ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอีสาน เตรียมรับ “ชีวิตปกติแบบใหม่”

การเสวนาออนไลน์โดยอีสานบิซ New Normal New Economy Esan มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานหอการค้าไทย และประธานหอการค้า จ.อุดรธานี นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.นครราชสีมา นายนิมิต สิทธิไตรย์ ประธานหอการค้า จ.อุบลราชธานี นายกมลพงศ์ สงวนตระกูล ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น ดร.ธัญมัชฌ สรุงบุญมี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

วงเสวนาเห็นพ้องมั่นใจศักยภาพอีสานเติบโตแบบก้าวกระโดด ฟื้นแนวคิด IEC (Isan Economic Corridor) คล้าย EEC คนอีสานจะกลับถิ่น ภาคเกษตรจะโดดเด่นมากขึ้นรองรับความมั่นคงด้านอาหาร อุตสาหกรรมปรับใช้โรบอท ดิจิทัลจะเป็นโอกาส นักวิชาการเสนอใช้วิกฤตปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจอีสานรับชีวิตแบบปกติใหม่

 

หอฯอีสานฟื้นแนวคิด IEC ปลุกศักยภาพ

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานหอการค้าไทย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประธานหอการค้า จ. อุดรธานี กล่าวว่า  จากสถิติการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาในอีสานจะพบว่า ไม่มีกรณีไหนที่ติดเชื้อจากคนในพื้นที่ ทุกคนที่ติดเชื้อมาจากต่างจังหวัดที่อยู่นอกภาคอีสาน จะเห็นได้ว่าภาคอีสานมีการโชว์แผนที่เป็นสีเขียวทั้งแผ่นดินในแอปฯแจ้งพิกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า

“ผมมองว่าทุกจังหวัดในภาคอีสานสามารถปลดล็อกดาวน์จังหวัดได้แล้วเพื่อให้ประชาชนได้ทำมาหากินเปิดเมืองเร็วเท่าไหร่เศรษฐกิจก็จะกลับมาดีเร็วเท่านั้นอย่าปล่อยให้การจำกัดพื้นที่ทำมาหากินของประชาชนยืดเยื้อไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย”

นายสวาท กล่าวอีกว่า ด้วยภูมิศาสตร์ของภาคอีสานมีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว กัมพูชา และใกล้กับเวียดนาม จึงมีแนวคิดที่จะฟื้นโครงการไออีซี ที่มาจากคำว่าอีสานอีโคโนมิก คอร์ริดอร์ (Isan Economic Corridor) เพื่อเป็นประตูส่งออกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะธุรกิจอาหารที่อีสานมีศักยภาพทำได้

“ผมเชื่อว่าขีดความสามารถของคนอีสานที่มีความขยัน เราจะผ่านวิกฤตโควิดไปได้แต่ต้องปลดล็อก และใช้ศักยภาพที่อีสานมีอยู่ให้เกิดประโยชน์ผู้มีอำนาจอย่าได้ปิดโอกาสพวกเราอีกเลย”

 

ย้ำอุตสาหกรรมเร่งปรับใช้หุ่นยนต์

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.นครราชสีมา กล่าวว่า การจะเปิดเมืองได้หรือไม่ได้นั้นจำเป็นต้องพิจารณาถึงความพร้อมของระบบสาธารณะสุขของแต่ละจังหวัดว่า มีการเตรียมความพร้อมไว้มากน้อยเพียงใด ยกตัวอย่างเช่นจังหวัดนครราชสีมามีการจัดเตรียมห้องความดันลบไว้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย พร้อมกับมีการจัดเตรียม 2 โรงแรม ไว้เป็นพื้นที่กักตัวกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไม่ให้แพร่ระบาดหลังจากเดินทางมาจากจังหวัดที่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 สูง

นายหัสดินกล่าวอีกว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัดนครราชสีมายังพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมมากถึง 35 เปอร์เซ็นต์ จากจีพีพีทั้งหมด 2.07 แสนล้านบาท ซึ่งได้รับผลกระทบจากสายการบินหยุดให้บริการทั่วโลก สัดส่วนอุตสาหกรรมเครื่องกลที่สร้างจีพีพีมากที่สุดได้รับผลกระทบไม่สามารถส่งออกได้ ส่วนอุตสาหกรรมอาหารยังมีปริมาณความต้องการและไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

“อนาคตอันใกล้จะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานในภาคอุตสาหกรรมจากเดิมที่ใช้แรงงานคนเป็นการใช้แขนกล หรือหุ่นยนต์เข้ามาช่วยแก้ปัญหา และในขณะเดียวกันแรงงานก็จะต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นผู้ควบคุมหุ่นยนต์”นายหัสดินกล่าวและว่า

โอกาสทางธุรกิจจะเกิดขึ้นจากปริมาณความต้องการอาหารที่มีความต้องการมากขึ้น ดังนั้นความต้องการในการเก็บสต็อกอาหารสดจะต้องมีมากขึ้นไปด้วย การแชร์พื้นที่โกดังที่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้จะมีส่วนสำคัญในการจัดการเรื่องต้นทุน

ประธานสภาอุตสาหกรรมจ.นครราชสีมา กล่าวว่า ส่วนธุรกิจการแชริ่งพื้นที่การใช้งานอื่นๆ เช่น โคเวิร์กกิ้งสเปซ ร้านอาหาร แท็กซี่ แก็รป โรงแรม ฯลฯ ธุรกิจเหล่านี้จะเอายังไงต่อลูกค้าจะกล้าใช้สถานที่ต่อจากลูกค้ารายก่อนหน้านี้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าปลอดภัยให้ได้

ลิ้งก์วีดีโอเสวนา

อีสานดินแดนแห่งโอกาส/แหล่งผลิตอาหาร

นายนิมิต สิทธิไตรย์ ประธานหอการค้า จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า จังหวัดอุบลฯมีลักษณะทางการยภาพคล้ายกับจังหวัดอุดรฯ คือ มีสนามบิน รถไฟ เป็นพื้นที่ติดต่อกับต่างประเทศโดยเฉพาะ สปป.ลาว ทำให้ความเสี่ยงในการแพร่ระบาดสูงต่างจากพื้นที่จังหวัดอื่นๆ แต่ก็ก้าวผ่านวิกฤตไปได้เพราะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

“ผมมองว่า ประชาชนพอใจที่จะหาเงินได้ 100 – 200 บาท มากกว่ารอรับการช่วยเหลือจากรัฐบาล เดือนละ 5,000 บาท จำนวนสามเดือนหรือหกเดือน รัฐบาลปลดล็อกได้แล้ว”

สำหรับความพร้อมของจังหวัดอุบลฯเพื่อกลับมาเปิดร้านค้า ร้านอาหาร ฯลฯ ได้อีกครั้ง ชาวอุบลฯมองไปที่รูปแบบคล้ายๆกับประเทศพม่า ทำง่ายๆ เว้นระยะห่างในตลาด สถานที่แออัด และจัดพื้นที่ให้มีอากาศไหลเวียน อย่างไรก็ตามทางหอการค้าได้เตรียมร่างแผนการป้องกันโควิด-19 ออกเป็นเอกสาร เพื่อยื่นให้กับภาคราชการว่ามีหลักปฏิบัติมั่นใจได้

นายนิมิต กล่าวอีกว่า ตนยืนยันว่าอีสานในอนาคตจะเป็นดินแดนแห่งโอกาส เพราะว่าอีสานจะเป็นแหล่งผลิตอาหารอุ้มชูประเทศ โดยคนอีสานจะต้องเชื่อมโยงกันไม่ทำงานเป็นส่วนๆ ระดับจังหวัด ตนเสนอว่าอีสานต้องเปลี่ยนการบริหารมาเป็นแบบบริษัทที่ประกอบด้วย 20 ส่วน มองเป้าหมายร่วมกัน เริ่มจากเรื่องอาหาร แต่จะต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาจัดการ สร้างสมดุลใหม่ให้ได้ ส่วนตัวยังเชื่อว่าหุ่นยนต์ยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่คนได้

 

แมทซิ่งโนว์ฮาวน์/ธุรกิจเกษตรจะกลับมาบูม

นายกมลพงศ์ สงวนตระกูล ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นได้ดำเนินการศึกษาและประเมินสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ในเดือนกุมภาพันธ์ตั้งแต่ยังไม่มีการแพร่ระบาดในจังหวัด และมีการหารือหลายฝ่ายทำให้ขอนแก่น มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ขอนแก่นสต็อปโควิด ด้วยความร่วมมือระหว่างโปรแกรมเมอร์ในพื้นที่ ศูนย์อนามัยที่ 7 และหอการค้าจังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโควิด-19 การเช็คลิสต์พื้นที่ปลอดภัย รวมถึงการให้คำแนะนำอื่นๆในการตอบข้อสงสัยของประชาชน

การเช็คลิสต์ของพื้นที่ปลอดภัยจะมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์อนามัยที่ 7 เป็นผู้ประเมินว่าพื้นที่ที่สมาชิกเข้ามาใช้บริการนั้นมีความปลอดภัย ไม่เป็นพื้นที่เสี่ยงโควิด-19 อย่างแน่นอน นั้นเป็นกระบวนการในการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค

ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น กล่าวอีกว่า หอการค้าจังหวัดขอนแก่นยังได้ดำเนินการจัดทำบิสซิเนส แมทชิ่ง ระหว่างผู้ประกอบการเดลิเวอรี่ในจังหวัดขอนแก่น และร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ที่ปิดหน้าร้านให้ได้ค้าขายต่อในช่วงวิกฤตโดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ขณะนี้มีร้านค้าที่เข้าร่วมประมาณ 100 ราย

ด้านสังคมหอการค้า จ.ขอนแก่น ร่วมกับกลุ่มขอนแก่นพัฒนาเมือง ได้จัดทำสมาร์ทพุ่มพวงเป็นการช่วยบรรเทาผู้ที่อยู่บ้านเพื่อชาติและออกไปจับจ่ายซื้อของไม่ได้ สร้างความมั่นคงทางอาหาร พร้อมกับได้รวบรวมเครือข่ายรถสองแถวที่ขาดรายได้เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย

นอกจากนี้ นายเข็มชาติ สมใจวงษ์ ประธานหอการค้ากิตติมศักดิ์ ได้ดำเนินโครงการปันกันอิ่มจะร่วมกับรถพุ่มพวงวิ่งไปแจกจ่ายอาหารถึงหน้าบ้านไปพร้อมๆกัน ช่วยให้ผู้ที่เดือดร้อน ไม่ต้องเดินทางมารวมกันที่เดียว ช่วยลดความแออัดของสถานที่แจกจ่ายอาหาร

ประธานหอการค้าจ.ขอนแก่น กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ในอนาคตนั้นมีอยู่ 3 เรื่องใหญ่ คือ เรื่องมาตรฐานทางด้านสาธารณสุข เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล และเรื่องอุตสาหกรรมอาหาร ที่ทุกธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญและต้องเร่งยกระดับให้เป็นที่ยอมรับอย่างรวดเร็ว

“ผมเชื่อว่าธุรกิจเกษตรจะกลับมาบูมอีกครั้งจะเห็นได้ว่าโรงสีข้าวในยุคโควิด 19 ดีใจกันเป็นพิเศษเพราะมีออร์เดอร์ล้นมือ คนในภาคการเกษตรที่เคยทิ้งถิ่นฐานจะได้กลับบ้านสักที” นายกมลพงศ์ กล่าวและว่า

เรื่องดิจิทัล มีคนอีสานเก่งๆไปขายสมองต่างเมืองจะได้โอกาสกลับมาสร้างเครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาปัญหาโควิด และการยกระดับคุณภาพสาธารณสุขเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ปัญหา พร้อมกับการสร้างงาน พัฒนาทักษะแรงงาน ยกตัวอย่างเช่น การที่กลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์จะตั้งอุตสาหกรรมระบบรางจะต้องมีแรงงานทักษะ

 

ปรับโครงสร้างศก.ใหม่แก้วิกฤตอีสาน

ดร.ธัญมัชฌ สรุงบุญมี อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทางด้านสุขภาพมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจอย่างชัดเจน และสถานการณ์นี้ยังไม่มีหน่วยงานใดสามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่าจะจบลงเมื่อใด

จากข้อมูลที่ตนได้สำรวจพบว่าประชากรส่วนมากของภาคอีสานเป็นแรงงานที่มีรายได้น้อยและอยู่ในภาคการเกษตร ส่วนรายได้ไปกระจุกตัวอยู่ที่ภาคอื่นๆ ภาคอีสานมีจุดแข็งเรื่องภาคเกษตรและภาคการศึกษา แต่เมื่อดูตัวเลขในแง่ผลิตภาพการผลิตภาคอีสานมีน้อยกว่าภาคอื่นๆ

ข้อมูลเหล่านี้กำลังบอกเราว่าบริษัทจะปลดคนที่มีทักษะต่ำก่อน ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นคนอีสาน และทำให้ต้องย้ายถิ่นฐานกลับบ้านเป็นจำนวนมาก ในทางตรงกันข้ามกับเรื่องนี้ก่อนเกิดวิกฤตคนอีสานย้ายถิ่นฐานและได้นำพาผลิตภาพการผลิตออกจากพื้นที่ไปด้วย แต่พอเกิดวิกฤตต้องกลับมาอีสานทำให้เกิดปัญหาซ้ำเติมภาคอีสาน จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน

ดร.ธัญมัชฌ กล่าวอีกว่า ปัญหาเหล่านี้เกี่ยวข้องการศึกษาและการย้ายถิ่นฐาน เพราะจากสถิติพบว่าครอบครัวที่อยู่ครบอาศัยอยู่ด้วยกันบุตรหลานจะมีการศึกษาที่ดีกว่า ครอบครัวที่มีการย้ายถิ่นฐานหรือลูกหลานอยู่กับตายายค่อนข้างมาก

มาตรการแก้ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจภาคอีสานหลังยุคโควิด-19 ควรจะนำปัญหาเดิมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขกลับมาพิจารณา อีกครั้งเพื่อสร้างภาคอีสานให้มีความยั่งยืนต่อไป ควบคู่ไปกับแนวทางการแก้ปัญหาระยะสั้น เช่น การเพิ่มทักษะแรงงาน เป็นต้น

“ผมขอเสนอให้ภาครัฐต้องเข้ามาแทรกแซงโครงสร้างเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่นในอดีตที่มีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมในส่วนนี้ช่วยได้” ดร.ธัญมัชฌ กล่าวและว่า

ขอย้ำตนไม่ได้เสนอว่าจะต้องสร้างนิคมอุตสาหกรรมในภาคอีสานเพียงแต่ยกตัวอย่างการแทรกแซงของรัฐบาลที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากโครงการใหญ่ๆของภาครัฐเท่านั้น

ดร.ธัญมัชฌ กล่าวอีกว่า มุมมองของประชากรยุคใหม่เกิดจากการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตตั้งแต่เด็ก จะเห็นได้ว่า คนสร้างอาชีพ สร้างเม็ดเงิน จากโอกาสที่มีอินเตอร์เน็ตใช้และได้เรียนรู้โลกกว้าง ไม่ได้จำกัดเหมือนดังเช่นในอดีต

การใช้อินเตอร์เน็ตควรเป็นการสร้างโอกาสมากกว่าคนรุ่นก่อนที่ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อคว้าโอกาส หากผู้ที่เกี่ยวข้องใช้โอกาสจากจุดนี้จะช่วยเสริมสร้างบุคคลากรที่เป็นกำลังหลักในการพัฒนาภาคอีสานต่อไป

……………………..

แสดงความคิดเห็น