จากการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา มีการตัดงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จำนวน 2,400 ล้านบาท นำไปที่จะนำไปไว้ในงบกลางเพื่อสำรองจ่ายในกรณีจำเป็น เร่งด่วน ฉุกเฉินที่ในการช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนที่หายไปกว่า 40% ของงบประมาณบัตรทองประจำปีงบประมาณ 2563 จะส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ ถึงประมาณ 1,000 แห่งและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (รพ.สต.)อีกประมาณ 10,000 แห่ง เป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลในภาคอีสานทั้งที่มีหมอไม่มาก ค่าบริหารจัดการ ค่าน้ำค่าไฟฟ้า เป็นต้น สปสช. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการผู้ที่ใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ/บัตรทองที่มีจำนวน 49 ล้านคน มีกลไกในการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นเมื่อใช้บริการแล้วเกิดความเสียหายโดยไม่มีการพิสูจน์ถูกผิดทั้งผู้ให้บริการ (ม.18(4) ผู้รับบริการ (ม.41) การจ่ายงบสนับสนุนไปยังหน่วยบริการ คนอยู่ที่ไหนเงินอยู่ที่นั่น เพื่อพัฒนาโรงพยาบาล ไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลมากนัก
ผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของสังคมทั้งเรื่องเศรษฐกิจ จิตใจ สิ่งแวดล้อม และการเมือง กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกชนิดต้องชะงักงัน ทำให้โรงงาน บริษัทปิดตัว คนตกงาน ไม่มีรายได้ บางรายเครียดจนต้องฆ่าตัวตายทั้งครอบครัว ดังที่เป็นข่าวให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ
เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพภาคอีสาน จึงมีข้อเสนอเพื่อให้การจัดการปัญหากับโรคระบาดเป็นไปอย่างยั่งยืน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนี้
- หยุดตัดงบบัตรทอง ให้รัฐบาลทบทวนการตัดงบประมาณ จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)จำนวน 2,400 ล้านบาทและงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 938 ล้านบาท ที่จะนำไปไว้งบกลาง เพื่อสำรองจ่ายในกรณีจำเป็น เร่งด่วน ฉุกเฉินที่ในการช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง เนื่องจาก สปสช. เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลสุขภาพและเป็นด่านหน้าในการจัดการแก้ไขปัญหากับโรคระบาดในขณะนี้ ซึ่งทั่วโลกและองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ยอมรับว่าประเทศไทยมีความสามารถในการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพครอบคลุมทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย
- รัฐบาลต้องทบทวนการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ประจำปี 2563 และนำเงินมาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด – 19 ในขณะนี้แทน ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนกว่า และไม่เป็นภาระให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ที่เผชิญกับการจัดการรักษา เฝ้าระวัง ผู้ป่วยจากโรคระบาดในขณะนี้
- ให้รัฐบาลเปิดเผยรายละเอียดของงบกลางที่จะใช้สำรองจ่ายในกรณีจำเป็นเร่งด่วนจากสถานการณ์โควิด ให้โปร่งใสตรวจสอบได้อย่างชัดเจน
- ให้รัฐบาลขยายการซื้อประกันภัยโควิด-19 ให้ครอบคลุมบุคลากรผู้ให้บริการสาธารณสุขทุกคน ทุกระดับตัวอย่างเช่น พนักงานเวรเปล ผู้ช่วยพยาบาล พนักงานฉุกเฉินการแพทย์ เจ้าพนักงานสาธารณสุข เป็นต้น นอกเหนือจากแพทย์และพยาบาล เพื่อเป็นหลักประกันและเพิ่มขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัตงานให้บริการสาธารณสุขทุกคน
ทั้งนี้ยังไม่สายที่รัฐบาลจะทบทวนตามข้อเสนอข้างต้น เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจะเคลื่อนไหวอย่างถึงที่สุดเพื่อ “ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว ” กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพขอเป็นกำลังใจให้กับทุกภาคส่วนของสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทางสาธารณสุข ในการช่วยเหลือ แบ่งปัน จัดการปัญหาโรคระบาด ถึงแม้หนทางจะยากแค่ไหน เราก็จะผ่านมันไปด้วยกันได้ด้วยดี