ศก.อีสานไตรมาส 2/2563 ยังน่าห่วง แบงก์ชาติเร่งช่วย SMEs/รายย่อย

ศก.อีสานไตรมาส 2/2563 ยังน่าห่วง แบงก์ชาติเร่งช่วย SMEs/รายย่อย ปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มสภาพคล่อง ควบคู่กับการปล่อยกู้ให้ธุรกิจขนาดใหญ่พยุงการจ้างงานในระบบ

วันที่ 4 ส.ค. 63 ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายประสาท สมจิตรนึก ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เปิดแถลงข่าวเรื่อง ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ว่า สภาพเศรษฐกิจหดตัวมากขึ้นจากไตรมาสก่อนจากผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เข้มงวดในช่วงต้นไตรมาส

รวมถึงมาตรการจำกัดการเดินทางทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายภาคส่วนหยุดชะงักชั่วคราว ก่อนจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาสจากการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวสูง ตามการใช้จ่ายในทุกหมวดจากกำลังซื้อที่อ่อนแอและผลของมาตรการควบคุมการระบาดโรคโควิด-19 ด้านผลผลิตเกษตรหดตัวจากผลของภัยแล้ง การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนหดตัว ตามอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน หลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 มีผลบังคับใช้

ในเรื่องเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ จากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานที่หดตัวสูง ตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ลดลงตามราคาตลาดโลก ประกอบกับค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปาที่ลดลงตามมาตรการบรรเทาค่าครองชีพ ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นมาก

นายประสาท สมจิตรนึก ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.)

“สำหรับภาคการเงินภาพรวมทั่วประเทศ ข้อมูล ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 พบว่า ยอดเงินฝากคงค้างขยายตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จากเงินเยียวยาภาครัฐ ด้านสินเชื่อคงค้างขยายตัวเล็กน้อย จากสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง และมาตรการพักชำระหนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ขณะที่สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวจากสินเชื่อครัวเรือน”

นายประสาท กล่าวอีกว่า ด้านเศรษฐกิจภาพรวมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีข้อมูลสรุปได้ว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน หดตัวมากขึ้น ตามการใช้จ่ายในทุกหมวดจากกำลังซื้อที่อ่อนแอรวมถึงผลจากความกังวลต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดในช่วงต้นไตรมาส ทำให้การเดินทางและการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลงมาก โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดบริการที่หดตัวสูง

“สอดคล้องกับภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ที่หดตัวมากขึ้น โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือนหดตัวสูงทั้งนักท่องเที่ยวและนักทัศนาจรในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม จากมาตรการห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ส่งผลให้รายได้ภาคบริการสาขาโรงแรมและภัตตาคารหดตัว สำหรับอัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ร้อยละ 5.0 ลดลงมากจากไตรมาสก่อน”

รายได้เกษตรกร หดตัวน้อยลง จากผลผลิตปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการบริโภคในประเทศและส่งออก ทำให้ชดเชยผลผลิตข้าวนาปรังที่หดตัวจากผลของภัยแล้งได้บางส่วน ด้านราคาสินค้าเกษตรชะลอตัว ตามราคาข้าวเปลือกเหนียวที่ชะลอตัว และราคายางพาราที่หดตัวจากอุปสงค์โลกและราคาน้ำมันที่ลดลง

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง จากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอ โดยการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวมากขึ้น ตามการผลิตเพื่อการส่งออกที่หดตัว ทำให้การนำเข้าสินค้าทุนลดลง โดยเฉพาะเครื่องจักรและชิ้นส่วนเครื่องจักร และอุปกรณ์โทรคมนาคม ขณะที่การลงทุนก่อสร้างหดตัวน้อยลงตามการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปรับดีขึ้นบ้าง

การผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัวต่อเนื่อง ตามการผลิตอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร โดยเฉพาะการผลิตน้ำตาลทรายที่หดตัวตามปริมาณวัตถุดิบที่ลดลงจากผลกระทบของภัยแล้ง การผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หดตัวจากมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงต้นไตรมาส และการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หดตัวตามการส่งออกไปประเทศคู่ค้าสำคัญที่ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

นายประสาท กล่าวอีกว่า การใช้จ่ายภาครัฐ กลับมาขยายตัว ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน หลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 มีผลบังคับใช้ โดยรายจ่ายประจำเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นในหมวดรายจ่ายอื่นของกรมการปกครอง และหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปขององค์การบริหารส่วนจังหวัด และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขณะที่รายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมชลประทาน และกรมทางหลวงชนบท

“มูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากรขยายตัวต่อเนื่อง โดยการนำเข้าขยายตัวในหมวดมือถือ/อุปกรณ์จากจีนตอนใต้ที่ขยายตัวจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น ตามการเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ที่ราคาจูงใจ และหมวดคอมพิวเตอร์จากจีนตอนใต้ เพื่อรองรับการทำงานที่บ้าน ด้านการส่งออกกลับมาขยายตัวจากการส่งออกไปจีนตอนใต้ในหมวดชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์ ประเภท Cloud Computing ตามความต้องการใช้งานประมวลผล และจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ และหมวดผลไม้ ตามความต้องการบริโภคและปริมาณผลผลิตที่สูงกว่าปีก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ จากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานที่หดตัวสูง ตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ลดลงตามราคาตลาดโลก ประกอบกับค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปาที่ลดลงตามมาตรการบรรเทาค่าครองชีพ ขณะที่หมวดอาหารสดชะลอลงจากราคาข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์ เป็ด และไก่ ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นมาก

ภาคการเงิน ข้อมูล ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 เงินฝากคงค้างขยายตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนทั้งธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จากเงินฝากออมทรัพย์ที่ขยายตัวตามมาตรการเยียวยาภาครัฐ และความต้องการรักษาสภาพคล่องของธุรกิจและนักลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง ด้านยอดสินเชื่อคงค้างขยายตัวเล็กน้อย จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจตามสินเชื่อเสริมสภาพคล่องขยายระยะเวลา และมาตรการพักชำระหนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวจากสินเชื่อครัวเรือน ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ที่ลดลง

นายประสาท กล่าวอีกว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปัจจัยบวกจากการควบคุมโควิด-19 ของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ พร้อมกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจบางสาขาโดยเฉพาะภาคบริการที่ปิดตัวไปกลับมาให้บริการได้อีกครั้ง นอกจากนี้โครงการรัฐยังเป็นปัจจัยหนุนสำคัญให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือ การกลับมาระบาดของโควิด-19 ครั้งที่ 2 และภาวะเศรษฐกิจในครัวเรือนอีสานที่มีความเปราะบางจากข้อมูลผู้ตกงานและขอรับเงินชดเชยจากประกันสังคมจำนวนมากสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนไหวในภาคการบริโภคที่คาดว่าจะหดตัว นอกจากนี้สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกายังส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจทั่วโลก

โดยมาตรการช่วยเหลือของแบงก์ชาติโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย และสินเชื่อ Soft Loan เพิ่มสภาพคล่องในระบบ เน้นช่วยเหลือ SMEs และ รายย่อย ควบคู่กับการปล่อยกู้ให้ธุรกิจขนาดใหญ่พยุงการจ้างงานในระบบ

วีดีโอ

แถลงข่าวเศรษฐกิจอีสาน ไตรมาส 2/2563

แบงก์ชาติอีสานแถลงข่าวเศรษฐกิจอีสาน ไตรมาส 2/2563 4 สิงหาคม 63 ถ่ายทอดสดโดย เว็บไซต์ข่าวอีสานบีช…- มาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มงวด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. 63 เศรษฐกิจหดตัวอย่างมาก แต่เมื่อผ่อนคลายมาตรการแล้วเศรษฐกิจอีสาน หดตัวน้อยลงในเดือน มิ.ย.และ ก.ค. 63- เงินอุดหนุนจากโครงการัฐเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ- แนวโน้มเศรษฐกิจอีสานในภาพรวม เชื่อว่าดีขึ้นหากรัฐสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้- สงครามการค้าของระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกผันผวน- สถานะทางการเงินในครวบครัวอีสานค่อนข้างเปราะบาง ส่งผลต่อความสามารถในการซื้อและหนี้เสีย- แบงชาติออกมาตรการช่วยเหลือลูกนี้ (ดูมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 2 https://kk.esanbiz.com/31383)

Posted by อีสานบิซ on Monday, August 3, 2020

 

 

แสดงความคิดเห็น