คณะกรรมาธิการการคมนาคม เปิดเวทีแสดงความคิดเห็น การศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง ‘ท่าอากาศยานสารสินธ์ุ’ รอยต่อ จ.กาฬสินธุ์- มหาสารคาม เล็ง “อ.ยางตลาด”ตั้งสนามบิน ตั้งเป้าลูกค้าหลัก “นักศึกษา-ข้าราชการ” ด้านภาคธุรกิจขานรับบูมลงทุนใหม่
หลังจากที่ นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม เปิดรายชื่อ 7 จังหวัด คมนาคมเล็งสร้างสนามบินใหม่ ได้แก่ พัทลุง, สตูล, บึงกาฬ, มุกดาหาร, พะเยา, กาฬสินธุ์ และนครปฐม” สำหรับในพื้นที่ภาคอีสาน ส่วนท่าอากาศยานมุกดาหาร ปัจจุบัน ทย.ได้ศึกษาความเป็นไปได้แล้วเสร็จ โดยมีกำหนดพื้นที่ก่อสร้างท่าอากาศยานดังกล่าวที่ ตำบล คำป่าหลาย ห่างจาก อำเภอเมืองมุกดาหาร ประมาณ 15 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 4 – 5 พันล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน ทย.อยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอกระทรวงคมนาคม
ด้าน จ.กาฬสินธุ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมพระบรมธาตุนาดูน คณะคุรุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม คณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเวทีสัมมนาและร่วมแสดงความคิดเห็นในการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานร่วมกันระหว่างจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดกาฬสินธุ์(ท่าอากาศยานสารสินธ์ุ) ซึ่งผู้เข้าร่วมการสัมมนาบนเวที ประกอบไปด้วย นายอาทิตย์ วินิจสาร ผู้อำนวยการก่อสร้างและบำรุงรักษา กรมท่าอากาศยาน น.ส.ธีรานุช อำไพรัตน์ หัวหน้ากองนโยบายการบินพลเรือน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย คุณกฤติกา บูรณะดิษ หัวหน้ากลุ่มแผนมหาภาค สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ สส.เขต 1 จังหวัดมหาสารคาม และนายวรวุฒิ นวสฤษฎ์กุล ที่ปรึกษาหอการค้าและที่ปรึกษาอุตสาหกรรมจังหวัดมหาสารคาม
นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ส.ส.เขต 1 จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า การจัดเวทีครั้งนี้ เพื่อกำหนดเป้าหมายและกรอบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยต้องครอบคุมทั้งมิติ ในด้านการตลาด ด้านเทคนิค ด้านการจัดการ ด้านการเงินและการลงทุน ด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งพื้นที่การให้บริการ (Catchment Area)ของจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดกาฬสินธุ์ ในแผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศยังได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการเข้าถึงพื้นที่การให้บริการ คือจำนวนประชากรทั่วประเทศร้อยละ 80 ต้องสามารถเข้าถึงท่าอากาศยานที่มีเที่ยวบินประจำภายในประเทศได้ในระยะเวลาการเดินทางทางถนนและ/หรือทางรางไม่เกิน 90 นาที และจำนวนประชากรทั่วประเทศร้อยละ 80 สามารถเข้าถึงท่าอากาศยานที่มีเที่ยวบินประจำระหว่างประเทศได้ในระยะเวลารวมในการเดินทางทุกรูปแบบไม่เกิน 180 นาที โดยข้อมูลพื้นฐาน
นายวรวุฒิ นวสฤษฎ์กุล ที่ปรึกษาหอการค้าและที่ปรึกษาอุตสาหกรรมจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า จังหวัดมหาสารคามมีพื้นที่รวม 5,292 ตร.กม. ประชากร 963,047 คน และจังหวัดกาฬสินธุ์ มีพื้นที่รวม 6,947 ตร.กม.ประชากร 985,346 คน (โดยสำรวจไว้เมื่อปี พ.ศ.2561) สำหรับจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดกาฬสินธุ์นั้น อยู่ในพื้นที่การให้บริการของท่าอากาศยานขอนแก่นและท่าอากาศยานร้อยเอ็ด ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางทางถนนเพื่อเข้าถึงท่าอากาศยานดังกล่าวประมาณ 90 นาที การศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานของจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดกาฬสินธุ์(ท่าอากาศยานสารสินธุ์)ในครั้งนี้ เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ/ภาคเอกชนเพื่อร่วมศึกษาและวิเคราะห์ความจำเป็นและความเป็นไปได้ในการมีท่าอากาศยานแห่งใหม่ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศษฐกิจของทั้ง 2 จังหวัดและการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน รวมไปถึงการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินในระยะ 20 ปี(พ.ศ.2561-2580)และสอดคล้องกับแผนพัฒนาต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและเห็นชอบในโครงการต่อไป
ที่มา :PR.Sarakham ประชาสัมพันธ์จังหวัดมหาสารคาม