บุคคลทั้ง 15 คนกระทำการ โดยไม่ชอบด้วยระเบียบ ขัดต่อข้อบังคับเจตนาร่วมกัน ยักยอก ฉ้อโกง ที่ดินของสหกรณ์ฯบึงกาฬ
เราจะเริ่มด้วยการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 50(10) เรื่องทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ ด้วยการร้องทุกข์กล่าวโทษรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการกับพวกรวม 15 คน เมื่อครั้งเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ กระทำการทุจริตสร้างความเสียหายแก่สหกรณ์ฯ และสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูบึงกาฬ จำกัด ขณะนี้ในข้อหากระทำความผิดของรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(นายธีรพงษ์ สารแสน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาจังหวัดบึงกาฬ(สพป.บึงกาฬ 2560) และประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูบึงกาฬจำกัด ชุดที่ 3 (พ.ศ.2560) ฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการในการจัดซื้อที่ดินแพงกว่าราคาประเมินมูลค่า 28 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2560 พร้อมกับพวกรวม 15 คนประกอบด้วยด้วย นายเกรียงศักดิ์ พานโคกสูง(สพป.บึงกาฬ) นายณรงค์ หวันลา (สพป.ฯ) นายไกรศร ถนอมดำรงศักดิ์(สพป.ฯ) นายณรงค์ จำปามี (สพป.ฯ) นายประพันธ์ อินหา (สพป.ฯ) นายเสกสรร สารณีย์ (สพป.ฯ) นายชัยวิชิต จันทะราม (สพป.ฯ) นาวัฒนา จันทรโคตร (สพป.ฯ) นายประไพ อุณาศรี (บำนาญ สพป.ฯ) นายวิเศษ อิ่มรักษา (สกสค.เลย) นายธวัชชัย เหมวงษ์ (สพม.21) นายอมรเทพ วิภาวิน (สพม.21) นายธีรพงษ์ สารแสน (รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ) นางประไพ บุญโท (สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดฯ)
บุคคลทั้ง15 คนกระทำการโดยไม่ชอบด้วยระเบียบ ขัดต่อข้อบังคับ และไม่มีอำนาจปฏิบัติหรือดำเนินการโดยจงใจเจตนาร่วมกันยักยอก ฉ้อโกงที่ดินของสหกรณ์ฯบึงกาฬจำกัด อนุมัติทำนิติกรรมสัญญาให้กับนายวัฒนา จันทรโคตรในวันที่ 3 เมษายน 2561 ราคา 28 ล้านบาท และให้ผู้ซื้อที่ดินนำไปจดจำนองที่ดินในราคา 15 ล้านบาทกับนายสมบูรณ์ ศุภวงษ์) ทำให้สหกรณ์ฯและสมาชิกสหกรณ์ฯ ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง สูญเสียที่ดินและเงินจากการขายที่ดินมีมูลค่า 28 ล้านบาท
อีกทั้งในการทุจริตจัดซื้อที่ดินของคณะกรรมการดำเนินการฯ ในวาระแรก (เมื่อ 29 ธันวาคม 2560) เป็นเหตุให้สมาชิกต้องแบกรับภาระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยจำนวนมากส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงทางการเงิน การบัญชี ตลอดจนสถานะความมั่นคงของสหกรณ์ฯ ประกอบกับพยานหลักฐานอันประจักษ์ชัดการโอนเงินจากบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาเซกาของนายวัฒนา จันทรโคตรไปยังกรรมการดำเนินการฯในวันที่ 29 ธันวาคม 2560 และการที่คณะกรรมการดำเนินการจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรองนายทะเบียนบึงกาฬที่สั่งการให้คณะกรรมการดำเนินการฯ แก้ไขข้อบกพร่องตามวิธีการและระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด (คำสั่งฯที่ บก 8/2561 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2561) ที่สั่งให้ทำการยกเลิกนิติกรรมสัญญาซื้อขายที่ดินตามสัญญาลงวันที่ 29 ธันวาคม 2560 ให้เป็นโมฆะ (กลับคืนสู่สถานะเดิม)
แต่คณะกรรมการดำเนินการฯ กลับลงมติและทำนิติกรรมสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งใหม่เพิ่มขึ้น)(สัญญาลงวันที่ 3 เมษายน 2561) เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงคือ สูญเสียที่ดินจำนวน 3 แปลง(15 ไร่) และสูญเสียจากค่าขายที่ดินโดยมิชอบจำนวน 28 ล้านบาท ดังนั้นนายภูริทัต ภูริชัยแสงกับพวกรวม 5 คน ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้โปรดมีบัญชาให้คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงมีคำสั่งให้รองปลัดกระทรวงฯ ในฐานะประธานกรรมการสหกรณ์ฯ บึงกาฬจำกัดกับพวกรวม 15 คนพ้นจากตำแหน่งโทษฐานมีมลทินมัวหมอง มีผลประโยชน์ทับซ้อนและแสวงหาผลประโยชน์ไว้ก่อนระหว่างการสอบสวน และขอให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการโปรดดำเนินการด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้ เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาอ้างกับข้าราชการครูฯในจังหวัดบึงกาฬว่ามีความสัมพันธ์และใกล้ชิดกับปลัดกระทรวงฯ (อ้างในหนังสือร้องเรียนของนายสมคิด หอมเนตร และนายฉัตรชัย นาคนุรักษ์ ลว.3 พฤษภาคม 2563 ถึง รมว.ศธ.)
รายงานข่าวแจ้งว่า นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง และ สพฐ. ยังอยู่ในขั้นตอนที่จะลงโทษทางวินัยกรรมการดำเนินการทั้ง 14 คนแล้ว เรื่องนี้ผู้ร้องเรียนจะได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีในรอบ 1 เดือนว่า เรื่องการตรวจสอบทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูบึงกาฬจำกัด ทราบตามหนังสือด่วนที่สุดที่ นร 0505/13582 ลงวันที่ 30 เมษายน 2563 เรื่องให้รายงานความคืบหน้าในการแก้ปัญหาสหกรณ์ออมทรัพย์ครูบึงกาฬ จำกัด (ในหนังสือนี้ระบุว่า รวมทั้งให้จัดทำความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของสหกรณ์เสนอต่อนายกรัฐมนตรีทุกๆ 1 เดือนโดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป) ในเดือนมิถุนายน 2563 ให้นายกรัฐมนตรีทราบต่อไป
หันมาพิจารณาองค์กรระดับมหึมาของประเทศ คือสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด(สมาชิกกว่า 2.5 หมื่นคน) เป็นองค์กรธุรกิจสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศ เรา(ผู้เขียน) เคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสหกรณ์แห่งนี้มาก่อนในปี 2546-2547 มาก่อน และยังเป็นกรรมการผู้ก่อตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด(ส.ส.นม.) เลขที่สมาชิก 22 ด้วย ประกอบกับมีการจัดตั้งสมาคมฌาปนกิจฯขึ้นอีก 2 องค์กร(รวมเป็น 3 องค์กร) คือ ส.ฌ.นม. และ ฌ.ส.นม. ทั้ง 3 สมาคมฯนี้มีสมาชิกเกินกว่า 1 หมื่นคนขึ้นไป
การเขียนครั้งนี้ มิได้มุ่งหมายจะไปเป็นฐานเสียงให้กลุ่มใด และไม่ประสงค์ให้กระทบสมาชิกผู้รักความถูกต้องตามกฎหมาย ข้อบังคับและระเบียบ เท่านั้น(ย้ำเท่านั้น) แต่ถ้าท่านเห็นว่าเรามีการเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จก็สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลได้ เรายินดีเสมอที่จะไปพิสูจน์ที่ศาล(เราเคยถูกอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งฟ้องคดีหมิ่นประมาท 5 คดี คดีแพ่งเรียกละเมิด 100 ล้านบาทอีก 1 คดี ปรากฏว่า ศาลฎีกา(ศาลสุดท้าย) ยกฟ้องจากศาลชัยภูมิ ศาลฉะเชิงเทรา ศาลมีนบุรี ศาลปทุมธานี และถอนฟ้องในศาลแพ่งรัชดาฯอีกคดี โดยไม่วิงวอนขอให้ (ผู้ที่จะเป็น) โจทก์ถอนฟ้องเราเป็นอันขาด
เราเริ่มจากองค์กรแรกคือ ส.ส.นม. (สมาคมฯที่ 1จัดตั้งปี 2527) องค์กรที่คิดว่าได้จดทะเบียนถูกต้อง แต่การเลือกตั้งและการตรวจสอบจากคณะผู้ตรวจสอบกิจการไม่สู้จะเข้มข้นนัก (ยังไม่ถึงเวลาที่จะเผยแพร่เรื่องอันเป็นประเด็นพิเศษออกไป) ในต้นปี 2563 หลังจากนายพิชัย สมพงษ์ (อดีตกรรมการสหกรณ์ครูฯ หลายสมัยและกรรมการสมาคมฯนี้) และนายสัมนา ฉัตรบุญจรัส (อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนและ อดีต ก.ก.ต.นครราชสีมา) และคนอื่นๆ เรียกร้องต่อนายทะเบียนประจำท้องที่ฯ (เทศบาลตำบลปรุใหญ่) เมื่อไม่เป็นผลผู้ร้องก็ทำการฟ้องศาลปกครองกลางนครราชสีมา และร้องเรียนไปยังนายทะเบียนกลางสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ (อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) และในที่สุดนายทะเบียนกลางฯ ก็ให้นายทะเบียนประจำท้องที่ฯ เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ที่ได้นัดประชุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และเพิกถอนการรับจดทะเบียนแต่งตั้งและเปลี่ยนตัวกรรมการสมาคมฯ ชุดที่ 11 (หนังสือนายทะเบียนกลางฯ ที่ พม 0505/3536 ลว 26 ธันวาคม 2562) ยังคงค้างคาทิ้งไว้ให้ชวนสงสัย 4 เรื่อง (จะได้ค่อย ๆ เปิดเผยต่อไป)
สมาคมที่ 2 “สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์บุคลากรทางการศึกษาและสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา จำกัด” (ส.ฌ.นม.) จัดตั้งเมื่อปี 2557 และสมาคมที่ 3 “สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจำกัด และบุคลากรทางการศึกษานครราชสีมา (ฌ.ส.นม.) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 ทั้งสองสมาคมที่จัดตั้งภายหลังนี้มีการจัดตั้งและธุรกรรมน่าจะเป็นประเด็นพิรุธหลายประการ เช่น การจดทะเบียนถูกต้องครบถ้วนตามพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 หรือไม่ มีการเรียกประชุมใหญ่ทั้งการมีหนังสือเชิญประชุม จำนวนผู้เข้าประชุม ถูกต้องหรือไม่
เรื่องนี้กำลังอยู่ในขั้นโต้แย้งกัน 4 ฝ่าย ระหว่างสมาคมฌาปนกิจทั้ง 3 สมาคม กับนายทะเบียนประจำท้องที่เทศบาลปรุใหญ่ และนายทะเบียนกลางฯ ของกรมกิจการสตรีฯ และคณะผู้ร้องเรียนจำนวน 223 คนอยู่ในขณะนี้
ประเด็นที่เรา (ผู้เขียน) ให้ความสนใจเป็นพิเศษเมื่อกลุ่มผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษในกลุ่มบุคคลต่อไปนี้ ทั้ง 3 องค์กรได้แก่ (1) คณะกรรมการ,เจ้าหน้าที่ และผู้ตรวจสอบบัญชีสมาคม ส.ฌ.นม. (2) คณะกรรมการ,เจ้าหน้าที่และผู้ตรวจสอบบัญชีสมาคม ฌ.ส.นม. และ (3) คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ ผู้จัดการ เจ้าหน้าที่และคณะผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครคราชสีมา จำกัด “ทั้ง 3 องค์กรมีพฤติการณ์ร่วมกันดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยฝ่าฝืนกฎหมาย
กฎกระทรวง ประกาศนายทะเบียนกลางฯ และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องทำการตกแต่งบัญชีด้านการเงิน ซึ่งอาจจะมีการแสวงหาผลประโยชน์จากความตายของมนุษย์ด้วยการร่วมกันยักยอกฉ้อโกงประชาชนอันเป็นพฤติการณ์ที่กระทำไปโดยไม่สุจริตและเป็นภัยร้ายแรงต่อประชาชนที่เป็นสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์และเพื่อการคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของประชาชนที่เป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์จำนวนมาก” และอาจรวมถึงเจ้าหน้าที่และผู้สั่งการให้หักเงิน ณ ที่จ่ายจากเขตพื้นที่การประถมศึกษา และมัธยมศึกษาในจังหวัดแก่สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ประเภท “ประชาชน” จัดตั้ง (มิใช่สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ส่วนราชการจัดตั้ง) ไว้ด้วย ลงนามนายสำเภา ทวีผล (นิติกร สพป.เขต 1 นม. สมาชิกสมาคมทั้ง 3 แห่ง) นายพิชัย สมพงษ์ (สมาชิก ส.ส.นม.และเลขาธิการศูนย์) นายสัมนา ฉัตรบุญจรัส และรายชื่อสมาชิกที่ถูกบังคับให้สมัครเป็นสมาชิก ส.ฌ.นม. และ ฌ.ส.นม. จำนวน 223 ราย
รายงานข่าวอย่างลึกแจ้งว่าศูนย์ฯนี้ ได้ทำหนังสือร้องทุกข์ที่พิเศษ 1/2563 ลว 8 พฤษภาคม 2563 ไปถึงนายทะเบียนกลางฯ แล้วจำนวน 44 หน้ากระดาษ และยังได้ส่งให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษว่าร่วมกันยักยอกฉ้อโกงประชาชน และกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับไว้แล้วเช่นกัน เอกสารทั้งหมดนั้นจะมีสุ่มตัวอย่างจาก สพป. จาก 6 เขตคือ เขต 1 เขต 2 เขต 3 เขต 4 เขต 5 เขต 6 (ยกเว้นเขต 7) ดังตัวอย่างหน้า 30 โดยจะอธิบายดังนี้ สมาชิก สฌ.นม.17,166 คน
สมาชิก ฌ.ส,นม.9,439 คน ในวันที่ 26 มีนาคม 2562 จำนวนสมาชิกตาย 4 ศพ จำนวนเงิน 20 บาทต่อ 1 ศพ จำนวนเงิน(ที่สมาชิกถูกเรียกเก็บไป) ทั้ง ส.ส.นม.(หมึกดำ) และ ฌ.ส.นม. (หมึกน้ำเงิน) ในหน้า 30 นี้ชี้ให้เห็นว่า 1. เก็บเงินค่าสงเคราะห์ศพ 4 ศพ 180 บาท(หมึกแดง) ศพๆ ละ 45 บาท(หมึกแดง) สูงกว่าอัตราที่กำหนดศพละ 15 (หมึกแดง)บาท ผิดกฎกระทรวง(หมึกแดง) 2547 2. เก็บเงินค่าสงเคราะห์ศพมากกว่าที่แจ้งตาย 60 บาท(หมึกแดง) หรือมากกว่า 2 ศพ(หมึกแดง) (ดังนั้น) สหกรณ์ฯ และสมาคม ฌ.ส.นม.ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน
ท่านโปรดดูสีของหมึกดำ-น้ำเงิน-แดงจะบ่งบอกลักษณะความผิดปกติ อันเป็นที่มาของการร่วมกันยักยอกและฉ้อโกงประชาชนอย่างชัดเจน ด้วยเอาช่องตารางจำนวนเงินตั้งแล้วหารด้วยช่องตารางจำนวนเงินต่อศพ แล้วคิดตามไปก็จะทราบดี เช่น ใน 26/03/2562 ส.ฌ.นม.ตาย 4 ศพ และ ฌ.ส.นม.ก็ตาย 4 ศพ แต่การเรียกเก็บเงินไม่ตรงกัน แต่ละเขตฯ ก็เรียกเก็บจำนวนไม่เท่ากัน และใน 25/04/2562 ส.ฌ.นม.ตาย 3 ศพ และ ฌ.ส.นม.ตาย 3 ศพ ก็เรียกเก็บเงินไม่ตรงกัน และเรียกเก็บไม่เท่ากัน อีกด้วย
พฤติการณ์ประจักษ์แจ้งเช่นนี้ หนังสือนี้ได้รวบรวมมาบางส่วนตั้งแต่ปี 2558-2559-2560-2561-2562 และ 2563 ย่อมยืนยันว่า ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนผู้กระทำต้องระวางโทษ…และความผิดนี้เป็นความผิดอันยอมความมิได้ และศาลฎีกาไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามีจำนวนมากน้อยแต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความเป็นเท็จต่อประชาชน (คำพิพากษาฎีกาที่ 6645-6646/2558)
เห็นหรือยังว่า สหกรณ์ครูฯร่วมกับสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ฯที่บังคับครูให้เข้าเป็นสมาชิกของสหกรณ์ครูแทบทุกแห่งทั่วประเทศ แล้วก็ฉ้อโกงประชาชนครูมันเป็นเช่นใด.
(ติดตามตอนที่ 10 การโต้แย้งและแรงพายุกำลังพัดพาสิ่งโสโครกออกไป)