ขอนแก่นถก8แผนฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว-ไมซ์ งัด’แคมเปญเมือง’ดึงนักท่องเที่ยว ด้าน ผศ.ดร.ดลฤทัยเผยหลังโควิด-19 พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ชี้แทรนด์ ออนไลน์มาแรง
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 63 ที่ผ่านมา หอการค้าจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับ 8 องค์กรเศรษฐกิจ ขอนแก่น และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ขอนแก่น ร่วมประชุมเพื่อระดมความคิดเห็น หัวข้อ “Khon Kaen Model for MICE & Tourism Industry Recovery Plan”
เพื่อสรุปปัญหาและอุปสรรคของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมไมซ์และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จังหวัดขอนแก่นอันนำไปสู่การจัดทำแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดขอนแก่น โดยค้นหากรอบแนวคิดต้นแบบ “ขอนแก่นโมเดล”
ผศ.ดร.ดลฤทัย โกวรรธนะกุล ผอ. ศูนย์ความเป็นเลิศอุตสาหกรรมไมซ์และอีเว้นท์เชิงธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ม.ขอนแก่น กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการระดมความคิดเห็น เพื่อที่วางแผนว่าหลังวิกฤตโควิด-19หรือช่วงที่เกิดการระบาดทางผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นภาคส่วนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมไมซ์ มีวิธีการปรับตัวอย่างไร และทำอย่างไรที่เราจะอยู่รอดไปด้วยกัน
โดยในที่ประชุมมีข้อสรุป8ประเด็น ซึ่งโฟกัสไปที่กลุ่ม อุตสาหกรรมไมซ์และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเลย คือประเด็นที่ 1.ทาง คุณเข็มชาติ สมใจวงษ์ ผู้บริหาร ราชาวดีรีสอร์ท และ Khon Kaen MICE Management หรือ KKMM เสนอว่า น่าจะทำ “Covid Safety Score” จะเป็นเกณฑ์การให้คะแนน สถานประกอบการที่จัดทำตามมาตรฐาน ความปลอดภัย สุขอนามัย ซึ่งน่าจะเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์ม ที่หอการค้าทำคือ Khonkaen stop covid-19 ประเด็นที่ 2. ทางสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดขอนแก่น ได้เสนอว่า น่าจะมีการจัดทำมาตรการดูแลผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเรื่องของการควบคุม ต้นทุนที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ คือช่วงนี้ของหลายอย่างอาจจะถูกคุมราคาเอาไว้ สมมุติคลายมาตรการแล้ว ถ้าสมมุติกลับมาเปิด 1 พ.ค.จังหวัดขอนแก่นปลดล็อคเมืองแล้ว ถ้าเกิดอยู่ดีๆต้นทุนมันพุ่งขึ้นสูง ทางผู้ประกอบการก็เป็นกังวล ประเด็นที่ 3. ทางท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดขอนแก่น ก็ได้ให้คำแนะนำว่า ในช่วงที่เรายังไม่เปิดจังหวัด ทางหน่วยงานต่างๆ ต้องปรับรายละเอียดโครงการที่เคยของบประมาณไปเพื่อที่จะเตรียมพร้อมว่า พอเปิดให้ยื่นเสนอโครงการต่างๆในการพัฒนาหรือฟื้นฟูเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จะได้ยื่นไปได้ทันที่ ประเด็นที่4.ด้านผู้ประกอบการ เสนอว่า ถ้าเป็นบริษัทธุรกิจทางด้านออแกไนเซอร์ มองว่า ต้องมีการปรับขนาดองค์กร คือปรับบางแผนก ที่เคยใหญ่ อาจจะต้องปรับเล็กลงเช่น โปรดักชั่น มาเป็นให้เช่าอุปกรณ์ต่างๆเพราะว่าตอนนี้ ไม่มีใครที่จะจัดงานแบบออฟไลน์คือไปสถานที่ตอนนี้ไม่มี ก็ต้องไปเพิ่ม section เปิดธุรกิจออนไลน์ ขายอาหารออนไลน์เพิ่ม อันนี้ก็เป็นเรื่องการปรับตัวธุรกิจ
ประเด็นที่5. จะเป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อมของ พนักงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและไมซ์ว่า ช่วงที่เรายังไม่ได้เปิด เราก็ต้องมีการup skill พนักงานจะได้พัฒนาตัวเอง เช่นตอนนี้คนอาจจะยังไม่กล้าที่กลับเข้ามาใช้สถานบริการ ก็ต้องเพิ่มทักษะเรื่องออนไลน์ การให้บริการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ประเด็นที่ 6. ต้องบอกว่าวันนี้ชื่นชมผู้ประกอบการ Nesbia สมาคมการค้าซอฟต์แวร์และธุรกิจนวัตกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งดูแลด้านซอฟต์แวร์ และแอพพลิเคชั่นต่างๆกลุ่มนี้ได้แชร์ให้ฟังว่า ได้ใช้แอพพลิเคชั่นหลากหลายที่คิดค้นขึ้นมาในช่วงแพร่ระบาดโควิด-19 และถ้าผู้ประกอบการท่านไหนที่ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ต้องทำอย่างไร และอยากเข้าไปมีส่วนร่วม เช่น เรื่องของร้านค้า อาหารส่งออนไลน์ เดลิเวอรี่ อยากหันมาใช้บริการผู้ประกอบการท้องถิ่น ก็สามารถเข้าร่วมได้ในเรื่องของแอพพลิเคชั่น
นอกจากนี้ทางแบงก์ชาติ เสนอมาในประเด็นที่ 7.ก็แนะนำเกี่ยวกับ soft loan การกู้เงิน ที่ได้ดอกเบี้ยราคาพิเศษ หรือการพักชำระหนี้ การขยายเวลาผ่อนชำระ ฯลฯทางแบงก์ชาติก็แนะนำประเด็นนี้มา และประเด็นสุดท้าย เป็นประเด็นที่สำคัญมากว่า ถ้ามีการปลดล็อกดาวน์อุตสาหกรรมไมซ์และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จะต้องมีการการรวบรวม Campaign กิจกรรมการท่องเที่ยวและไมซ์ ของทุกองค์กร ให้เป็น City Package โปรโมทภาพลักษณ์ ให้รู้จักว่าขอนแก่น มีโปรโมชั่นอะไร ที่จะดึงดูให้คนหันมากลับมาใช้บริการ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นอาจะช่วยรวบรวมตรงนี้ให้เป็นแบรนดิ้งเมืองด้วย สร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ
ผศ.ดร.ดลฤทัย กล่าวต่อ จากนี้ไปอาจจะต้องเป็นลักษณะของการรวบรวมข้อมูลว่าแต่ละหน่วยงานทำอะไรบ้างในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19และที่ทำได้เลยก็น่าจะเป็นเรื่องของการรวบรวมซิตี้แพคเกจของเมืองซึ่งตอนนี้ทางทีเส็บ สำนักงานการจัดประชุมและนิทรรศการระดับประเทศเขามีแผนรองรับอยู่แล้วในส่วนของภาพใหญ่ เราสามารถไปแมชชิ่งได้เลย ทางททท.เองก็พร้อมที่ช่วยโปรโมตในแง่ของการตลาด หน่วยงานภาคส่วนของจังหวัดต้องบอกว่า เป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยที่รุกขึ้นมาพูดถึงไมซ์และการท่องเที่ยวที่ว่า เราจะไปต่ออย่างไร ผศ.ดร.ดลฤทัย กล่าวต่อ และว่า
หลังจากโควิด-19ซาลงสถานการณ์จะปรับจากหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างเช่นหากมีการปลดล็อกเมือง1พ.ค. 63 ถามว่าถึงแม้เปิดแล้วใครจะกล้าไปใช้บริการนี่คือประเด็นที่1.เราต้องสร้างความมั่นใจ เรามีเว็บไซต์ เรามีแอพพลิเคชั่น Khonkaen stop covid-19 ที่หอการค้าร่วมมือกับหลายภาคส่วน เราก็น่าจะเอามาใช้ประเมินตัวเองเป็นหลักและทางจังหวัดเองก็สนใจ ร่วมมือกับแอพพลิเคชั่น เพื่อที่จะช่วยในการรับรองเบื้องต้นให้กับสถานประกอบการต่างๆเพราะฉะนั้นเวลาผู้ใช้บริการมาใช้บริการก็จะเกิดความมั่นใจ ถึงจะไปต่อได้
สำหรับรูปแบบการจัดงานอาจจะเปลี่ยนไป อย่างเช่นทางกรุงเทพฯงานแสดงสินค้าจะจัดใหญ่มากไม่ได้แล้ว สเกลอาจจะต้องลดลงมา และบางงานทำเป็นงานแสดงสินค้าออนไลน์ เหมือนเป็นการไลฟ์สดขายของ นี่แหละพนักงาน หรือผู้ประกอบการเองที่เป็นกลุ่มออแกไนซ์เซอร์ ต้องไปฝึกทักษะตัวนี้ให้ยกระดับเพราะมันจะเปลี่ยนแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ถ้าคุณปรับตัวได้ตอนนี้คุณไปได้เลยเพราะว่าเขาไปทางนี้กันหมดแล้ว ถ้าทำได้แบบนี้เราก็จะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วกว่าผู้ประกอบการรายอื่น ผศ.ดร.ดลฤทัย กล่าว