แบงก์ชาติเผยโควิด-19 ทำคนตกงาน 8.4 ล้าน

ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยวิกฤตโควิด-19 ทำให้แรงงาน 8.4 ล้านคนตกงาน หนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ชี้ภาคเกษตรเป็นทางรอด

รายงานข่าวแจ้งว่า พิทูร ชมสุข, จิราภรณ์ พินนาพิเชษฐ,เพชรลักษณ์ บุญญาคุณากร  ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยบทความเรื่อง “โควิดทุเลา แรงงานบ้านเฮาสิเฮ็ดเกษตรจังได๋” ว่าวิกฤติโควิด-19 ทำให้แรงงาน 8.4 ล้านคน ในกลุ่มธุรกิจภาคท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการอื่นๆ มีความเสี่ยงถูกเลิกจ้าง เด็กจบใหม่กว่า 5 แสนคนหางานยาก รวมถึงแรงงานกลับจากต่างประเทศด้วย คนกลุ่มนี้กว่า 40%เป็นแรงงานอีสาน สำหรับแรงงาน และผู้ประกอบอาชีพอิสระแล้ว วิกฤติครั้งนี้จึงรุนแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 นี่ยังไม่รวมว่า ในช่วงบังคับใช้มาตรการสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแรงงานอีสานที่ได้รับผลกระทบเดินทางกลับคืนถิ่นราว 800,000 คน 

น่าคิดว่า เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย หากแรงงานบางส่วนไม่สามารถกลับไปทำงานเดิมได้อีกแล้ว และตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่บ้านเกิด เช่น การทำเกษตร อาชีพหนึ่งที่เคยช่วยดูดซับผลกระทบทางเศรษฐกิจในคราวก่อนได้ “ควรจะเริ่มต้นอย่างไร” จากการรวบรวมข้อมูลต่างๆ และสัมภาษณ์ตัวอย่างเกษตรกรจำนวนหนึ่ง ทำให้ผู้เขียนสรุปได้ว่า “การทำเกษตรต้องใช้ระยะเวลา ควรทำด้วยใจรัก โดยอาศัยความเพียรพยายาม และความอดทนเป็นที่ตั้ง ความสำเร็จไม่มีสูตรตายตัว จะเกิดขึ้นเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับการวางแผน และลงมือทำอย่างเป็นขั้นตอน บนความพร้อมของปัจจัยพื้นฐาน และการปรับตัวของแต่ละคน” ส่วนจะเริ่มต้นอย่างไร สามารถค้นหาคำตอบได้จากที่นี่ …

ทำไมภาคเกษตรจึงควรเป็นทางเลือก ทางรอดที่น่าสนใจของแรงงานอีสาน

1.ภาคเกษตรเป็นจุดเริ่มต้นของปัจจัยพื้นฐาน (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค) เป็นหลักประกันความมั่นคงของชีวิต ดังคำกล่าว “เงินทองของมายา ข้าวปลาสิของจริง4 การนับหนึ่งใหม่ด้วยภาคเกษตร จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างรากฐานชีวิตที่ดี ช่วยตอบโจทย์ความต้องการของกระแสความนิยมบริโภคที่หันมาสนใจดูแลสุขภาพ อาหารปลอดภัย รักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น และสอดรับกับยุทธศาสตร์ประเทศด้านความมั่นคงทางอาหาร เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับความท้าทายในอนาคตอีกด้วย

2.เป็นโอกาสดีของภาคอีสานที่จะได้แรงงานคนรุ่นใหม่ “หัวไวใจกล้า” มาเป็นกำลังสำคัญพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และภาคเกษตรหลังจากโควิดคลี่คลาย เนื่องจากแรงงานมีความรู้ด้านเทคโนโลยี สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทดแทนทักษะและกำลังแรงงานผู้สูงอายุ ช่วยเติมเต็มสถานะครอบครัวแหว่งกลางให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น หากมองในด้านการจัดสรรแรงงาน พบว่า แรงงานอีสานทั้งหมดกว่า 9.3 ล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งอยู่นอกภาคเกษตร ในจำนวนนี้ ทำงานอยู่ในสาขาอาชีพที่เปราะบางต่อการโดนเลิกจ้างหรือลดชั่วโมงการทำงาน ถึง 2.4 ล้านคน โดยอยู่ในช่วงอายุ 40-60 ปี 45% และน้อยกว่า 40 ปี ถึง 46.5%5 แสดงว่า ยังมีแรงงานหนุ่มสาวที่พร้อมทำงานอยู่ไม่น้อย เมื่อผนวกกับแรงงานคืนถิ่นบางส่วนที่ตัดสินใจพลิกชีวิตด้วยการทำเกษตรในวันนี้ ถือเป็นจังหวะดีที่รัฐน่าจะลองพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สนับสนุนให้แรงงานเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาคเกษตร

3.ปัจจุบันเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการเกษตร สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มผลิตภาพ และยกระดับขีดความ สามารถในการแข่งขันของเกษตรกร6 เป็นต้นว่า เราสามารถเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อการจัดเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่ ชนิดพืช รวมถึงปัญหาต่างๆ มาประยุกต์ใช้ร่วมกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อนำไปวางแผน วิเคราะห์ พยากรณ์ผลผลิตในอนาคต และแก้ไขข้อจำกัดในการทำเกษตรได้ ผ่านช่องทางแอพพลิเคชั่นมือถือ หรือระบบอินเทอร์เน็ต ที่มีผู้ยินดีให้บริการจำนวนมาก ทั้งแบบมีค่าใช้จ่ายและใช้งานฟรี นอกจากนี้ แหล่งข้อมูลด้านการทำเกษตรก็มีแพร่หลายกว่าในอดีต ปรากฏอยู่ในทุกพื้นที่ และสามารถเข้าถึงเพื่อสืบค้น ศึกษาด้วยตนเองได้ในต้นทุนที่ถูกลง

4.ภาคอีสานมีพื้นที่ทำการเกษตรมากที่สุดในประเทศ มีปริมาณฝนตกสูงกว่าภาคเหนือ ภาคกลาง 7 ได้รับแสงแดดเพียงพอตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นผลดีต่อการทำเกษตร และยังมีข้อได้เปรียบในทำเลที่ตั้งที่ช่วยสนับสนุนการเชื่อมโยงภาคเศรษฐกิจ การค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และสามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพของโครงข่ายเส้นทางรถไฟจีน-ลาว (คุนหมิง-เวียงจันทน์) ซึ่งมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปีหน้า เพื่อขนส่งสินค้าเกษตรไปจำหน่ายยังต่างประเทศอีกด้วย

 

 

 


– บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย –

ที่มา

1 สภาพัฒน์  (สศช.)  2 รวบรวม และคำนวณโดยผู้เขียน 3 รวบรวม และคำนวณโดยผู้เขียน 4 คำกล่าวของ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร “บิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่“ 5 รวบรวม และคำนวณโดยผู้เขียน
6 บทความ Digital Technology กับการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย (สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วยฯ) 7 แม้อีสานจะมีฝนตกมาก แต่ยังมีพื้นที่เกษตรอยู่ในเขตชลประทานเพียง 10% และแหล่งกักเก็บน้ำที่มีอยู่ความจุยังน้อยเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ

 

 

แสดงความคิดเห็น