เรา(ผู้เขียน) จะขอเริ่มต้นจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด (สอ.คขก.) เพราะสหกรณ์ครูแห่งนี้ นับเป็นหนึ่งในสองแห่งที่อาจจะเรียกได้ว่า เป็นไม้ขีดก้านแรกๆ ที่กรรมการและบุคคลภายนอกร่วมกันทุจริตยักยอกและฟอกเงิน และส่งผลให้เกิดไฟลุกท่วมทั่วประเทศ เริ่มต้นจริงๆจาก เรื่องกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อธิบดีได้สั่งระงับการสอบสวนในคดีแชร์ลอตเตอรี่หลายร้อยล้านบาทกับห้างหุ้นส่วนจำกัดสองแห่ง (หนึ่งใน 5 เสือสลากออมสิน) ไว้ก่อน (คงฟ้องแชร์ฯเพียง 13 สหกรณ์)
คนสนิท 1 ใน 3 ป.
อยากทราบว่าใครเป็นคนสำคัญในขวัญฤดีก็เปิดกูเกิลดูเอา เขาเป็นรัฐมนตรีคนสำคัญของรัฐบาลชุดไหน ท่านผู้เปิดกูเกิลย่อมรู้ และนายเอกราช ช่างเหลา อดีตผู้จัดการ สอ.คขก. และปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐคนสำคัญ และใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจคนหนึ่งในสาม ป. ได้รับการกล่าวถึงว่าเขาเป็น “ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ” และอดีตผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น สร้างผลงานชิ้นโบดำไว้จนถูกกรรมการฯและมวลสมาชิกฯตรวจสอบจนพบความผิดปกติเงินขาดหายไปจากบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาดินแดงกว่า 400 ล้านบาท
ที่สำคัญยังพบด้วยว่ามีการนำเงินไปซื้อโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล ออกเช็คเงินสดจำนวนกว่า 700 ล้านบาทค้ำประกันกับบริษัทเอกชน จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถติดตามเงินดังกล่าวกลับคืนสหกรณ์ได้ และหากสืบค้นลงไปก็จะพบว่า สอ.คขก.ทำสัญญาซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลจาก 2 บริษัทยักษ์ใหญ่วงการหวยคือบริษัทหยาดน้ำเพชร และขวัญฤดี เอ่ยชื่อสองธุรกิจเอกชนนี้คนในวงการต่างรู้ดีว่าเป็นของใครมีสัมพันธ์สำหรับ “การทำนิติกรรมว่าด้วยเรื่องหวยของสหกรณ์ครูขอนแก่น” ถึงตรงนี้ต้องส่งสายสัมพันธ์ที่แนบแน่น “เอกราช ช่างเหลา” กับ “ธรรมนัส พรหมเผ่า” ทั้งสองต่างก็มีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อ ทำมาค้าขายประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างงดงาม และกลายเป็นขุนพลภาคอีสาน ผลักดันให้การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ขอนแก่นสามารถคว้าชัยชนะเหนือพรรคเพื่อไทยได้อย่างสวยหรู
เงินของครู
แม้ความเสียหายที่เกิดขึ้นในสหกรณ์ขอนแก่นจะมีตัวเลขราวพันกว่าล้านบาทย่อมไม่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพความมั่นคงของสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีเงินหมุนเวียนกว่าหมื่นล้านบาท
แต่ทุกบาททุกสตางค์ก็เป็นเงินบริสุทธิ์เป็นเงินของข้าราชการครู ข้าราชการบำนาญ คงไม่นานเกินรอทีมกฎหมายสหกรณ์จะรวบรวมหลักฐานเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีไล่ล่าหาตัวคนผิดมาลงโทษตามกฎหมายใครเป็นใคร คงจะได้รู้ในเร็ววันนี้ (บุคคลแนวหน้า…ไม้หน้าสาม, 14 มกราคม 2563) นี่คือมรสุมก้อนแรกใหญ่มาก ขั้นทำลายการสืบทอดอำนาจในการโกงสหกรณ์ของกลุ่มเก่า
เงินโบนัส 20 ล้าน
สองมรสุมที่จะเข้าทำลายอย่างได้ผลคือ การดำเนินกับกลุ่มนายอนุศาสตร์ สอนศิลพงศ์ ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ได้ออกเอกสาร “ข้อเท็จจริงเรื่องเงินโบนัส” ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 (หลังประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563) เงินโบนัสจำนวนกว่า 20 ล้านบาท (เข้าใจว่ามากที่สุดในบรรดาสหกรณ์ไทย) นั้น จะจัดสรรให้แก่คณะกรรมการ 15 คน เจ้าหน้าที่และลูกจ้าง 69 คน ผู้แทนกรรมการ 30 คน ผู้ตรวจสอบกิจการ 5 คน ผู้แทนสมาชิก 390 คน* ที่ปรึกษาฯ 7 คน* หน่วยงานหักเงิน 17 หน่วย รวมที่เกี่ยวข้อง 533 คน เราผู้เขียนเห็นว่า ผู้แทนสมาชิก 390 คนเป็นผู้ลงมติใน พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ.2542 ไม่ได้เขียนไว้ แต่ในพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 เขียนไว้ใน “มาตรา 28 ในกรณีที่จะมติเรื่องใด ถ้าส่วนได้เสียของกรรมการหรือสมาชิกของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ผู้ใดขัดกับประโยชน์ได้เสียของสมาคม กรรมการหรือสมาชิกของสมาคมผู้นั้นจะออกเสียงลงคะแนนเสียงในเรื่องนั้นมิได้”
เราคิดว่าเรื่องนายทะเบียนสหกรณ์น่าจะออกระเบียบฯ นี้เรื่องการลงมติในประเด็นโบนัสสมาชิก (ถ้าเขาจะลงมติรับเงินโบนัสเองตามนายอนุศาสตร์ฯ) หรือผู้แทนสมาชิก (ถ้าเขาจะลงมติรับเงินโบนัสเองเหมือนสหกรณ์ฯขอนแก่น) ตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 16 (1) และกฎหมายอื่น และอาจใช้มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ด้วยเพื่อให้เป็นไปตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการขัดกันแห่งประโยชน์(conflict of interest ) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 84 (เห็นบทบาทอัน “สุดยอด”ของผู้แทนสมาชิก 390 คน ในการลงมติรับเงินโบนัสของตนเองหรือยังครับ) และจ่ายโบนัสแก่หน่วยงานหักเงิน 17 หน่วย เรื่องค่าจ้างหักเงินย่อมถือว่ามีรายได้จากการปฏิบัติหน้าที่ใช้บุคลากรของรัฐต้องส่งเป็นรายได้แผ่นดินเป็นความผิดหมวดเจ้าพนักงาน…เรื่องนี้ยังไม่คนร้องเรียนไปยังนายทะเบียนสหกรณ์
ถอนมติที่ประชุมใหญ่
สามมรสุมหนักที่สุดจะส่งผลเร็วที่สุดในเรื่องที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่งวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 ให้แก้ไขข้อบกพร่อง ต่อมาวันที่ 6 มีนาคม 2563 รองนายทะเบียนสหกรณ์(สหกรณ์จังหวัดขอนแก่น) มีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 วันที่ ใน 13 กุมภาพันธ์ 2563 โดยให้เหตุผลตรงไปตรงมาว่า มติที่ประชุมใหญ่ฯ ในวาระพิจารณาอนุมัติการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปี 2562 ดังกล่าวจึงฝืนต่อระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์ พ.ศ.2560 และ คำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ที่ (ขก) 18/2563 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 ประกอบกับข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นจำกัดข้อ 108 จึงเพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการฯ ครั้งที่ 46/2563 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 และระเบียบวาระที่ 4.2 เรื่องพิจารณาจัดสรรกำไรสุทธิประจำปี 2562 เราจึงคาดการณ์ไว้ว่า เมื่อคำสั่งนายทะเบียนสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องตามกฎหมายสหกรณ์มาตรา 22(1) นายทะเบียนสหกรณ์ก็ต้องมีคำสั่งให้คณะกรรมการฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวตามมาตรา 22(3) หรือให้คณะกรรมการฯ พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะตามมาตรา 22(4) ไม่มีหนีจากนี้ไปได้
ยิ่งมาอ่านแถลงการณ์ถึงสมาชิกลงวันที่ 22 มีนาคม 2563 ของนายอนุศาสตร์ฯ ประธานกรรมการฯ แล้ว อ้างชมรมสมาชิกสหกรณ์ฯ นำโดยนายวิศร์ อัครสันตติกุล (ประธานกรรมการฯ ถามว่า คณะกรรมการจะดื้อดึงไปทำไม มีกฎหมายระเบียบชัดเจน ทำไมไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ไม่รู้กลุ่มเหล่านั้นใช้สมองส่วนใดคิด…”) แต่คณะกรรมการไม่ทำจึงได้มีมติเอกฉันท์ทำหนังสือขอผ่อนปรนการตั้งเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไปยังกรมตรวจบัญชีสหกรณ์…คณะกรรมการฯชุดนี้ไม่ขี้ขลาดไม่กลัวความผิดที่เกิดขึ้น…โปรดรอคำสั่งจากนายทะเบียนสหกรณ์ซึ่งจะตามมาในไม่กี่วันนี้ พร้อมๆ กับการยื่นฟ้องอาญาของคณะทนายความต่อศาลฯ ในคดีอันเป็นต้นเหตุเดียวกัน
แชร์ลอตเตอรี่ล่มสลาย
มาถึงตอนที่ 7 ความล้มสลายของหัวโจกแชร์ลอตเตอรี่ หลังจากเจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ลงมือจับกุมนางสาวกัลยาณี (นิกกี้) แก้วโวหาร ยี่ปั๊วรายใหญ่ “เจ้าแม่หวย” ของจังหวัดเลย และนางสุฎาภรณ์ นครธรรม ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกรมสามัญศึกษาจังหวัดเลย จำกัด ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน โดยกลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้ร่วมกันตั้งบริษัทในนามนิติบุคคลให้เป็นคู่สัญญากับกองสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยมีนายศรีสุข รุ่งวิสัย อดีตสมาชิกวุฒิสภาเป็นตัวการใหญ่อยู่เบื้องหลัง และต่อมาได้ขายโควตาให้กับสหกรณ์การเกษตรวังสะพุง จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเลย จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกรมสามัญศึกษาเลย จำกัด และมีการจัดตั้งสหกรณ์น้องใหม่ชื่อ “สหกรณ์บริการผู้ค้าล๊อตเตอรี่ไทเลย จำกัด” เพื่อระดมทุนให้มากที่สุด
จากนั้นสหกรณ์ได้รับลอตเตอรี่ไปจำหน่ายให้กับสมาชิกกว่าสองพันคน โดยกลุ่มเหล่านี้จะทำตัวเป็นหัวหน้าสายทำหน้าที่ในการรวบรวมสลากฯจากครูที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ ที่รับโควตาสลากฯมาจากสหกรณ์ฯ โดยหัวหน้าสายมีจำนวนประมาณ 50 คน ทำหน้าที่รวบรวมสลากฯ จากสหกรณ์ต่างๆ และการระดมทุนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2553 โดยนายศรีสุขฯ ได้ร่วมมือกันนางสาวกัลยาณีฯ โดยมีนายก๊ก ดอนสำราญ ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเลย จำกัด และประธานสหกรณ์บริการผู้ค้าล๊อตเตอรี่ไทเลย จำกัด และนายสุรศักดิ์ ยศปัญญา ผู้จัดการสหกรณ์บริการฯ เป็นพันธมิตรฯ ออกปลุกระดมให้สหกรณ์ต่างๆ ทำแชร์ลอตเตอรี่ได้ 14 แห่ง แต่ถูกฟ้องเพียง 13 แห่ง (ยกเว้นสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ของนายเอกราช ช่างเหลาแม้จะจ่ายเช็คสหกรณ์ฯไปแล้วกว่า 700 ล้านบาทเพื่อค้ำประกันกับบริษัทเอกชน) แก้ไขข้อบังคับของสหกรณ์เช่น สหกรณ์ฯชัยภูมิ แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับฯว่า ข้อ 2 วัตถุประสงค์ฯ (20) จัดหาสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิก เพื่อเป็นสวัสดิการ เป็นต้น
นับแต่วันนั้นในปี 2554 เป็นต้นมา หลังจากเจ้าพนักงานสอบสวน(ตำรวจท้องที่) ได้ดำเนินการแล้ว พยายามจับกุมวงแชร์รายย่อย แต่ก็สาวไม่ถึงตัวบงการใหญ่ เพราะถูกตัดตอน และข่มขู่พยาน ดังนั้นจึงมาร้องเรียนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษและอธิบดีฯ จึงดำเนินการให้ตำรวจท้องที่ส่งเรื่องให้เพื่อดำเนินการต่อ โดยกันกลุ่มลูกแชร์บางส่วนไว้เป็นพยานไปทางด้านโครงการจัดตั้ง “สหกรณ์บริการผู้ค้าล๊อตเตอรี่ไทเลย จำกัด วันที่ 14 กรกฎาคม 2554 นายก๊ก ดอนสำราญ ประธานชุมนุมสหกรณ์แห่งประเทศไทย และประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเลย จำกัด ได้จัดประชุมที่โรงแรมแห่งหนึ่ง และกล่าวว่า สหกรณ์ผู้ค้าล๊อตเตอรี่ไทเลย จำกัด โดยการสนับสนุนของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเลย จำกัด ได้รับการจดทะเบียนแล้ว สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเลยจำกัดได้มีมติเห็นชอบในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2553 ให้จัดสรรกำไรสุทธิจากจำหน่ายลอตเตอรี่ให้สมาชิกรายละ 150 บาท เพื่อเป็นค้าหุ้น 100 บาท และค่าธรรมเนียมแรกเข้า 50 บาทบัดนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเลยจำกัดได้โอนเงินดังกล่าวให้แก่สหกรณ์บริการฯ แล้ว จึงถือว่าสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเลยจำกัดทุกรายเป็นสมาชิกสหกรณ์บริการฯ โดยสมบูรณ์และได้รับสิทธิตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์บริการฯ ทุกประการจากนั้นสหกรณ์บริการฯ ได้ทำการระดมทุนโดยอ้างนายทะเบียนสหกรณ์ให้มีการกู้ได้ไม่เกิน 2,000 ล้านบาท โดยนายก๊กฯกล่าวว่า เหตุที่ต้องระดมทุนสืบเนื่องจากสภาพความจริง กองสลากฯจะจำหน่ายเองหรือขายให้ทางร้านค้าทางห้างไปวางขายหน้าร้านต่างๆ นั้น ถามว่าขายได้เท่าไรต่องวด ดังนั้นรายได้จากกองสลากฯมากที่สุดคือสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเลยจำกัด ที่กระจายไปสู่ผู้ขายลอตเตอรี่เร่ รับช่วงเดินขายบริการทุกพื้นที่ทั้งประเทศ สะดวกแก่ผู้ซื้อหรือลูกค้า สำหรับสหกรณ์บริการฯ ที่จะตั้งขึ้นใหม่นั้นมีหลักทรัพย์มีหลักประกันมั่นคงเชื่อถือได้
ในที่สุดสังคมแชร์ลูกโซ่ลอตเตอรี่ก็ถึงกาลอวสานเมื่อดีเอสไอ และกรรมการสหกรณ์ 13 แห่งต่างยื่นฟ้องอาญาและแพ่ง โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษฟ้องคดีอาญาจำนวนนับร้อยคน และกรรมการสหกรณ์ก็ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายต่อศาลแพ่ง และศาลล้มละลายกลางที่กรุงเทพฯ ได้เงินมาจำนวนมหาศาล (แต่ตัวเงินแทบไม่ได้ ได้แต่ตัวเลขจำนวนมาก) นายศรีสุขฯ ตัวการใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังหนีหายไปศาลจำหน่ายคดีชั่วคราว บัดนี้ข่าวแจ้งมาว่าได้ตายไปแล้ว พวกที่เหลืออยู่ถูกยึดทรัพย์ในคดีฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงิน (แต่พวกเขายักย้ายถ่ายเททรัพย์สินและทำการหย่ากับสามีหรือภรรยาเรียบร้อยแล้ว) พวกที่ถูกกันไว้เป็นพยานไม่ถูกฟ้องก็โชคดีไปไม่ถูกฟ้องและยังรับราชการต่อไปได้ แต่ต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมากกับครั้งเดียวในชีวิตที่ต้องจดจำคือ แชร์ลอตเตอรี่
“อยากให้ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินของญาติและครอบครัวยี่ปั๊วทุกคน ตอนนี้กลุ่มที่เอาเงินไปลงทุนในแชร์ลอตเตอรี่อยากจะได้เงินคืน และหวังว่าหากมีการอายัดทรัพย์สิน แม้คดีจะดำเนินการล่าช้า แต่ก็ยังมีความหวังที่จะได้เงินกลับคืนบ้าง” ครูคนหนึ่งกล่าว.
(ติดตามตอนที่ 8 แชร์ลอตเตอรี่อีก 9 สหกรณ์ทั่วประเทศ)