ขอนแก่นจัดเที่ยว’ร้อยแก่นสารสินธุ์จูราสสิค’

ขอนแก่นจัดใหญ่ท่องเที่ยวยุคก่อนประวัติศาสตร์ ร้อยแก่นสารสินธุ์ จูราสสิคส่งเสริมการท่องเที่ยวอุทยานธรณี ขอนแก่นจีโอพาร์ค กระตุ้นตลาดและผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ และดันให้เป็นอุทยานธรณีระดับโลก ระหว่างวนที่ 24-26 ก.ค.63 ที่ตลาดต้นตาลขอนแก่น 

วันที่ 16 ก.ค. 63 ที่ห้องมงกุฏเพชร โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานการแถลงข่าว การจัดกิจกรรมท่องเที่ยวยุคก่อนประวัติศาสตร์ ร้อยแก่นสารสินธุ์ Jurassic ภายใต้โครงการพัฒนาตลาดท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคม2563 ที่ตลาดต้นตาลขอนแก่น

ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การจัดกิจกรรมร้อยแก่นสารสินธุ์ จูราสสิค ของจังหวัดขอนแก่น จะเป็นการนำของดีซึ่งมีอยู่ในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ ที่เป็นของดีร่วมกัน คือฟอสซิลไดโนเสาร์ ซึ่งมีอยู่ในพื้นที่บริเวณแห่งนี้มากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีไดโนเสาร์ที่มีสายพันธุ์ต่างๆในประเทศไทย ถึง 12 สายพันธุ์ โดยค้นพบที่จังหวัดขอนแก่นมากถึง 5 สายพันธุ์ ดังนั้น จังหวัดขอนแก่นจึงมีความภาคภูมิใจในการที่จะนำของดี ซึ่งถือเป็นสมบัติของคนทั้งชาติและเป็นสมบัติที่ชาวขอนแก่นได้ดูแลแทนคนทั้งชาติให้เป็นสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจ ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้จะมีการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวกับกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ คือร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ในระหว่างวันที่ 24 – 26 กรกฎาคม 2563 นี้ ที่บริเวณตลาดต้นตาลขอนแก่น ซึ่งจะมีกิจกรรมการแสดงศิลปะพื้นถิ่น โดยสร้างสรรค์สวนเรืองแสงในยุคจูราสสิก เพื่อให้เด็ก เยาวชนได้ศึกษาเรียนรู้และเพื่อให้ทุกคนได้นำเรื่องราวที่ดีในการสานต่อและแสดงออกให้กับพี่น้องชาวไทยทั้งประเทศไทย และชาวภาคอีสานได้มีความภาคภูมิใจว่าถิ่นนี้เป็นถิ่นที่มีความอุดมสมบูรณ์มาแต่ในอดีตกาล

ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ยังได้กล่าวถึง การขับเคลื่อนอุทยานธรณีขอนแก่น หรือจีโอพาร์ค ว่า หัวใจสำคัญของการเป็นจีโอพาร์ค ทั้งในระดับจังหวัด ระดับระดับประเทศ และในระดับนานาชาติ นั้น คือความยั่งยืนที่พี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนจะต้องรักษาและธำรงเอาไว้ถึงสิ่งดีๆที่มีอยู่ รวมถึงเชิดชูและนำเสนอให้คนทั่วโลกได้ร่วมกันรักษาสมบัติของโลกชิ้นนี้ ให้สืบเนื่องต่อไป เพราะหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุทยานธรณี นั้น คือ การที่พี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นถิ่นนั้นๆ จะต้องได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืนควบคู่กันไปด้วย ซึ่งคณะกรรมการจะมีการประเมินในวันที่ 21 – 25 กรกฎาคม นี้ โดยตัวชี้วัดที่สำคัญที่ในการประเมิน คือการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในทุกมิติ ทั้งในเรื่องการสื่อสาร การดูแลรักษา ความรู้ความเข้าใจ การเรียนรู้และที่สำคัญ คือประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการที่จะได้เป็นชุมชนที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติของโลกได้อย่างไร

#PRKHONKAEN

แสดงความคิดเห็น