ซอฟต์โลนฝ่าวิกฤต COVID-19 ให้ SMEs

หากพูดถึงวิกฤต COVID-19 ในครั้งนี้แล้ว เชื่อว่าแทบทุกคนย่อมได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs ซึ่งได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง หลายแห่งไม่คาดคิดว่าจะส่งผลทำให้ยอดขายลดลงได้อย่างมหาศาล หลายแห่งต้องหยุดกิจการอย่างแทบจะไม่รู้เนื้อรู้ตัว ทั้ง ๆ ที่ SMEs เองก็ได้พยายามปรับตัวทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุน การหาแหล่งเงินกู้ที่มีต้นทุนต่ำเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ แต่ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากในช่วงที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเช่นนี้

SMEs มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยและเป็นแหล่งจ้างแรงงานหลักของประเทศ การช่วยให้ SMEs ก้าวผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปให้ได้จึงมีความสำคัญ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือ SMEs โดยการเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจผ่านการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำหรือสินเชื่อซอฟต์โลน ในวงเงินรวมไม่เกิน 500,000 ล้านบาท เพื่อให้ SMEs นำไปใช้ดำเนินธุรกิจ เช่น ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้การค้า จ่ายค่าแรงงาน เป็นต้น แต่ต้องไม่นำเงินสินเชื่อซอฟต์โลนนี้ไปใช้ชำระหนี้เดิมที่มีอยู่กับสถาบันการเงิน (Refinance)

สำหรับ SMEs ที่จะขอสินเชื่อซอฟต์โลนได้ ต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล
ที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีร้านค้าและทำธุรกิจในประเทศไทย ไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ต้องไม่เป็นลูกหนี้ NPL ของสถาบันการเงิน รวมทั้งมีวงเงินสินเชื่อเดิมกับสถาบันการเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท
โดย SMEs จะขอสินเชื่อใหม่ได้ไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง และได้รับสิทธิพิเศษจ่ายดอกเบี้ย
ไม่เกิน 2% เป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรก SMEs ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเลยแม้แต่บาทเดียว เพราะภาครัฐจะจ่ายให้แทน และไม่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใด ๆ ภายใต้มาตรการ
ซอฟต์โลนนี้ด้วย

ถึงแม้วิกฤต COVID-19 ในครั้งนี้จะค่อนข้างหนักหนาเอาการ แต่ด้วยศักยภาพของ SMEs ที่พร้อมจะสู้ไปด้วยกันและการสนับสนุนของสินเชื่อซอฟต์โลนในครั้งนี้ ก็จะเป็นตัวช่วยให้ SMEs สามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ อย่างไรก็ดี สินเชื่อซอฟต์โลนจะหมดเขตในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 นี้แล้ว ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น ดังนั้น SMEs ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามจากสถาบันการเงินที่ท่านเป็นลูกค้าอยู่ได้โดยตรงหรือหากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อไปยังศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. ที่ Call center  โทร. 1213 ค่ะ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

โดย-นางสาวพรวิภา แสงศิริวิวัฒน์ ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน

แสดงความคิดเห็น