รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี หารือคณะกรรมการบริหารคำชะโนด และอำเภอบ้านดุงเตรียมความพร้อมจัดระเบียบการให้บริการคำชะโนดแบบ New Normal ย้ำเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยว การเข้ากราบสักการะต้องจองคิว งดสัมผัสทุกรูปแบบ ด้านคำชะโนดใช้ช่วงนี้ปรับปรุงภูมิทัศฯ โดยรอบรองรับฤดูกาลท่องเที่ยว คาดเปิดให้บริการได้กลางเดือนมิถุนายน 63
วันที่ (19 พฤษภาคม 2563) ที่ห้องประชุมศาลาคำชะโนด บ้านโนนเมือง ตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี นายธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วย นายณัชฐเดช มุลาลี นายอำเภอบ้านดุง ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารคำชะโนด นายพงษ์ศักดิ์ ศรีชนะ กำนันตำบลบ้านม่วงและคณะกรรมการคำชะโนด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือการเตรียมมาตรการรองรับการเปิด “วังนาคินทร์คำชะโนด” เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้ากราบสักการะ เจ้าปู่ศรีสุทโธ เจ้าย่าศรีปทุมมา หลังจากปิดมาตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 และยังคงงดให้บริการจนถึงในขณะนี้
จากนั้น นายณัชฐเดช มุลาลี นายอำเภอบ้านดุง ได้นำรองผู้ว่าราชการจังหวัดดูพื้นที่ในคำชะโนด ซึ่งคณะกรรมการบริหารคำชะโนดได้เตรียมมาตรการเว้นระยะห่างของนักท่องเที่ยวในการเข้ากราบสักการะปู่ศรีสุทโธโดยจะให้ยืนระยะห่างกันประมาณ 1.50 เมตร แต่ละจุดไม่เกิน 5 นาที ไม่ว่าจะเป็นหน้าศาลปู่ศรีสุทโธ-เจ้าย่าศรีปทุมมา บริเวณโคนต้นมะเดื่อยักษ์ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ พร้อมชี้แจงแนวทางการปรับปรุงพื้นที่โดยรอบเกาะคำชะโนด เพื่อให้มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม และจัดพื้นที่งดการสัมผัสทุกรูปแบบ
นายธวัชชัย ศรีทอง เปิดเผยภายหลังมีการหารือ ว่า การเข้าชม เข้าสักการะ เจ้าปู่ศรีสุทโธ – เจ้าย่าศรีปทุมมา เกาะคำชะโนด ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของ ระบบการจองตั๋วและการลงทะเบียนทางออนไลน์ มาใช้ อาจทำการลงทะเบียนส่วนบุคคล หรือ เป็นหมู่คณะ โดยเมื่อทำการจองและลงทะเบียนในระบบเรียบร้อยแล้ว จะได้ QR Code เพื่อนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ในการของรับบัตรเข้าชม ส่วนผู้ไม่ได้ลงทะเบียนทางออนไลน์ ก็จะมีระบบการลงทะเบียนไว้รองรับ แต่จะมีความล่าช้าบ้างในการเข้าชม เข้าสักการะ ทั้งนี้ จะมีระบบการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายอัตโนมัติ มีการเว้นระยะห่าง ตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด 19 และระบบใหม่นี้สามารถที่จะสืบค้นข้อมูลของบุคคลที่เข้ามายังคำชะโนดได้อย่างรวดเร็ว การรายงานข้อมูลและสถิติมีความแม่นยำมากขึ้น
ซึ่งขณะนี้ ในส่วนของโปรแกรมและอุปกรณ์ส่วนควบ ได้มีการดำเนินศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะนำเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อฯ ภายในสัปดาห์ นี้ ส่วนการเข้ากราบสักการะปู่ศรีสุทโธเรายังยึดหลักเกณฑ์เดิม 9 ข้อ คือ 1.คัดกรองอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจล 2.พักคอยนั่งเก้าอี้รอเข้าสักการะ 3.เข้าคิวถอดรองเท้าเตรียมตัวเข้าสักการะ 4.เดินตามพนักงานเป็นแถวตามจำนวนกำหนด ห้ามลูบพญานาคตามสะพาน 5.วางพานบายศรีบนโต๊ะ ยืนไหว้ประกอบพิธี(ห้ามกราบ) ยืนห่างกัน 1-2 เมตร 6.เดินตามไปต้นมะเดื่อยักษ์ (ห้ามโรยแป้ง-ขัดต้นไม้) 7.เดินตามไปบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ (ห้ามตักน้ำดื่ม) และ 8.เดินตามออก 9 การบูชาของที่ระลึก ส่วน แผงจำหน่ายล็อตเตอรี่ ที่ผู้ค้าต้องป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญสัมผัสล็อตเตอรี่ที่จะซื้อ โดยให้ชี้เลือกเอาเลขที่ตัวเองชอบและรับจากมือผู้ค้าเอง
นายธวัชชัยฯ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวอีกว่า สำหรับนักท่องเที่ยวขอแจ้งวิธีปฏิบัติแบบนี้คือ แต่ละวันกำหนดให้คนเข้าคำชะโนดไม่เกิน 2,000 คนต่อวัน โดยให้บริการตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. แบ่งเป็น 2 รอบรอบเช้า 17 รอบ และรอบบ่าย 17 รอบ รวม 1 วัน 34 รอบ รอบละ 50 คน โดยการเดินทางเข้าคำชะโนดได้ครั้งละ 150 คนแบ่งเป็น 3 ชุดๆ ละ 50 คน ทิ้งระยะห่างกัน โดยแต่ละจุดที่อยู่ในเกาะคำชะโนดอยู่ไม่เกิน 5 นาที คือ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามากราบสักการะปู่ศรีสุทโธหน้าศาล ต้องยืนห่างกัน 1.50 เมตรไม่เกิน 5 นาทีแล้วเคลื่อนไปจุดที่ 2 ต้นมะเดื่อยักษ์ ไม่เกิน 5 นาที จุดที่ 3 บริเวณบ่อน้ำศักดิ์ก็ไม่เกิน 5 นาที พอชุดนี้เสร็จก็จะเป็นชุดต่อไปวนไปแบบนี้จะไม่มีการเดินส่วนกันเข้าออกแบบเก่า ซึ่งแต่ละชุดจะอยู่ภายในเกาะคำชะโนดไม่เกิน 30 นาที ชุดต่อไปก็จะทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ต่อเนื่องไปแบบนี้ และจะมีการหยุดพักการเข้าชมเพื่อเช็ดทำความสะอาด พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในแต่ละจุดเป็นระยะๆ ส่วนบริเวณต้นมะเดื่อยักษ์ที่คอหวยชอบไปเสี่ยงโชคนั้น จากนี้ไปจะไม่สามารถเข้าไปลูบคลำหาเลขเด็ดได้เพราะเจ้าหน้าที่จะนำโซ่มากั้นห้ามเข้าไปสัมผัสลูบคลำต้นมะเดื่อยักษ์โดยเด็ดขาด ยืนดูด้วยตาเปล่าได้และต้องยืนห่างกันตามจุดที่เจ้าหน้าที่ฯ กำหนดไว้ และเพื่อให้ประชาชนที่มาผักรอไม่รู้สึกเบื่อได้มีการนำเสนอแนวคิดในการพัฒนาคำชะโนด เพื่อให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมได้มีกิจกรรมร่วมมากขึ้น อาทิ การจัดตั้งศูนย์สินค้า OTOP การทำลานกิจกรรมที่เกี่ยวกับคำชะโนด การจัดตั้งศูนย์ศึกษาและวิจัยป่าพรุ การทำหอคอยจุดชมวิว รวมถึงการวางระบบชลประทาน ในการป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้ง ซึ่งการพัฒนาทั้งหมดนี้ทุกภาคส่วนต้องมีความเห็นพ้องร่วมกันในการดำเนินการ
เครดิต : ทีมข่าว ส.ปชส.อด. ศรีภูมิ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ข่าว/ภาพ