รศ. ดร.อภิชาติ บุญทาวัน หัวหน้าสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. กล่าวว่า ทางสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ร่วมกับสาขาวิชาวิศวกรรมเคมี สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการดำเนิน “โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพเพื่อทดแทนการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ” ในการนี้ทางโรงงานต้นแบบกระบวนการผลิตทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ทำการผลิตเอทานอลจากกระบวนการหมักวัตถุดิบทางการเกษตร เพื่อใช้เป็นส่วนผสมสำคัญในการผลิตสเปรย์สำหรับใช้เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อแบบพกพามีความเข้มข้นของเอทานอลไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 โดยน้ำหนัก บรรจุขวด ๆ ละ 50 มิลลิลิตรจำนวน 100 ขวด และแบบเติม (refill) อีกจำนวน100 ลิตร เพื่อมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และได้รับความอนุเคราะห์เพิ่มเติมจาก ศาสตราจารย์ ดร. เจอร์เก้น ราเร่ย์ ในการบริจาคเงิน 12,500 บาทเพื่อสมทบทุนในการซื้อสารเคมีและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตในครั้งนี้ด้วย
ทางด้าน อาจารย์ นพ. ดร.นิวัฒน์ชัย นามวิชัยศิริกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาล มทส. กล่าวว่า ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยที่ได้ส่งมอบสเปรย์สำหรับใช้เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อแบบพกพา และแอลกอฮอล์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลในครั้งนี้ ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระของทางโรงพบาบาลได้ส่วนหนึ่ง สำหรับมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ขณะนี้โรงพยาบาล มทส. ได้จัด URI เป็น One stop service หรือคลินิกไข้หวัดแบบเบ็ดเสร็จ อยู่ที่อาคารสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้บริการผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดทุกชนิด รวมถึงผู้มีความเสี่ยงไวรัส COVID-19 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้มารับบริการว่าจะไม่มีผู้ป่วยไข้หวัดมากระจายเชื้อในอาคารอื่น ๆ ที่ให้บริการ และการดำเนินการตรวจให้บริการ การคัดกรองที่เป็นมาตรฐาน รวดเร็ว และลดระยะเวลาการให้บริการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อให้มากที่สุด ส่วนแต่ละอาคารของโรงพยาบาลมีมาตรการในการคัดกรองและคัดแยกผู้มรความเสี่ยง และให้บริการแยกเพื่อลดการพร่กระจายเชื้ออย่างเข้มข้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้มารับบริการของโรงพยาบาลต่อไป