชัดเป็นๆ เมื่อผลการตรวจสอบของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2555 สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 มกราคม 2555 ผู้สอบบัญชีรายงานว่า เนื่องจากการนำเงินไปลงทุนกับบริษัทหยาดเพชรจำกัด ซึ่งเป็นการนำเงินไปลงทุนไม่เป็นไปตามมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และสหกรณ์บริการฯ มีการรับฝากเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเลยจำกัดโดยจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ต่อปี และสหกรณ์บริการฯ ยังมีภาระในการจ่ายต่อตอบแทนจากการทำบันทึกข้อตกลงเป็นพันธมิตรทางการเงินของสหกรณ์บริการฯ กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเลยฯ ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดเงินฝากคงเหลือ ซึ่งมีค่าตอบแทนเกิดขึ้นในปีบัญชีนี้จำนวน 41 ล้านบาท ทำให้สหกรณ์บริการฯ มีผลการดำเนินงานขาดทุนจำนวน 32 ล้านบาท และมีส่วนขาดแห่งทุน 32 ล้านบาท ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของสหกรณ์บริการฯ ดังนั้น จึงยังไม่สามารถแสดงความเห็นต่องบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดนี้ได้
ในเดือนพฤศจิกายน 2555 ข้อสังเกตของเราเห็นว่า มันมีพิรุธที่ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับใน 3 เรื่อง ความเป็นพันธมิตรทางการเงินสองสหกรณ์ที่มีประธานคนเดียวกัน การเลือกตั้งคณะผู้ตรวจสอบกิจการโดยที่ประชุมใหญ่ 3คนได้แก่ นายมานิต พันธุ์โอภาส นายพงษ์ศักดิ์ บุญพรม และนายสมเชาว์ แก้ววงษา ได้เสนอข้อความสำคัญมากว่า เมื่อคบสัญญาในวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 ก็ควรหยุดทำธุรกรรม(จำหน่ายสลากกินแบ่งฯ)ดังกล่าวเสีย
และสำคัญที่สุดเห็นจะเป็นกลุ่มหากินกับผู้แทนจำหน่ายสลากกินแบ่งฯ คือการเลือกตั้งกรรมการดำเนินการได้พ้นจากตำแหน่งครบวาระ 8 ราย และน่าจับตาเฉพาะผู้ลาออกทั้งสามคนรวม 11 คน ได้ทั้ง 11 คนโดยไม่มีการลงคะแนนสรรหา และไม่มีการสมัคร แต่ใช้มติที่ประชุมใหญ่ให้ความเห็นชอบและรับรองผู้ที่ได้รับการสรรหาทุกเขตสรรหา
ในปีนั้น ยังมีรายงานแจ้งผลการต่อสู้ฝ่ายตรงข้ามระหว่างกรรมการและผู้แทนสมาชิก(ฝ่ายหนึ่ง) กับผู้ตรวจสอบกิจการสามคน คณะผู้ตรวจการสหกรณ์(กรมส่งเสริมสหกรณ์) ทั้งสี่คน และสำนักตรวจบัญชีสหกรณ์เลย(อีกฝ่ายหนึ่ง) แล้วจะจบลงคำพิพากษาของศาลอาญาคดีหมายแดงที่ อ.862/2561 อันสะท้อนได้อย่างดีมากถึงความสามานย์ของทุนเล่ห์เหลี่ยมของบริษัทเอกชนและชั้นเชิงของกรรมการเจ้าหน้าที่สหกรณ์ และความแก้ปัญหาล่าช้าไม่ทันกาลของผู้ตรวจสอบกำกับจากภาครัฐ
ในที่สุดแรงกิเลสจากเงินบาปก็ทำให้ผีทั้งหลายต่างมั่วโม่แป้งได้แบบไม่สนใจความเป็นไปในอนาคตอันใกล้นี้.
(ติดตามตอบ 7 ความล้มสลายของหัวโจกแชร์ลอตเตอรี่เลย)
โดย-สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์