เปิดคำฟ้องฉบับเต็ม “เอกราช ช่างเหลา” และพวก 4 คน ยักยอกทรัพย์/ปลอมบุ๊กแบงก์/ใช้เอกสารเท็จ/รับของโจรฯ

เปิดคำฟ้องฉบับเต็มสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นฟ้อง “เอกราช ช่างเหลา”และพวก 3 คน ฐานยักยอกทรัพย์ ปลอมแปลงเอกสาร 18 กรรมและร่วมใช้เอกสารสิทธิ์ปลอม 9 กรรมพ่วงจำเลยที่ 5 ฐานรับของโจร รวมเป็น 4 คน เร่งหาเจ้าหน้าที่แบงก์และเจ้าหน้าที่สหกรณ์ที่ร่วมกระทำผิดมาดำเนินคดีเพิ่ม

คำฟ้องคดีดำ 290/2563 ศาลจังหวัดขอนแก่น วันที่ 1 เมษายน 2563 ระบุว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด เป็นโจทก์ มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพ.ร.บ.สหกรณ์พ.ศ.2542 มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางด้านเศรษฐกิจการเป็นอยู่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของสมาชิก

ปรากฏตามหนังสือการจดทะเบียนรับรองเอกสารท้ายคำฟ้อง กิจการสำคัญของโจทก์คือ รับฝากเงินและเปิดให้สมาชิกลงทุนซื้อ หุ้น บริการให้สินเชื่อแก่สมาชิก โจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าหากำไร

โครงสร้างการบริหารงานสำคัญของโจทก์ประกอบด้วย คณะกรรมการดำเนินการและผู้จัดการโดยคณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจหน้าที่สำคัญคือ เป็นตัวแทนของโจทก์ในการทำธุรกรรมกับบุคคลภายนอก

ส่วนผู้จัดการมีฐานะเป็นลูกจ้างโจทก์มีอำนาจหน้าที่ด้านบริหารงานบุคคลและทำหน้าที่ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมาย ทั้งคณะกรรมการดำเนินการและผู้จัดการต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย,ระเบียบข้อบังคับและมติของโจทก์อย่างเคร่งครัด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟ้องแล้ว…’เอกราช ช่างเหลา’ นัดไต่สวน 3 สิงหาฯยักยอก 431 ล้าน /ปลอมบุ๊กแบงก์/รับของโจร

ข่อยว่าแล้ว!! เงินสหกรณ์ฯครูขอนแก่นหายเพิ่ม 1,175 ล้านบาท ยื่นปลด ‘อนุศาสตร์ สอนศิลพงศ์’ และพวกปกปิดหลักฐาน

โดยเฉพาะตามข้อบังคับของโจทก์คณะกรรมการดำเนินการและผู้จัดการมีหน้าที่โดยตรงในการจัดทำ ควบคุม ดูแล รักษา บัญชี – งบดุล และสมุดบันทึกเกี่ยวกับบัญชี – การเงินต่าง ๆ รวมทั้งทรัพย์สินของโจทก์ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย ถูกต้องครบถ้วนเป็นปัจจุบัน

จำเลยที่ 1 นายเอกราช ช่างเหลา มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการ โจทก์ตั้งแต่ปี 2553 จนถึง ต้นปี 2562 ส่วนจำเลยที่ 2 นายนพรัตน์ สร้างนานอก จำเลยที่ 3นายสมศักดิ์ โคตวงศ์ และจำเลยที่ 4 นายนิวัฒร นิราศสูงเนิน เป็นกรรมการดำเนินการของโจทก์

โดยจำเลยที่ 2 นายนพรัตน์ สร้างนานอก เป็นกรรมการอยู่ในชุดที่ 48 (ปี 2553),ชุดที่ 51 (ปี 2556) ถึงชุดที่ 54 (ปี 2559) และชุดที่ 57 (ปี 2562)

จำเลยที่ 3 นายสมศักดิ์ โคตรวงศ์ อยู่ในชุดที่ 48 และชุดที่ 51 ถึงชุดที่ 54 จำเลยที่ 4 นายนิวัฒร นิราศสูงเนินอยู่ในชุดที่ 48 ชุดที่ 49 ( ปี 2554 ) และชุดที่ 52 (ปี 2557) ถึงชุดที่ 55(ปี 2560)

เมื่อเดือนสิงหาคม  2553 โจทก์มีโครงการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแก่สมาชิกด้วยการร่วมลงทุนซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลกับเอกชนภายนอก แล้วนำมาให้กับสมาชิกนำไปจำหน่ายต่อ

โจทก์จึงได้เปิดบัญชีเงินฝากประเภทฝากประจำที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนดินแดง กรุงเทพมหานคร(ต่อมาถูกยุบเป็นสาขาเทสโก้โลตัส ฟอร์จูนทาวน์) เลขบัญชี 144-101918 – 9

โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันเปิดบัญชีและเป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันเบิกถอนเงินเพื่อประโยชน์ในกิจการของโจทก์ เงื่อนไขอำนาจการเบิกถอนใช้ 3ใน 4 คนโดยบัญชีดังกล่าวจะมีเงินหมุนเวียนเข้าออกระดับเป็น 100 ล้านถึงกว่า 1,000 ล้านบาท

ปรากฏตามรายการลงบัญชี (statement) เอกสารท้ายคำฟ้อง ซึ่งธนาคารสาขาดังกล่าวได้ส่งมอบให้โจทก์และรับรองว่าทุกรายการที่ปรากฏในบัญชีนั้นถูกต้องตรงความเป็นจริง

เมื่อระหว่างวันที่ 20 กรกฏาคม 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 เวลากลางวันต่อเนื่องกลางคืน จำเลยทั้งห้าได้กระทำและร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมาย โดยจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ได้ร่วมกันเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ตามเอกสารท้ายคำฟ้อง ดังนี้

1.เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2554 จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ได้ร่วมกันเบิกถอนเงินจำนวน 770,000,000 บาท (เจ็ดร้อยเจ็ดสิบล้านบาทถ้วน) จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 วางแผนแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลยที่ 4 ให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันลงลายมือชื่อในใบถอนเงิน จากนั้นจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 3 ก็นำใบถอนเงินไปเบิกถอนเอาเงินจำนวนดังกล่าว

ปรากฏตามใบถอนเงินเอกสารท้ายคำฟ้อง จากนั้นวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ก็ร่วมกันนำเงินที่เบิกถอนทั้งหมดไปให้กับจำเลยที่ 5 ด้วยการฝากเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เลขบัญชี 144-2-17833-4 ซึ่งเป็นบัญชีของจำเลยที่ 5 น.ส.วราพร พันทะสารหรือธรณี ปรากฏตามใบฝากเงินเอกสารท้ายคำฟ้อง

2 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2554 จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ได้ร่วมกันเบิกถอนเงินจำนวนสองครั้งรวมเป็นเงิน 396,000,000 บาท (สามร้อยเก้าสิบหกล้านบาทถ้วน)โดยจำเลยที่ 4 ร่วมรู้เห็นและมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 3 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในใบถอนเงินแล้วจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ก็นำใบถอนเงินไปเบิกถอนเอาเงินจากบัญชีของโจทก์

ปรากฏตามใบถอนเงินเอกสารท้ายคำฟ้อง จากนั้นวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ก็นำเงินทั้งหมดที่เบิกมาโอนและหรือฝากเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เลขบัญชี 144-2-17533-6 ซึ่งเป็นบัญชีของจำเลยที่ 1 ปรากฏตามใบฝากเงินเอกสารท้ายคำฟ้อง

  1. เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ได้ร่วมกันเบิกถอนเงินจำนวน 9,015,719.18 บาท (เก้าล้านหนึ่งหมื่นห้าพันเจ็ดร้อยสิบเก้าบาทสิบแปดสตางค์) โดยจำเลยที่ 4ได้รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 3 ร่วมกันลงลายมือชื่อในใบถอนเงินและรู้เห็นยินยอมในการมอบฉันทะให้จำเลยที่ 1 เบิกถอนและรับเงินจำนวนดังกล่าว

ปรากฏตามใบถอนเงินและหลักฐานการมอบฉันทะเอกสารท้ายคำฟ้อง จากนั้นในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ก็รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำเงินทั้งหมดโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เลขบัญชี 144-2-17533 – 6 ซึ่งเป็นบัญชีของจำเลยที่ 1 ปรากฏตามใบฝากเงินเอกสารท้ายคำฟ้อง

            เมื่อช่วงระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม 2554 ถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2562 เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ได้ร่วมกันกับพวกที่ยังไม่ทราบชื่อ ทำการปลอมรายการลงบัญชีในสมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากประจำของโจทก์ เลขบัญชี 1441019189 ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด(มหาชน) สาขาถนนดินแดง กรุงเทพมหานคร ได้ออกและมอบให้ไว้กับจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้เปิดบัญชี มีอำนาจเบิกถอนเงินตามที่โจทก์มอบหมายดังที่โจทก์กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกรรมทางการเงิน ระหว่างโจทก์กับธนาคาร

ปรากฏตามรายการลงบัญชีตามสำเนาสมุดคู่ฝาก เอกสารท้ายคำฟ้อง ซึ่งรายการลงบัญชีที่มีการปลอมมีดังนี้

วันที่ 16 สิงหาคม 2554  ระบุมีเงินเข้าบัญชี 100 ล้านบาท รวมยอดเงินในบัญชี 848 ล้านบาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับรายการลงบัญชี (statement) เอกสารท้ายคำฟ้องในวันดังกล่าว ไม่มียอดเงินและการทำรายการดังกล่าวเลย

–  วันที่ 16 สิงหาคม 2554 ระบุมีเงินเข้าบัญชี 296 ล้านบาท รวมยอดเงินในบัญชี 1,144 ล้านบาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับรายการลงบัญชีเอกสารท้ายคำฟ้องในวันดังกล่าวไม่มียอดเงินและการทำรายการดังกล่าวเลย

           – วันที่ 4 สิงหาคม 2556 ระบุมีเงินเข้า 799,900146.35 บาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับรายการลงบัญชี เอกสารท้ายคำฟ้องในวันดังกล่าวไม่มียอดเงินและการทำรายการดังกล่าว

วันที่ 29 สิงหาคม 2556 ระบุมีการถอนเงินจำนวน 200 ล้านบาท และมียอดเงินคงเหลือในบัญชี 599,900,146.35 บาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับรายการลงบัญชี เอกสารท้ายคำฟ้องในวันดังกล่าวแม้จะมีรายการถอนเงิน 200 ล้านบาทจริง แต่ในบัญชีมีเงินคงเหลืออยู่จริงเพียง 205,073,916.04 บาท เท่านั้น

          – วันที่ 9 กันยายน 2556 ระบุมีการถอนเงิน 100 ล้านบาท คงเหลือเงินในบัญชี 499,900,146.35 บาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับรายการลงบัญชีเอกสารท้ายคำฟ้องแล้วมีการถอนเงิน 100 ล้านบาทจริง แต่ยอดเงินคงเหลือในบัญชีเพียง 105,073,916.04 บาท เท่านั้น

– วันที่ 27 กันยายน 2556 ระบุมีการถอนเงิน 96 ล้านบาท คงเหลือเงินในบัญชี 403,900,146.35 บาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับรายการลงบัญชีเอกสารท้ายคำฟ้องแล้ว มีการถอนเงินออก 96 ล้านบาทจริง แต่ยอดเงินในบัญชีคงเหลือเพียง 9,073,916.04 บาทเท่านั้น

– วันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 มีการถอนเงิน 9,015,719.18 บาท เงินคงเหลือในบัญชีจำนวน 73,916.04 บาท แต่ในรายการสมุดคู่ฝากไม่ปรากฏมีรายการและยอดเงินดังกล่าว เหตุเพราะจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ร่วมกันปลอมด้วยการตัดทอนรายการลงบัญชีดังกล่าวออก

เริ่มจากวันที่ 4 สิงหาคม  2557 จนถึงรายการหน้า 3 ถึงรายการสุดท้ายวันที่ 4 สิงหาคม 2562 รวมรายการทั้งหมดที่ลงไว้ 12 ครั้ง ที่ระบุยอดเงินคงเหลือในสมุดคู่ฝากครั้งสุดท้าย 431,941,784.59 บาทนั้น ล้วนเป็นรายการเท็จที่จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 กับพวกร่วมกันปลอมขึ้นทั้งสิ้น เพราะตามรายการลงบัญชี เอกสารท้ายคำฟ้องในช่วงวันเวลาดังกล่าวนั้น

นอกจากจะไม่มีรายการลงบัญชีตรงกับรายการที่ลงในสมุดคู่ฝากแม้แต่รายการเดียวแล้ว ยอดเงินในบัญชีของโจทก์เหลืออยู่จริงเพียง 70,000 บาทเศษ ไม่ใช่ 431,941,784.59 บาทแต่อย่างใด

จากพฤติการณ์การกระทำของจำเลยทั้งห้ามีความผิดต่อกฎหมายดังนี้

การกระทำของจำเลยทั้งห้า นอกจากจะเป็นการร่วมกันเบิกถอนเงินโดยพลการเพราะโจทก์ไม่ได้รู้เห็นยินยอมหรือมีมติให้กระทำแล้ว ยังถือว่าจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ครอบครองทรัพย์ของโจทก์คือเงินในบัญชีเพราะโจทก์ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 เป็นผู้เปิดบัญชีและมีอำนาจลงลายมือชื่อเบิกถอนเงินได้เบียดบังเอาเงินจำนวนทั้งหมดดังกล่าวเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เพราะเงินทั้งหมดที่เบิกถอนไปไม่ปรากฏว่าเบิกถอนไปเพื่อประโยชน์ในกิจการของโจทก์  จึงมีความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ 

เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของโจทก์ กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆโดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ เพราะทำให้โจทก์สูญเสียเงินและดอกผลในเงินที่ถูกยักยอกไปเป็นจำนวนมาก อีกทั้งฐานะตำแหน่งของจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ถือได้ว่าเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน

การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 จึงมีความผิดบทหนักตามกฎหมายด้วย ส่วนจำเลยที่ 5 ซึ่งไม่ได้ประกอบอาชีพใดที่จะสามารถหารายได้เป็นเงินก้อนเดียวจำนวนมากถึง 770,000,000 บาท ดังนั้นการที่จำเลยที่ 5 ได้รับไว้ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4

ด้วยการโอนเข้าบัญชีจำเลยที่ 5 ตามใบฝากเงินเอกสารท้ายคำฟ้อง จำเลยที่ 5 ย่อมรู้หรือควรต้องรู้ดีว่าเป็นเงินของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 เบียดบังยักยอกมา

พฤติการณ์การกระทำด้วยความไม่สุจริตของจำเลยที่ 5 เป็นการช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสีย หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำผิดฐานยักยอก จำเลยที่ 5 จึงมีความผิดฐานรับของโจร

จากพฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 กับพวก ดังกล่าวซึ่งมีอำนาจหน้าที่ ดูแล รักษาและครอบครองสมุดคู่ฝากและลงรายการลงบัญชีให้เรียบร้อยถูกต้องครบถ้วนเป็นปัจจุบันตามความเป็นจริงเพื่อประโยชน์ของโจทก์ แต่กลับกระทำโดยทุจริตร่วมกันกระทำการปลอมเอกสารรายการลงบัญชีในสมุดคู่ฝาก

ด้วยการทำปลอมแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริงโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือสมาชิกของโจทก์หรือประชาชนทั่วไป

จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 พร้อมกับพวก กระทำเพื่อให้โจทก์และหรือผู้ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้ตรวจสอบหรือจัดทำและลงบัญชี รวมทั้งสมาชิกโจทก์หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง เมื่อสมุดคู่ฝากและรายการในสมุดคู่ฝาก เอกสารท้ายคำฟ้อง เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ จึงเป็นเอกสารสิทธิ์

ดังนั้นการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ์ จำนวนทั้งสิ้น 18 กรรม และเมื่อปรากฏว่าภายหลังจากจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ได้ร่วมกันปลอมรายการในสมุดคู่ฝากดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 กับพวก ก็ได้ร่วมกันนำสมุดคู่ฝากที่พวกตนปลอมนั้นไปยื่นเสนอต่อโจทก์และต่อผู้จัดทำบัญชีและหรือผู้ตรวจสอบบัญชีของโจทก์ เพื่อประกอบในการจัดทำบัญชีงบดุลประจำปีตั้งแต่รอบปีบัญชีปี 2554 จนถึงปี 2562 รวม 9 ปี (โจทก์มีรอบบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี) จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิ์ปลอมรวมกันทั้งสิ้น 9 กรรมอีกกระทงหนึ่งด้วย

อนึ่ง การกระทำความผิดของจำเลยทั้งห้า จะไม่ประสบผลสำเร็จได้หากไม่ได้รับความร่วมมือหรือสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ภายในของโจทก์บางคน รวมทั้งพนักงานของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยเฉพาะในสาขาที่เกิดเหตุ

ขณะนี้โจทก์กำลังตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่หรือพนักงานของธนาคารดังกล่าวผู้ใดที่ร่วมรู้เห็นเป็นใจ กับฝ่ายจำเลยในการกระทำผิดครั้งนี้แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดแน่นอน หากโจทก์ตรวจพบและรู้ว่าเป็นบุคคลใดโจทก์ขอสงวนสิทธิที่จะดำเนินคดีกับบุคคลหรือนิติบุคคลผู้นั้นตามกฎหมายต่อไป

เหตุคดีนี้เกิดขึ้นที่แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานครและที่ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น การกระทำความผิดของจำเลยทั้งห้าเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันทั้งสองท้องที่

คดีนี้โจทก์มอบอำนาจให้นายอนุศาสตร์ สอนศิลพงศ์ เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายคำฟ้อง โจทก์ได้ตรวจสอบและรู้เรื่องความผิด เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 แต่ขณะนั้นยังไม่รู้ว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด ต่อมาวันที่ 6 ธันวาคม 2562 เมื่อรู้แน่ชัดว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิด

โจทก์ได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น แต่เนื่องจากการสอบสวนของเจ้าพนักงานมีความล่าช้า โจทก์เกรงว่าคดีจะขาดอายุความเสียก่อนจึงจำเป็นต้องนำคดีมาฟ้องเอง การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ต่างกรรมต่างวาระกัน ขอศาลได้โปรดพิพากษาลงโทษเรียงกระทงความผิดและลงโทษจำเลยที่ 5 ตามกฎหมาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดีตกก.สหกรณ์ครูขก.ปี53-54“ร้อนตัว”แจ้งความแก้เกี้ยวจนท.ทำเอกสารเท็จ โยน“เอกราช”ถอนเงินคนเดียว

หลักฐานแบงก์ชัด เบิกเงินสหกรณ์ครูขก.396ล้าน โอนเข้าบัญชี “เอกราช ช่างเหลา”

 

…………………

แสดงความคิดเห็น