มุกดาหาร-บึงกาฬ-กาฬสินธุ์ ติดโผสนามบินภูมิภาคแห่งใหม่

“คมนาคม” ดันสร้างสนามบินภูมิภาคแห่งใหม่  7 แห่ง พัทลุง, สตูล, บึงกาฬ, มุกดาหาร, พะเยา, กาฬสินธุ์ และนครปฐม เพื่อเร่งกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงผลงาน 1 ปีในฐานะผู้กำกับดูแลกรมท่าอากาศยาน (ทย.) โดยระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้ผลักดันทุกโครงการตามแผน 10 ปี (2558 – 2567) ภายใต้วงเงินลงทุนกว่า 36,634 ล้านบาท เพื่อตองสนองความต้องการของประชาชนและยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งในปี 2562 – 2563 ทย.ได้ใช้งบประมาณรวมกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานแห่งใหม่และเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยาน 29 แห่งที่อยู่ภายใต้การดูแล

ขณะเดียวกันในปี 2564 กรมท่าอากาศยาน.ยังได้รับจัดสรรงบประมาณ 5.8 พันล้านบาท เพื่อพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง อาทิ ท่าอากาศยานกระบี่ ซึ่งใช้งบผูกพันระหว่างปี 2562 – 2564 รวมประมาณ 6 พันล้านบาท ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ หลังที่ 3 และปรับปรุงอาคารหลังที่ 1 และ 2 รวมทั้งสร้างลานจอดเครื่องบินเพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ ปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้าอย่างมาก คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565

อย่างไรก็ดี เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ตนยังผลักดันให้ กรมท่าอากาศยาน.เดินหน้าก่อสร้างท่าอากาศยานพาณิชย์แห่งใหม่ ในจังหวัดที่ยังไม่มีท่าอากาศยานในพื้นที่ เพื่อใช้เชื่อมต่อกับท่าอากาศยานหลักอย่างสุวรรณภูมิ และดอนเมือง โดยขณะนี้ทราบว่า กรมท่าอากาศยาน มีแผนพัฒนาท่าอากาศยานใหม่ 7 แห่ง ประกอบไปด้วย พัทลุง, สตูล, บึงกาฬ, มุกดาหาร, พะเยา, กาฬสินธุ์ และนครปฐม

นายถาวร ยังกล่าวด้วยว่า ท่าอากาศยานนครปฐม ถือว่ามีความคืบหน้าอย่างมาก โดยปัจจุบันได้ศึกษาความเป็นไปได้เสร็จเรียบร้อย อยู่ระหว่างพิจารณาการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) หากผ่านการเห็นชอบ จะเข้าสู่ขั้นตอนให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในปลายปีนี้

ขณะเดียวกัน ท่าอากาสยานมุกดาหาร ก็ถือว่ามีความคืบหน้าในการดำเนินโครงการ โดยปัจจุบัน กรมท่าอากาศยาน.ได้ศึกษาความเป็นไปได้แล้วเสร็จ โดยมีกำหนดพื้นที่ก่อสร้างท่าอากาศยานดังกล่าวที่ ตำบลคำป่าหลาย ห่างจาก อำดภอเมืองมุกดาหาร ประมาณ 15 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 4 – 5 พันล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน กรมท่าอากาศยาน.อยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอกระทรวงคมนาคม

ส่วนท่าอากาศยานแห่งใหม่ที่จังหวัดพัทลุง, สตูล, บึงกาฬ อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง ขณะที่ท่าอากาศยานพะเยา และกาฬสินธุ์ ทย.อยู่ระหว่างขอรับการสนับสนุนงบประมาณในปี 2564 เพื่อเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ

แสดงความคิดเห็น