วัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

การสร้างวัฒนธรรมแบบพลเมืองช่วยขจัดความเหลื่อมลำ้ทางสังคมได้

รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด, น.ส.วรัญญา ศรีริน

บทความเรื่อง วัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมืองกับการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ของ รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด และ น.ส.วรัญญา ศรีริน แห่งคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีเนื้อหาที่นำเสนอให้เห็นถึงแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำจากการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ ผ่านการยกระดับประชาชนให้มีส่วนร่วมทางการเมือง หรือเรียกสั้นๆ ว่า “การสร้างพลเมือง”

พร้อมกับวิพากษ์วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไทยๆ ที่เป็นสาเหตุหลักของความเหลื่อมล้ำนำสู่ความขัดแย้งในที่สุด มาเปรียบเทียบกับบทเรียนเชิงประจักษ์ระหว่างวัฒนธรรมการร่วมกลุ่ม เช่น ชมรม สมาคม มูลนิธิ ฯลฯ ที่สามารถสร้างความไว้วางใจจากคนหลายภาคส่วนในสังคม ผ่านการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะแบบอิตาลีทางตอนเหนือนั้นพบว่า มีความเหลื่อมล้ำน้อยกว่าวัฒนธรรมทางการเมืองแบบอิตาลีทางตอนใต้ที่ดูจะนิ่งเฉยเฉื่อยชาต่อกิจกรรมสาธารณะของสังคม และแตกต่างกันที่มีความเป็นปัจเจกสูง ไม่ใคร่ดี ใคร่ร้าย กับเรื่องส่วนรวม

เนื้อหาเริ่มแรกของบทความนี้ได้นำข้อเขียนของอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ มาร่วมฉายภาพให้เห็นว่า “มนุษย์เราเกิดมามีร่างกายและปัญญา สมองไม่เสมอกัน เมื่อเริ่มต้นก็เกิด ความอยุติธรรมเสียแล้ว เช่นนี้ก็เป็นหน้าที่ของสังคมที่จะขจัดปัดเป่าความไม่เสมอภาคนั้นให้น้อยลงที่สุด” (ป๋วย อึ้งภากรณ์, 2512)

ก่อนจะเชื่อมโยงให้เห็นถึง ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยที่มีความสัมพันธ์กับประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ โดยในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ก่อให้เกิดผลเสียอย่างมากต่อประโยชน์สาธารณะ ทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำ และเกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมจากภาครัฐ เช่น ความไม่เป็นธรรมด้านเศรษฐกิจ ความไม่เป็นธรรมด้านกฎหมาย ความไม่เป็นธรรมด้านการจัดสรรงบประมาณตามนโยบายของรัฐ ตลอดจนกลไกการบริหารประเทศโดยรวม เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ย่อมส่งผลเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วย ซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีเสถียรภาพนั้น ได้ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นในสังคม ปัญหาดังกล่าวหากไม่มีการแก้ไขที่ถูกวิธี อาจนำไปสู่การเกิดความไม่พอใจ จนเกิดแรงต้านจากประชาชนและทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองได้ในที่สุด (สถาบันพระปกเกล้า, 2562)

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 88 ปีบนเส้นทางประชาธิปไตยของไทย ได้มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะเปลี่ยนผ่านให้ประชาธิปไตยเกิดความยั่งยืนและสถาพร นำมาสู่ความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันของสังคมไทย โดยมีการปรับแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

ดังเช่น มีการบัญญัติเรื่อง การแก้ไขความเหลื่อมล้ำไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในมาตราที่ 257 ว่าด้วย “การปฏิรูปประเทศด้วยการสร้างสังคมที่มีความสงบสุขเป็นธรรม และมีโอกาสทัดเทียมกันเพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำ” และมาตราที่ 258 อันมีสาระสำคัญว่าด้วย “การลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและเสริมสร้างพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู” รวมทั้งมีแผนกำหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ในส่วนที่ 4 ว่าด้วยการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม

ข้อเท็จจริงจากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อประเด็นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย หากแต่ผลลัพธ์ของการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในประเทศไทย

ปรากฏชัดเจนจากดัชนีชี้วัดการกระจายรายได้ และการถือครองทรัพย์สิน รวมถึงความเหลื่อมล้ำในการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่มีผลต่อการสร้างรายได้ เช่น ที่ดิน เงินทุน ความรู้ทักษะของแรงงาน ฯลฯ แม้ว่ากลไกตลาดภายใต้ระบบทุนนิยมจะทำหน้าที่ได้ดีในการสร้างความเจริญเติบโต และความมั่งคั่งโดยรวมให้แก่ประเทศ

แต่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นเป็นที่ประจักษ์พยานว่า เราไม่สามารถอาศัยกลไกตลาดแบบทุนนิยมในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ ดังนั้นรัฐจึงจำเป็นต้องมีบทบาทในการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ในบทความนี้ จะเริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ตามด้วยพื้นฐานวัฒนธรรมทางการเมืองไทยที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมืองกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ดังจะได้นำเสนอให้เห็นในลำดับต่อไป

สถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
ข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ จากรายงาน Global Wealth Report ของกลุ่มเครดิตสวิส ที่วิเคราะห์โดยกลุ่มธนาคาร ได้แสดงข้อมูลที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง ต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย โดยพบว่าในปี พ.ศ.2561 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประเทศที่มีค่าสูงอยู่ในอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศรัสเซีย และประเทศอินเดียหมายความว่า ประเทศไทยมีระดับความเหลื่อมล้ำที่เลวร้ายมากกว่า ประเทศอินโดนีเซีย บราซิล หรือประเทศที่มีรายได้น้อยหลายสิบประเทศทั่วโลก

จากปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยเช่นนี้ นับเป็นปัญหาเชิงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และปัญหาด้านการเมืองตามมา ถึงแม้ภาครัฐพยายามที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น แต่ทิศทางในการแก้ไขปัญหาค่อนข้างล่าช้า ประกอบกับสังคมไทยตกอยู่ภายใต้กับดักนโยบายประชานิยมมาอย่างยาวนาน จึงมีผลต่อการแก้ไขความเหลื่อมล้ำได้ไม่มาก หากภาครัฐยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำผ่านนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างจริงจัง เพื่อเปลี่ยนแปลงและจัดระเบียบทางสังคมใหม่ให้กับผู้คนในสังคมไทยมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ย่อมเกิดผลร้ายและสร้างความเสียหายให้กับสังคมและประเทศชาติเป็นอย่างมาก

ตัวอย่างสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่น่าสนใจ เช่น มีรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยในปี พ.ศ.2556 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำมีหลากหลายมิติ เช่น

มิติแรก ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้หรือการกระจายรายได้ของประเทศไทย พบว่า รายได้ยังคงกระจุกตัวอยู่กับคนกลุ่มเล็กๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนรวย ซึ่งเป็นผลให้เกิดความแตกต่างของรายได้ระหว่างกลุ่มคนรวยที่สุด และกลุ่มคนจนที่สุด โดยต่างกันมากถึง 34.9 เท่า

มิติที่สอง ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินทางการเงิน โดยสินทรัพย์ทางการเงินกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนเล็กๆ กล่าวคือ บัญชีเงินฝากที่มีวงเงินเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป มีเพียงจำนวน 111,517 บัญชี หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 0.1 ของจำนวนบัญชีทั้งหมด แต่ในขณะที่บัญชีเงินฝากขนาดเล็กวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาทมีจำนวน 84 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นร้อยละ 99.9 ของจำนวนบัญชีทั้งหมด ซึ่งทำให้เห็นระยะห่างที่ชัดเจนของฐานทรัพย์สินคนมีฐานะร่ำรวยจำนวนน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับฐานทรัพย์สินของคนส่วนใหญ่ของประเทศ

มิติที่สาม ความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดิน ความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดินในประเทศไทยนับว่าสูงมาก โดยพบว่า มีการถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดที่ดินกระจุกตัวอยู่ในคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น โดยมีสัดส่วนกลุ่มผู้ที่ถือครองที่ดินมากที่สุดร้อยละ 20 ของคนไทย คิดเป็นการถือครองที่ดินสูงถึงร้อยละ 79.9 ของพื้นที่ทั้งหมด และมีสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มผู้ถือครองที่ดินน้อยที่สุดในประเทศไทยมากถึง 325.7 เท่า

มิติที่สี่ ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา มีความเหลื่อมล้ำอย่างมากในเรื่องโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านการศึกษา ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีฐานะดีและฐานะยากจน และพื้นที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันในเขตเมือง – ชนบท และระหว่างภูมิภาค โดยเฉพาะการเข้าถึงการศึกษาในระดับปริญญาตรี โดยกลุ่มประชากร 10% ที่มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีที่สุด มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับปริญญาตรี มากกว่ากลุ่มประชากร 10% ที่มีฐานะความเป็นอยู่ด้อยที่สุดประมาณ 19.1 เท่า จึงส่งผลต่อโอกาสในการพัฒนาทักษะ อาชีพ และการสร้างรายได้มีความแตกต่างกันมากขึ้นด้วย จะเห็นได้ว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในปัจจุบัน ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่มีอยู่แล้วเลวร้ายลงไปอีก

มิติที่ห้า ความเหลื่อมล้ำคุณภาพการให้บริการสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเหลื่อมล้ำของการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แพทย์ 1 คนต้องให้บริการประชากรสูงถึง 3,918 คน ในขณะที่กรุงเทพมหานครแพทย์ 1 คน ให้บริการประชากรเพียง 1,075 คน ซึ่งแตกต่างกันเกินกว่า 3 เท่า จึงส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการที่มีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค เป็นต้น

จากตัวอย่างข้อมูลของสถานการณ์ ที่บ่งชี้สภาพความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยข้างต้น แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยซึ่งมีหลากหลายมิติ แต่เมื่อได้วิเคราะห์เชิงลึกถึงปัจจัยเชิงสาเหตุที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย จะพบว่า มีสาเหตุหลักอยู่สองประการด้วยกัน คือ ประการแรก สาเหตุเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย และประการที่สอง คือ ปัญหาเชิงวัฒนธรรมทางการเมืองและพฤติกรรมของผู้คนในสังคมไทย ซึ่งทั้งสองส่วนมีความเกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงกัน ทำให้สังคมไทยยังคงติดกับดักอยู่กับความเหลื่อมล้ำมาอย่างยาวนาน ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

1. ปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ได้เคยเสนอภาพรวมของปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งเชื่อมโยงกัน อันก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงในสังคมไทย โดยสรุปก็คือ ตัวโครงสร้างของการจัดสรรอำนาจกีดกันมิให้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึง“ทรัพยากร”หรือเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน คำว่า “ทรัพยากร” ในที่นี้มีความหมายกว้างกว่า ทรัพยากรที่จับต้องได้เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงโอกาสและพลังที่เพิ่มพูนขึ้นในการใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองด้วย คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) สรุปว่า หากไม่สามารถปรับโครงสร้างของการเข้าถึงทรัพยากรดังกล่าว ก็ไม่มีทางที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมซึ่งนับวันจะเลวร้ายยิ่งขึ้นได้ และความเหลื่อมล้ำเป็นสาเหตุแห่งการชะงักงันในเกือบทุกด้านของสังคมไทยเวลานี้
คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ยังมีความเห็นว่า ความอยุติธรรมหรือการถูกเลือกปฏิบัติ จากโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ได้สร้างสภาวะความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมกันในทุกด้าน จนทำให้อำนาจต่อรองของผู้คนต่างๆ ในสังคม ที่จะปกป้องสิทธิเสรีภาพหรือบรรลุถึงความเท่าเทียมกันเป็นไปได้ยาก โครงสร้างความอยุติธรรมหรือความเหลื่อมล้ำดังกล่าว คือ ความรุนแรงที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ และความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วทุกด้านนับเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นแกนกลาง อันก่อให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างด้านอื่นๆตามมาอีก การปฏิรูปการเมืองจึงควรจัดการกับปัญหานี้เป็นหลัก ส่วนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแหงชาติ ได้เสนอปัญหาเชิงโครงสร้างเช่นเดียวกัน อันเป็นปัญหาของระบบโครงสร้างของสังคมไทยที่เอื้อโอกาส หรือเพิ่มช่องว่างให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้น ได้แก่

1) โครงสร้างทางเศรษฐกิจไทย เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มนายทุนมากกว่ากลุ่มแรงงาน กล่าวคือ ผลประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาจากฐานของอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ผลตอบแทนของทุนจึงเป็นของผู้ประกอบการเป็นส่วนใหญ่ ส่วนค่าตอบแทนแรงงานและสวัสดิการมีเพียงเล็กน้อย จึงกลายเป็นช่องว่างระหว่างชนชั้นและรายได้ที่เห็นได้ชัดเจน

2) โครงสร้างการบริหารจัดการภาครัฐที่มีลักษณะรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง และหัวเมืองใหญ่ต่างๆ ในภูมิภาค ได้ส่งผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ระหว่างประชากรในเขตเมืองและเขตชนบท และประชากรในแต่ละภูมิภาค บริการพื้นฐานของรัฐทั้งบริการด้านการศึกษา การพัฒนาทักษะฝีมือ ด้านสาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ส่วนใหญ่มีการกระจุกตัวหนาแน่นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งเมืองใหญ่ต่างๆ

3) ระบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่ดินมีความสำคัญสูง เพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการประกอบอาชีพ และความมั่นคงในการดำรงชีวิต ปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินจึงมีความเชื่อมโยงกับปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในด้านโอกาสทางเศรษฐกิจ ที่ดินยังเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของฐานชีวิตสำหรับทุกคนและมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นจึงไม่ควรถือว่าที่ดินเป็น “สินค้าเสรี” เหมือนสินค้าทั่วไปในตลาดทุนนิยมเสรี การปล่อยให้รัฐและอำนาจทุนเข้าถือครองที่ดินอย่างไม่จำกัด นำไปสู่การสร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างใหญ่หลวง เช่น มีที่ดินจำนวนมากที่ถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าเพราะรัฐครอบครองโดยไม่ใช้ประโยชน์ หรือนายทุนบางรายถือครองที่ดินจำนวนมหาศาลเพื่อการเก็งกำไร ทำให้ที่ดินมีราคาแพงจนประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ยาก ขณะที่เกษตรกรและคนยากไร้อีกเป็นจำนวนมากไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง หรือมีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ เป็นต้น

4) ระบบกระบวนการยุติธรรมยังมีข้อจำกัดสำหรับคนจน กล่าวคือ คนจนและคนชายขอบยังไมสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างทั่วถึง เช่น การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีการดำเนินคดีที่ใช้เวลายาวนาน ทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง รวมทั้งการเน้นแบบแผน ขั้นตอนการปฏิบัติของรัฐ และการใช้ภาษาของทางราชการโดยเคร่งครัด ทำให้ยากต่อความเข้าใจของประชาชน กระบวนการดังกล่าวยังเป็นการผูกขาดอำนาจไวที่รัฐโดยไมกระจายสูชุมชน เป็นต้น

5) ระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่ขาดประสิทธิภาพ ขาดความโปร่งใส และการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ/การทุจริตคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้การดำเนินนโยบายสาธารณะและการจัดบริการสาธารณะ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพราะการจัดสรรงบประมาณบางส่วนมีการทุจริตคอร์รัปชัน งบประมาณที่นำไปใช้จ่ายไม่ตรงกับวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายที่มีความจำเป็น ขณะเดียวกันยังขาดระบบฐานข้อมูลที่ทันสมัย เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่บ่งชี้คุณลักษณะของคนจน หรือผู้ด้อยโอกาส จึงทำให้การบริหารจัดการของรัฐเข้าไม่ถึงกลุ่มคนด้อยโอกาส จนทำให้เกิดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ

โดยสรุปแล้ว จะเห็นได้ว่าปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทยดังที่กล่าวมา เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงในสังคมไทย และปัญหาเชิงโครงสร้างเช่นนี้ เป็นตัวกีดกันมิให้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียมกัน

2. ปัญหาเชิงวัฒนธรรมทางการเมืองและพฤติกรรมของผู้คนในสังคมไทย อันเป็นเรื่องของแบบแผนค่านิยม ทัศนคติ ความเชื่อ และความโน้มเอียงของบุคคลที่มีต่อระบบการเมือง แล้วในที่สุดมีผลต่อการแสดงบทบาททางสังคมการเมืองของบุคคลในสังคมนั้นๆ เช่น คนไทยมีค่านิยมยกย่องคนรวยและคนมีอำนาจ แต่ไม่ได้ตั้งคำถามว่า ทรัพย์สินเงินทองและอำนาจที่ได้มานั้นมีความสุจริตและมีความถูกต้องหรือไม่ และคนรวยก็มักไม่ช่วยคนจน หรือคนไทยมีค่านิยมและความเชื่อเรื่องการทำบุญให้กับวัด แต่ไม่พร้อมที่จะบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือสังคม หรือบริจาคเงินให้กับโครงการรณรงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะอื่นๆ โดยเฉพาะการช่วยเหลือคนยากคนจน หรือคนด้อยโอกาสต่างๆ จากค่านิยมและความเชื่อพื้นฐานเช่นนี้ ยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมไทยทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างมากและสั่งสมมายาวนาน ไม่อาจทำให้คนเชื่อได้ว่าอนาคตของตนและลูกหลานจะดีขึ้นได้

ประเด็นที่สำคัญมากกว่านั้นคือ สภาวะความเหลื่อมล้ำอย่างมากจะทำลายศักยภาพ หรือขีดความสามารถที่แฝงเร้นอยู่ของคนเราไม่ให้แสดงออกมา เพราะไม่มีโอกาสหรือไม่มีพลังเพียงพอหรืออาจเป็นเพราะเสี่ยงเกินไปที่จะริเริ่มสิ่งใหม่ ความเหลื่อมล้ำจึงทำลายทั้งศักยภาพของตัวคน กลุ่มทางสังคมต่างๆ และประเทศชาติโดยส่วนรวม การแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคมจึงต้องมุ่งปลดปล่อยพลังการผลิตของสังคม ซึ่งไม่ได้มีความหมายแต่เพียงการผลิตด้านสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเท่านั้น หากแต่รวมถึงการผลิตสิ่งที่มีคุณค่าอื่นๆ เช่น ศิลปะ วิชาความรู้ สติปัญญา และด้านจิตวิญญาณของสังคมด้วย

ในการศึกษาเรื่องวัฒนธรรมทางการเมืองของนักวิชาการนั้น ได้นำมาสู่การตั้งคำถามสำคัญที่ว่า “ประชาชนสามารถสร้างผลกระทบต่อระบบสังคมการเมืองที่พวกเขาดำรงอยู่ได้อย่างไร” (Heywood, 2007) ดังตัวอย่างการศึกษาของ Robert D. Putnam และ คณะ (1993) ที่พบว่า ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลีแถบ มิลาน และทอรีโน มีเศรษฐกิจดี การเมืองและศีลธรรมดี อันเนื่องมาจากมีการรวมตัวกันของผู้คนในรูปของกลุ่ม ชมรม สมาคม สหกรณ์ หรือการรวมตัวกันในรูปองค์กรประชาสังคมต่างๆ และการรวมตัวกันของผู้คนในรูปแบบต่างๆ ดังกล่าว ยังเป็นตัวกำหนดที่สำคัญที่สุดต่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ รวมถึงความเป็นประชาธิปไตยที่เท่าเทียม และความสงบสุขของสังคม ขณะที่อิตาลีทางตอนใต้ กลับพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญนั่นคือ แถบซิซิลีที่มีแต่ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การทุจริตคอร์รัปชันและนักเลงผู้มีอิทธิพล เป็นต้น

ในงานการศึกษานี้ยังชี้ให้เห็นว่า การรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ชมรม สมาคม หรือองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกีฬา กลุมดนตรี หรือองค์กรชุมชนอื่นๆ ที่ชักนำให้ผู้คนมาพบปะคบค้าสมาคมกันด้วยความสมัครใจนี้จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม ก่อให้เกิดความไววางใจต่อกัน (trust) และเกิดความช่วยเหลือเกื้อกูลและความร่วมมือกัน ลักษณะความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้เรียกว่า “จารีตแบบพลเมือง” (civic tradition) และความไว้วางใจต่อกัน และความช่วยเหลือกันเช่นนี้ Putnam เรียกว่าเป็น “ทุนทางสังคม” (social capital) อย่างหนึ่งแล้ว ในที่สุด Putnam ไดข้อสรุปที่สำคัญของการศึกษาว่า “ความมั่งคั่งไมไดเป็นเหตุให้เกิดชุมชนที่เข้มแข็ง แต่สังคมหรือชุมชนที่เข้มแข็งต่างหากที่ก่อให้เกิดความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนขึ้น” อันสะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมทางการเมืองมีผลต่อระบบสังคมเป็นอย่างมาก

ในตอนหลังการศึกษาเรื่อง วัฒนธรรมทางการเมืองได้นำไปสู่การพัฒนาแนวคิด เรื่อง “การมีความรับผิดชอบของพลเมือง” (Sense of civic Responsibility) อันทำให้ระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยมีความยั่งยืนเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็เกิดความคิดของผู้คน ในเรื่องความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงแนวคิดเรื่อง “ประชาสังคม” เสียใหม่ ในความหมายและขอบเขตของการมีกลุม ชมรม หรือสมาคมที่มีการรวมตัวกันอย่างอิสระ ซึ่งหมายความรวมถึงองค์กรธุรกิจ กลุ่มผลประโยชนตางๆ และชมรม สมาคม สโมสรต่างๆ ซึ่งแท้ที่จริงแลว แนวความคิดเหล่านี้ก็สามารถสืบย้อนไปไดถึงแนวความคิดของ Alexis de Tocqueville ในศตวรรษที่ 19 ที่ไดอธิบายถึงการสร้างสถาบัน อันเกี่ยวของกับความเสมอภาคของมวลมนุษย์ (egalitarian institutions) และการสร้างประชาธิปไตยในทางปฏิบัติของผู้คนในการเขาร่วมเป็นกลุ่ม ชมรม หรือสมาคมของพลเมือง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ เราจึงเห็นได้ว่าปัญหาเชิงวัฒนธรรมทางการเมือง และพฤติกรรมของผู้คนในสังคมมีความสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นอย่างมาก และประเด็นปัญหาเรื่องนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้นในการอภิปรายตามหัวข้อลำดับต่อไป

พื้นฐานวัฒนธรรมทางการเมืองไทยที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ในสังคมไทยมีพื้นฐานวัฒนธรรมทางการเมืองของผู้คนหลายประการ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาด้านการเมือง และมีผลกระทบเชิงโครงสร้างต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย เช่น

1. วัฒนธรรมทางการเมืองแบบอำนาจนิยม กล่าวคือ คนไทยส่วนใหญ่ชอบการใช้อำนาจเด็ดขาด เคารพเชื่อฟังและอ่อนน้อมต่อผู้มีอำนาจ รวมทั้งมอบอำนาจและความรับผิดชอบในทุกสิ่งทุกอย่างไว้ที่ผู้นำ ทั้งนี้จะเห็นได้จากการปกครองในทุกระดับ นับแต่ครอบครัวไปจนถึงระดับชาติ จะนิยมการใช้อำนาจบังคับให้มีการปฏิบัติตาม มากกว่าการใช้หลักการและเหตุผล หรือการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้นำมักนิยมรวบอำนาจไว้กับตัวเอง การทำงานจึงมีลักษณะสั่งการจากเบื้องบนลงมา มากกว่าจะมีการริเริ่มจากเบื้องล่าง ส่วนผู้น้อยจะต้องเกรงกลัว เคารพเชื่อฟังและอ่อนน้อมยอมจำนนต่อผู้มีอำนาจ มีหน้าที่รับคำสั่งและปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น ไม่นิยมการโต้แย้ง ไม่ว่าคำสั่งนั้นจะชอบธรรมหรือไม่
ดังจะเห็นได้จากวัฒนธรรมทางการเมืองแบบอำนาจนิยม ที่มีในระบอบการปกครองในทุกระดับที่มักรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง โดยมีผู้บังคับบัญชาในระดับสูง เช่น ผู้อำนวยการระดับกรม กอง สำนัก เป็นผู้มีอำนาจสั่งการจากเบื้องบนลงสู่เบื้องล่าง ยิ่งส่งเสริมการเกิดโครงสร้างการบริหารจัดการภาครัฐ ที่มีผู้บังคับบัญชาสั่งการไว้ที่ส่วนกลาง และหัวเมืองใหญ่ๆ ในภูมิภาคมากขึ้น จากปรากฏการณ์เช่นนี้ ยิ่งทำให้การบริการโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในการดำเนินการของรัฐ เช่น ด้านสาธารณสุข และด้านการศึกษา ไม่สามารถกระจายอำนาจการบริหารลงสู่ชุมชนท้องถิ่นได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของสังคมขึ้น

2. วัฒนธรรมทางการเมืองที่ผู้คนเฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้นหรือสนใจต่อกิจกรรมทางการเมือง กล่าวคือ คนไทยส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสนใจกิจกรรมทางการเมือง หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ โดยทั่วไปจะพอใจในสถานภาพเดิมที่เป็นอยู่ของตน และยอมรับสภาพที่เสียเปรียบไม่เป็นธรรมของตนเอง โดยถือว่าเป็นเรื่องของบุญกรรม โชคชะตาหรือวาสนา ดังเช่น ภายใต้ระบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่มีความสำคัญสูงต่อปัจจัยด้านการประกอบอาชีพเกษตรกรรม อันเป็นอาชีพหลักของผู้คนในสังคมไทย และเป็นพื้นฐานในการสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตนั้น เมื่อประชาชนพบว่า มีการบุกรุกที่สาธารณะบางแห่ง แต่ประชาชนในท้องถิ่นก็มิได้เกิดความกระตือรือร้น เพื่อเรียกร้องที่ดินอันเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชนท้องถิ่นตนกลับคืนมา หรือพยายามเข้าไปมีอำนาจในการตรวจสอบการใช้ที่ดินของรัฐใดๆ ทำให้ประชาชนไม่ได้ใช้สิทธิอันชอบธรรมในการอนุรักษ์ทรัพยากรของส่วนรวม และบางครั้งเป็นการเปิดโอกาสให้แก่กลุ่มนายทุน ข้าราชการระดับสูง และนักการเมืองบางรายเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ครอบครองที่ดินสาธารณะโดยมิชอบ และสร้างความร่ำรวยให้กับกลุ่มตนอันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยด้านการถือครองที่ดิน

3. วัฒนธรรมแบบเจ้าขุนมูลนาย และการจัดลำดับฐานะสูงต่ำในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล วัฒนธรรมทางการเมืองของสังคมไทย มีการจัดลำดับฐานะความสัมพันธ์สูงต่ำระหว่างบุคคล และยอมรับความไม่เท่าเทียมกัน จึงมักให้ความสำคัญกับเจ้านายหรือผู้มีอำนาจมากกว่า นับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนผู้มีรายได้น้อย และคนร่ำรวยมีทรัพย์สิน เช่น ผู้มีอำนาจสามารถเข้าถึงการให้บริการของรัฐมากกว่าผู้มีรายได้น้อย และระบบเจ้าขุนมูลนายของข้าราชการก็มักเอื้อประโยชน์ หรือให้ความสำคัญกับคดีความของผู้มีอำนาจ มากกว่าคดีความของประชาชนทั่วไป อันเป็นค่านิยมที่ข้าราชการจำนวนมากมีแนวโน้มสนใจที่จะรับใช้ผู้ใหญ่ จึงทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยขาดที่พึ่งและมักเสียเปรียบให้กับผู้มีอำนาจอยู่เสมอ อันเป็นบ่อเกิดของความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยขึ้น

4. วัฒนธรรมการไม่ชอบการรวมกลุ่ม จากความรักในอิสระ มีผลทำให้คนไทยไม่ชอบการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม องค์กร สมาคมเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่น หรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมส่วนรวม ดังนั้นการรวมกลุ่มหรือการจัดตั้งองค์กรทางการเมืองขึ้นมาเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในระดับกว้าง เพื่อต่อสู้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสังคมในประเด็นของการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงเพื่อวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาของสังคมส่วนรวมด้านอื่นๆเหมือนดังเช่นหลายประเทศในตะวันตกจึงเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก และจากความรักในอิสระยังส่งผลต่อความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมของคนไทยที่น้อยไปด้วย เมื่อมีการรวมตัวกันแก้ไขปัญหาของสังคมส่วนรวมน้อย ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากยิ่งขึ้น ดังเช่น กรณีเห็นได้ชัดจากการศึกษาของ Robert D. Putnam ที่ผ่านมา เป็นต้น

โดยสรุป พื้นฐานของวัฒนธรรมทางการเมืองไทยดังที่กล่าวมาแล้ว เช่นวัฒนธรรมทางการเมืองแบบอำนาจนิยม วัฒนธรรมทางการเมืองแบบเฉื่อยชาไม่สนใจต่อกิจกรรมทางการเมืองหรือปัญหาของสาธารณะ วัฒนธรรมแบบเจ้าขุนมูลนายและการจัดลำดับฐานะสูง – ต่ำในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และการไม่ชอบรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา ล้วนมีส่วนเอื้อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมทั้งสิ้น

การสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมืองกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ในอดีตที่ผ่านมาเรา ได้พยายามเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ระบบ และสถาบันทางการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่ค่อยไดคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานทางด้านสังคมและวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

การมุ่งปลูกฝัง “วัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง” (civic culture) ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนในสังคม จึงทำให้ประชาธิปไตยของไทยล้มลุกคลุกคลานตลอดมา จะเห็นได้ว่า การปฏิรูปการเมืองที่ถูกต้องคือ ต้องทำให้คนไทยทุกคนมีการปรับปรุงแก้ไขทัศนคติ ค่านิยม ระบบความคิดความเชื่อพื้นฐาน และพฤติกรรมของตนเอง เพื่อให้หลุดพ้นออกจากความเชื่อ และการยึดมั่นอยู่กับวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมที่ฝังรากลึกมานาน เพราะสภาพการณ์ดังกล่าวนี้ ย่อมไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและมีความเท่าเทียมกัน แต่ทั้งนี้ต้องมีองค์กรและสถาบันต่างๆ ที่ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดวัฒนธรรมทางการเมืองให้แก่ผู้คนในสังคม อันได้แก่ ครอบครัว ชุมชน สถาบันทางการศึกษาทุกระดับ สถาบันศาสนา องค์กรภาคประชาสังคม สื่อมวลชน สถานที่ทำงาน หน่วยงานของรัฐบาล ผู้นำชุมชน และผู้นำทางการเมืองที่เป็นแบบอย่างที่ดี ที่จะต้องเข้ามามีส่วนช่วยในการทำหน้าที่ปลูกฝัง “วัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง” พร้อมด้วยการสร้าง “จิตสำนึกแบบพลเมือง” (Civic Consciousness) ให้เกิดขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาประชาธิปไตยไปได้ อันจะทำให้สังคมไทยมีประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพมากขึ้น และหลุดพ้นจากวงจรแห่งความชั่วร้ายและความเหลื่อมล้ำทางสังคม ดังที่ปรากฏอยู่

นักวิชาการไทยกล่าวว่า การสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมืองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ถึงแม้นจะต้องใช้เวลานาน แต่ทว่ามีความจำเป็นและมีความสำคัญยิ่ง เพราะวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมืองถือเป็นรากฐานสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคมการเมือง โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ต้องผนึกกำลังร่วมกันแก้ไข เพราะฉะนั้นการจะเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อพื้นฐานของผู้คนในสังคมไทยที่มีอยู่ดั้งเดิม ในลักษณะของวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า (subject political culture) ที่ประชาชนมักเป็นผู้รอรับคำสั่งจากฝ่ายรัฐเพียงอย่างเดียว และมักมีส่วนร่วมน้อยในการแก้ไขปัญหาสาธารณะให้เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่ หรือวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมืองขึ้นได้นั้น จะต้องค่อยๆ ดำเนินการและต้องปลูกฝังจากทุกภาคส่วนในสังคม

มีผลงานการศึกษาวิจัยจำนวนมาก พบว่า กระบวนการถ่ายทอดวัฒนธรรมทางการเมืองของสถาบันทางสังคมต่างๆ มีอิทธิพลต่อการปลูกฝังวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่งให้เกิดขึ้นแก่สมาชิกในสังคมได้ ดังนั้น หากเราต้องการพัฒนาให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยมีความเสมอภาค และสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ สถาบันที่เป็นตัวแทนต่างๆในสังคม (agents) จะต้องมีบทบาทสำคัญในการอบรมกล่อมเกลา ให้คนเรายึดมั่นในหลักการปกครองของระบอบประชาธิปไตยที่มีความเสมอภาคและความเท่าเทียมดังกล่าว

ในอดีตถึงแม้ว่าจะมีบทบัญญัติทางกฎหมาย ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่ขยายความถึงบทบาทของประชาชน จากที่เคยเป็นเพียง “ผู้รอคอยดู” มาสู่การ “เป็นผู้มีส่วนร่วม” ได้ทำให้ประชาชนกลายเป็นพลเมืองอย่างเต็มรูปแบบ หรือ แม้กระทั่งในปัจจุบันกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน พ.ศ.2560 ที่รับรองสิทธิของประชาชน เช่น สิทธิของประชาชนที่จะมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในกระบวนการกำหนดนโยบาย ออกกฎหมายที่จะมีผลกระทบต่อตัวเอง แต่ประชาชนเองกลับมิได้ตอบสนองสิทธิอันพึงมีเท่าที่ควร เหตุเพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเพียงพอต่อหน้าที่ความเป็นพลเมือง

อันเนื่องมาจากในอดีตที่ผ่านมายังไม่เคยมีการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาพลเมือง หรือมีการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่อย่างครอบคลุม ครบถ้วนทุกมิติ เพราะฉะนั้นการจะมุ่งปลูกฝังค่านิยมวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่จำเป็นต้องปลูกฝัง กล่อมเกลาบ่มเพาะในทุกมิติและทุกภาคส่วนของสังคม อันจะเป็นการสร้างคุณค่าใหม่ให้เกิดขึ้นกับทางสังคม ซึ่งสามารถดำเนินการได้ ดังต่อไปนี้

1) การอบรมบ่มเพาะในระดับสถาบันครอบครัว ต้องให้พ่อแม่มีบทบาทสำคัญในการบ่มเพาะจิตสำนึกความเป็นพลเมืองให้กับเยาวชนตั้งแต่วัยเยาว์ โดยการบ่มสอนให้รู้จักคิดวิเคราะห์ ตระหนักถึงปัญหาของสังคมการเมืองว่า เป็นปัญหาที่สำคัญของทุกคนและต้องร่วมกันแก้ไข และการบ่มสอนให้รู้จักเคารพสิทธิ รักความเป็นธรรมและความเท่าเทียมกันของสมาชิกในสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากได้รับการอบรมบ่มเพาะเป็นเวลานาน จะกลายเป็นค่านิยมพื้นฐานในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้ในระยะยาว

2) การเปิดสอนวิชาวัฒนธรรมแบบพลเมืองในสถาบันการศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ระดับโรงเรียนจนถึงสถาบันอุดมศึกษา เพราะสถาบันการศึกษามีครูผู้สอนที่ช่วยถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ความเป็นพลเมืองให้สามารถเข้าใจได้ง่าย ในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้างพลเมืองแบบใหม่ จะมีการนำหลักสูตร “Civic Education” มาใช้ เช่น ในประเทศเยอรมันและอิตาลี ซึ่งการจะสร้างความเข้าใจให้กับผู้คนในสังคมได้ จำเป็นต้องพึ่งพาระบบการศึกษาเป็นบทบาทกลางในการทำหน้าที่ให้เกิดการเรียนรู้ความเป็นพลเมืองอย่างยั่งยืน นอกเหนือจากสองประเทศดังกล่าว ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน มีการจัดการเรียนการสอนวิชา “วัฒนธรรมแบบพลเมือง” ในหลายโรงเรียน ดังนั้นหากสังคมไทยต้องการสร้างวัฒนธรรมแบบพลเมืองให้เกิดขึ้นกับผู้คน จำเป็นต้องใช้ระบบการศึกษาในการส่งเสริมและสนับสนุน แต่ทั้งนี้การสร้างพลเมืองแบบใหม่ต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยเป็นสำคัญด้วย

3) การใช้ช่องทางสื่อสารมวลชน (Social Media) เพื่อช่วยปลูกฝังวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมืองให้เกิดอย่างต่อเนื่อง ดังเช่น การใช้สื่ออินเทอร์เน็ตอย่างมีส่วนร่วม ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม หรือประเด็นปัญหาสังคมการเมืองอื่นๆ เพราะอินเตอร์เนตมีความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยไร้ข้อจำกัดเชิงภูมิศาสตร์ และสามารถรวมกลุ่มคนของสังคมขนาดใหญ่เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมชุมชนสังคมที่มีความสนใจร่วมกัน อันจะเกิดการรวมตัวกันเพื่อสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมได

จะเห็นได้ว่าในสังคมประชาธิปไตยการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่ หรือวัฒนธรรมแบบพลเมือง (civic culture) จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมาก การสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่ในสังคมประชาธิปไตย ยังหมายถึงการกำหนดค่านิยมใหม่ทางการเมือง เพื่อนำไปสู่ความเป็นสังคมประชาธิปไตยที่มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน โดยต้องมีลักษณะองค์ประกอบสำคัญดังนี้

1) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่ ต้องทำให้เกิดการปฏิบัติการทางการเมืองร่วมกันด้วยความสมานฉันท์ และมีการส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และกำหนดความเป็นไปเรื่องราวทางสังคมและการเมืองให้มากขึ้น

2) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่ จะต้องทำให้เกิดค่านิยมใหม่ของผู้คนที่มุ่งไปสู่การรวมตัวกันเป็นกลุ่ม สมาคม หรือองค์กร แล้วจะต้องทำให้เกิดแนวคิดหรือแนวทางปฏิบัติ ที่ทำให้ค่านิยมพื้นฐานเรื่องการสร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมได้ถูกนำไปปฏิบัติจริง หรือเกิดแผนงาน โครงการปฏิบัติการทางการเมืองที่สอดคล้องกับค่านิยมพื้นฐานเหล่านั้น

3) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่ ต้องส่งเสริมให้เกิดการอภิปรายปัญหาสาธารณะในเรื่องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างต่อเนื่อง และต้องมีการกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงกันเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ในวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่นี้ยังต้องการพื้นที่สาธารณะ เพื่อการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถกเถียงกัน อันจะนำไปสู่ความเข้าใจร่วมกันในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เกิดขึ้น

ในท้ายที่สุดแล้ว การพัฒนาวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่หรือแบบพลเมืองจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเกิดการทำหน้าที่ของ “การเป็นพลเมือง” (Citizenship) ในกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างแท้จริง จนกลายเป็นค่านิยมของประชาชนหมู่มากในสังคม คุณสมบัติของพลเมืองที่เอื้อต่อหลักการประชาธิปไตยเพื่อสร้างความเท่าเทียม และแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เช่น การคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน การรักความยุติธรรม มีความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์และผู้ทุกข์ยาก การรู้จักใช้สิทธิของตนเองและรู้จักเคารพสิทธิผู้อื่น มีคุณธรรมและจริยธรรม มีความสำนึกในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น มีความสนใจและกระตือรือร้นที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง การกล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลที่สร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมขึ้น ให้ความสนใจติดตามควบคุมตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างจริงจัง มีจิตสำนึกในการรวมกลุ่มเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสังคมและชุมชน หรืออาจมีการรวมตัวกันคัดค้านโครงการที่ไม่มีเหตุผลพอ หรืออาจสร้างปัญหาส่งผลกระทบในทางเสียหายต่อชุมชนท้องถิ่นในด้านต่างๆ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปแล้ว การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้ได้นั้น ผู้คนในสังคมต้องมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่หรือวัฒนธรรมแบบพลเมือง นอกจากคุณสมบัติของพลเมืองดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ผู้คนที่มีวัฒนธรรมแบบพลเมืองยังต้องมีความคิดความเชื่อในเบื้องต้นว่า “การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นหน้าที่ของคนทุกคนที่ต้องเอาใจใส่ และมีความรับผิดชอบร่วมกันที่จะต้องเข้าไปดำเนินการ จะหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธความรับผิดชอบของตนหาได้ไม่” จะเห็นได้ว่าถึงที่สุดแล้ว การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้สำเร็จได้นั้น ต้องเริ่มต้นจากการพัฒนาให้ประชาชนมีจิตสำนึกของความเป็นพลเมืองเสียก่อน

ทว่าจิตสำนึกของความเป็นพลเมืองที่แท้จริงต้องสะท้อนออกมาในตัวคน ดังต่อไปนี้ ประการแรก คือการมองสังคมอย่างที่ตนเป็นเจ้าของ มีความรู้สึกร้อนหนาวกับปัญหาของสังคมและประเทศชาติที่เกิดขึ้น รวมถึงการมองเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมของประเทศชาติที่เกิดขึ้นว่า เป็นภัยร้ายแรงของประเทศชาติและเป็นปัญหาของตัวเราเองด้วยที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ไข ประการที่สอง ต้องเชื่อว่าตนเองมีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ และต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา แก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและปัญหาอื่นๆของประเทศชาติที่เกิดขึ้นเหล่านั้นอย่างจริงจัง ถ้าปฏิบัติได้ตามนี้ก็จะมีพลังทางสังคมในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้

 

สรุป

ในบทความนี้ได้นำเสนอให้เห็นว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยมีความสัมพันธ์กับประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ หากปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง อาจนำไปสู่การเกิดความไม่พอใจ และเกิดแรงต้านจากประชาชน ในท้ายที่สุดอาจทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นได้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยมีหลายมิติ เช่น มิติความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายรายได้ ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินทางการเงิน ความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดิน ความเหลื่อมด้านการศึกษาและการให้บริการสาธารณสุข เป็นต้น มิติของปัญหาเหล่านี้ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีก

สาเหตุหลักของการเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำมาจากสองประการ คือ หนึ่ง เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย และสอง ปัญหาพื้นฐานทางด้านวัฒนธรรมทางการเมืองและพฤติกรรมของคนในสังคม โดยเฉพาะพื้นฐานวัฒนธรรมทางการเมืองที่ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เช่น วัฒนธรรมทางการเมืองแบบอำนาจนิยม วัฒนธรรมทางการเมืองที่ผู้คนเฉื่อยชา ไม่สนใจกิจกรรมทางการเมืองและเรื่องประโยชน์สาธารณะ วัฒนธรรมแบบเจ้าขุนมูลนาย มีการจัดลำดับฐานะสูงต่ำในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ยอมรับความไม่เท่าเทียมกัน และไม่ชอบการรวมกลุ่มแก้ไขปัญหาด้วยกัน แนวทางแก้ไขปัญหาคือ การปลูกฝังวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมืองให้เกิดขึ้นกับประชาชน อันเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่ จะเห็นได้ว่าประชาชนมิได้มีวัฒนธรรมแบบพลเมืองที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นผลมาจากการกล่อมเกลาทางการเมืองโดยตัวแทน หรือสถาบันต่างๆ

ดังนั้นจึงต้องมีองค์กรและสถาบันต่างๆที่ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดวัฒนธรรมแบบพลเมืองให้กับผู้คน อันได้แก่ ครอบครัว ชุมชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชนฯลฯ พร้อมกับการสร้างจิตสำนึกแบบพลเมืองให้เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมประชาธิปไตยที่มีความเสมอภาคและเท่าเทียม นั่นคือการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่ต้องเอาใจใส่ และมีความรับผิดชอบร่วมกันที่จะเข้าไปดำเนินการ จะหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธความรับผิดชอบของตนหาได้ไม่ การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ไม่อาจทำให้สำเร็จได้ด้วยอำนาจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ความสำเร็จเกิดจากความใฝ่ฝันร่วมกันด้วยพลังหรือแรงขับเคลื่อนของสังคม และการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำจะเกิดผลอย่างกว้างขวางมากขึ้น ต่อเมื่อพลเมืองได้รับการเสริมพลังอำนาจขึ้นมาเพื่อเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ได้ในท้ายที่สุด

 

เอกสารอ้างอิง
ไกรยส ภัทราวาท.(2561).ไทยจะลงจาก top 3 ประเทศที่เหลื่อมล้ำที่สุดในโลกได้อย่างไร?.สืบค้นจาก
http://www.eef.or.th.
คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.).(2554).แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย: ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้
มีสิทธิ์เลือกตั้ง.กรุงเทพฯ: หจก.บางกอกบล็อก.
ชัยอนันต์ สมุทวณิชและคณะ.(2553).วัฒนธรรมพลเมือง.วารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ,11,(2)(22).7 – 10.
ทินพันธุ์ นาคะตะ.(2543).ประชาธิปไตย.(พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพฯ : สหายบล็อกและการพิมพ์.
ทิพย์พาพร ตันติสุนทร.(2553).ไปดู Civic Education ที่เยอรมัน (ตอนที่ 3) มนุษย์ไม่มียีน
ประชาธิปไตยในตัวเอง.สถาบันนโยบายศึกษา. สืบค้นจาก http://www.fpps.or.th.
ป๋วย อึ้งภากรณ์.(2512). ศีลธรรมและศาสนาในการพัฒนาชาติในปาฐกถาอนุสรณ์ซินแคลร์ ทอมป์
สัน ค.ศ.1969. วิทยาลัยพระคริสตธรรมในประเทศไทยและสภาคริสตจักรในประเทศไทย 21- 23 มกราคม 2512.
ประมวล รุจนเสรี. (2551). ปฏิวัติวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: พรรคประชามติ.
พรอัมรินทร์ พรหมเกิด. (2556).สังคมวิทยาการเมือง. (พิมพ์ครั้งที่ 2). ขอนแก่น:โรงพิมพ์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
________________. (2557). “วัฒนธรรมทางการเมืองของประชาชนกับการพัฒนาประชาธิปไตย.”
วารสารวิชาการโรงเรียนนายเรือ.(ฉบับปฐมฤกษ์). 1:1, หน้า 83 – 91.
________________. (2557). “การพัฒนาประชาธิปไตยกับการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบ
ประชาธิปไตย.” รัฐสภาสาร.62: 7 (กรกฎาคม),หน้า 9 – 44.
________________.(2558.).“ปฏิรูปการเมืองไทยด้วยการพัฒนาวัฒนธรรมทางการเมืองแบบ
ประชาธิปไตย: สู่เส้นทางใหม่ที่ดีกว่า” รัฐสภาสาร. 63,11 (พฤศจิกายน).หน้า 9 – 34.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560.(2560).ราชกิจจานุเบกษา,เล่ม 134 ตอนที่ 40ก,
หน้า 1 – 94.
ราชกิจจานุเบกษา.(2560).รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.สืบค้นจาก
https://www.ilaw.or.th.
สมชัย จิตสุชน.(2558).ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย: แนวโน้ม นโยบายและแนวทางขับเคลื่อน
นโยบาย.สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย.ธนาคารแห่งประเทศไทย.
สถาบันพระปกเกล้า.(2562).หลักการและเหตุผลการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 21
ประจำปี 2562 เรื่อง การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพประชาธิปไตย.สืบค้นจาก http://www.kpi.ac.th/.
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแหงชาติ.(2557).รายงานการวิเคราะห์สถาน
การณความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ป 2555.สืบคนจากhttp://social.nesdb.go.th/.
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.(2558).รายงานการวิเคราะห์
สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2556.กรุงเทพฯ: บริษัท บี.ซี.เพรส (บุญชิน) จำกัด.
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิดัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม.(2562).ความเป็นพลเมือง
ดิจิทัล: พลเมืองแห่งศตวรรษที่ 21.สืบค้นจาก https://thaidigizen.com/contact/.
Almond, G. A. & Verba, S.(1965). The Civic Culture : Political Attitudes and
Democracy in Fives Nations, Boston : Little, Brown & Company.
Putnam, Robert D., Leonardi, Robert & Nonetti, Raffaella Y. (1993). Making Democracy
Work : Civic Traditions in Modern Italy. New Jersey : Princeton University.
Heywood, Andrew (2007).Politics.(Third Edition).New York :PALGRAVE MACMILLAN.

แสดงความคิดเห็น