จิตแพทย์แนะใช้ชีวิตไม่เครียดช่วงโควิด19 ยอมรับความจริงปรับตัวและยึดหลักอนิจจัง

“รศ.นพ.สุรพล วีระศิริ” จิตแพทย์มข.แนะการใช้ชีวิตไม่ให้เครียดช่วงสถานการณ์โควิด 19 ระบุความเครียดมาจากสถานการณ์และความเครียดที่มาจากความรู้สึกที่จะแก้ได้ ด้วยการเริ่มต้นจากยอมรับความจริง ตั้งสติและปรับตัว ใช้หลักพุทธศาสนาทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง หากความรู้สึกว่าแย่จะยิ่งทำให้แย่ยิ่งขึ้นไปอีก  

รศ.นพ.สุรพล วีระศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้สัมภาษณ์ “อีสานบิซ” ถึงการใช้ใช้ชีวิตที่ไม่ให้เกิดความเครียดในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ว่า ช่วงนี้เป็นเรื่องยุ่งยากของทุกคนที่จะต้องผ่านไปให้ได้หลายคนคิดหนักแต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากๆไว้คือชีวิตของเราทุกคนมันจะต้องผ่านร้อนผ่านหนาว

“เมื่อเรานึกย้อนกลับไปก็จะมีภาวะวิกฤตรุนแรงแล้วจะผ่านไปอันที่หนึ่งโดยธรรมชาติ หากเราคิดว่าเรื่องที่เราเจอคิดว่าแย่ก็จะยิ่งแย่มากขึ้น”รศ.นพ.สุรพลกล่าว

อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ฯ กล่าวขยายความว่า ความแย่นั้นที่มาจากตัวสถานการณ์เองกับความแย่ที่เกิดจากสิ่งที่เราคิดว่าจะแย่ ดังนั้นต้องเริ่มต้นเลยว่า เราจะต้องทำใจให้ได้ก่อน โดยการยอมรับตนเองว่า เราเคลียดและกังวล หากเรายอมรับได้และนำเอาแนวคิดทางธรรมมะมาช่วยโดยขอให้ตั้งสติให้ดีให้นิ่ง เพราะเวลาที่เราเครียด จะทำให้เราเหมือนมืดแปดด้าน เรื่องความกังวลและความเครียดเกิดขึ้นได้แต่เราอย่าให้เป็นเรื่องความรู้สึก

“เราจะต้องยอมรับความรู้สึกของเรา ว่ารู้สึกกลัว กังวล ความรู้สึกเหล่านี้อยู่ในวิสัยที่เกิดขึ้นได้ทุกคน ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และการตั้งสติเพราะเวลาเจอเหตุการณ์เราจะเกิดความฟุ้งซ่านคิดไปต่างนานาจากเรื่องนั้นไปเรื่องนี้”รศ.นพ.สุรพลกล่าวและว่า

ทั้งนี้เราจะต้องดึงความคิดให้กลับมาอยู่กับปัจจุบันให้ได้ บางคนใช้วิธีทำให้ตนเองจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สมัยโบราณเราได้รับการสอนว่า เวลาเกิดฟุ้งซ่าน อาจใช้วิธีการกระทืบเท้า หรือ นับเลขถอยหลังหรือ หรือท่องพุทโธๆ ดึงจิตใจไม่ให้เลยไป

รศ.นพ.สุรพล กล่าวอีกว่า สำหรับในระยะยาวต้องเชื่อว่า เหตุการณ์ต้องจบลงแน่นอน และเรื่องการบริโภคข้อมูลข่าวสารก็จะต้องพิจารณาให้ดีด้วย ตนอยากให้เปรียบเทียบเวลาเรามีเรื่องราวอะไรขึ้นมาก็จะมีข้อมูลเข้ามาหากเราใช้เวลาอยู่กับเรื่องใดนานๆก็จะเกิดความเครียด วันใดเรานั่งหน้าจอทีวีทุกวัน เปิดเฟส เปิดไลน์ตลอดเวลา กับวันหนึ่งดูให้น้อยลงหรือไม่ดูเลยจะแตกต่างกัน เราดูข่าวทุกวันมีคำว่าเพิ่ม คุมไม่อยู่กระจายไปทั่ว ตัวเลขเป็นอย่างนี้เป็นสิ่งที่เราคุมไม่ได้

สถานการณ์โรคติดต่อเราต้องการคุมให้ได้ สิ่งที่เราช่วยได้คือ เราต้องพยายามที่จะไม่ไปเพิ่มตัวเลขนั้น เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ข้อมูลข่าวสาร ตัวเลขไม่แย่กว่านี้ เราจะผ่านจุดนี้ไปได้หากเราเชื่อมั่นเช่นนี้ใจเราจะนิ่งหากคิดว่าเอาไม่อยู่ใจเราก็จะไม่นิ่ง

รศ.นพ.สุรพลกล่าวอีกว่า สำหรับคนที่ทำงานที่บ้านอันดับแรก ต้องคุยกับตนเองว่า นั่นคือสิ่งที่เราจะช่วยปกป้องดูแลสังคม เมื่อยู่ที่บ้านพยายามมีกิจกรรมที่ ใกล้เคียงกับสิ่งเคยทำมากที่สุด เช่นเคยตื่นเช้าไปทำงานก็ต้องตื่นเช้าเช่นเดิม อากาศสดชื่นดีก็จะรู้สึกดีไปขั้นตอนหนึ่ง

เรานอนและตื่นเป็นเวลา ทำงานบ้าน ดูแลจัดการบ้านให้สะอาด ปรับเปลี่ยนจัดห้อง การมีกิจกรรมร่วมกันมองในแง่ดี เราจะได้อยู่กันเป็นครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา เป็นการเพิ่มปฏิสัมพันธ์ที่ดี ในครอบครัวและสิ่งแวดล้อมรอบบ้าน

การออกกำลังกายเดินรอบบ้าน หรือเดินขึ้นลงบ้านแบบจับเวลา ทำชีวิตให้มีความหลากหลายเป็นวาไรตี้ การอยู่เฉยๆ อาจจะดีวันแรกๆ แต่จากนั้นจะรู้สึกไม่ดี ต้องทำให้เรารู้สึกมีคุณค่าเป็นกิจกรรมประจำวันส่วนงานที่ได้รับมอบหมายพยายามทำให้ได้ความใกล้เคียงกับสิ่งเดิมที่เคยทำ

รศ.นพ.สุรพลกล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้มีทั้งตระหนกและตระหนัก และส่วนหนึ่งก็เฉยๆ คนในสังคมมีหลายกลุ่มหลายแบบ แต่ละกลุ่มจะมีการตอบสนองที่แตกต่างกัน คนอ่อนไหวด้านอารมณ์ไม่มั่นคง มีความกลัวเป็นวิสัยอยู่แล้วก็จะมีการอ่อนไหวต่อข้อมูลต่างๆ ขณะที่คนมีจิตใจมั่นคงก็จะมองสิ่งที่เกิดขึ้นระวังตัวให้ผ่านพ้นไปได้ แต่บางส่วนมีพฤติกรรมเสี่ยงจะไม่ตระหนัก

“เรื่องโควิด19  ผมอยากให้คิดเทียบเคียงกับการระบาดของโรคเอดส์ หรือ HIV เมื่อหลายปีก่อนแรกๆก็เกิดความกลัวตื่นตระหนก รังเกียจคนที่เป็นโรคเหล่านี้ แต่สุดท้ายก็ผ่านไปได้”รศ.นพ.สุรพลกล่าวและว่า

ขณะนี้เราตระหนกมากกว่าตระหนัก แต่แง่ดีคือ ทำให้เกิดความร่วมมือในการระมัดระวังที่ไม่รับเชื้อเข้าตนเองหรือครอบครัว ไม่นำเชื้อไปให้คนอื่น นี่เป็นความดีของตระหนัก แต่ก็มีความเครียดไปจนถึงซึมเศร้า คนที่เครียดเยอะมีผลทำให้ภูมิคุ้มกันของโรคลดลง

รศ.นพ.สุรพลกล่าวว่า การจะตื่นตระหนกควบคุมยาก ต้องใช้กระบวนการในการจัดการความเครียด การเกิดโรคใดๆนอกจากมีเชื่อมาที่เราแล้ว หากร่างกายแข็งแรงก็ไม่มีปัญหา อาการที่หนักขนาดจะต้องใช้ยา ให้พิจารณาว่าความเครียด ห่วงตนเอง ห่วงลูก เป็นความรู้สึก แต่ความเครียดมีอาการออกทางกายเช่นใจสั่น ตกใจง่าย หายใจใม่อิ่ม นอนไม่หลับ

หากเป็นระดับหนึ่งและอยู่กับมันได้ ไม่รบกวนกิจวัตรประจำวัน นอนยากนิดหนึ่งแต่ก็หลับได้ อาจจะใช้วิธีการเบี่ยงเบน ทำกิจกรรมหลากหลาย การออกกำลังกาย ปรับทุกข์ปรึกษาหารือเพื่อนคนอื่นก็เป็นเหมือนกัน

รศ.นพ.สุรพลกล่าวอีกว่า การนอนมีคนจำนวนมาก ที่นอนไม่หลับ แต่ถามไปถามมาเป็นสาเหตุที่เจอมากในปัจจจุบัน คือตั้งใจนอนมากเกินไปกดดันตนเอง ที่ถูกต้องคือนอนหลับตาให้รู้ตัวเองว่านอนจะดีที่สุด และการนอนไม่หลับอีกประการคือ นอนดูทีวี ให้ตนเองหลับ ซึ่งทีวีจะไปกระตุ้นให้ไม่หลับ และเจอ มากอีกประการคือ เล่นโทรศัพท์ เปิดยูทูป เปิดไลน์ ต้องตัดสิ่งเหล่านี้

ส่วนหากเกิดอาการทางกาย เช่น อาการใจสั่น และรบกวนการปฎิบัติกิจวัตครประจำที่เคยทำ คงจะต้องไปพบแพทย์ พุดคุยถามไถ่ ก็อาจใช้ยาคลายกังวลช่วยให้ใจสงบขึ้น แต่ขณะนี้อาการป่วยจะมีเยอะมากขึ้นแต่ไม่กล้าไปโรงพยาบาลภาพรวมคนไข้ไปโรงพยาบาลน้อยลงชัดเจน เพราะกลัวรับเชื้อโรงพยาบาล และส่วนที่สองโรงพยาบาลจะดูว่าอาการเป็นเช่นใดถ้าอาการไม่หนักก็จะนัดยาวออกไปมากขึ้น หรือส่งยาทางไปรษณีย์เพื่อลดความแออัด

หากมีอาการเช่นนี้พยายามใช้สิ่งที่เรามีความคุ้นเคยใกล้ชิด หลักการทางพุทธศาสตร์ นำมาปรับความคิด ที่ใช้ได้ดีคือ ทุกอย่างเป็นอนิจจังทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป  ถือว่าเป็นหนทางธรรมชาติ ที่ช่วงชีวิตคนเราก็จะต้องเจอสิ่งนี้ แม้จะไม่ได้คำตอบแต่ทุกอย่างก็จะผ่านไป

แสดงความคิดเห็น