การชุมนุม นักเรียน/นักศึกษา พลังการจัดระเบียบสังคมใหม่

นักวิชาการอีสานเชื่อ การชุมนุม นักเรียน นักศึกษา เป็นพลังการจัดระเบียบสังคมใหม่ช่วยสร้างการประชาธิปไตยให้มีประสิทธิภาพ นำสู่ระบบการเมืองที่โปร่งใส ระบุคนยุคก่อน Gen-x มักมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ไม่เข้าใจความต้องการคนรุ่นหลัง พุ่งเป้าหมายโจมตีระบบศักดินาต้นตอของปัญหา

วันที่ 10 ก.ย. 63 รศ.ดร. พรอัมรินทร์  พรหมเกิด คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยกับ “อีสานบิซ” ว่า การออกมาชุมนุมใหญ่เรียกร้องประชาธิปไตยของนักเรียน นักศึกษา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2563  ที่ผ่านมานี้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและถนนราชดำเนิน รวมถึงการออกมาแสดงพลังชุมนุมตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ก่อนหน้านั้นหลายครั้ง หลายคราว กล่าวได้ว่าเป็นการแสดงออกทางการเมืองครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่เด่นชัดอีกครั้งหนึ่งของเยาวชนคนหนุ่มสาวเนื่องจากหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 พลังของนักศึกษาในการชี้นำสังคมได้เงียบหายไปเป็นเวลายาวนาน ไม่น้อยกว่า 40 ปี การออกมาชุมนุมในครั้งนี้ จึงนับว่าเป็นการแสดงบทบาทที่สำคัญและเป็นฟื้นตัวการกลับมาชี้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมืองใหม่อีกครั้งหนึ่ง อันเกินความคาดหมายของหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงและรัฐบาล เนื่องจากมีการออกมาแสดงพลังจำนวนมากในแต่ละครั้ง รวมถึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลที่แหลมคม

การออกมาแสดงพลังทางการเมืองในแต่ละครั้ง ได้แสดงให้เห็นถึงการมีพัฒนาการความคิดทางการเมืองแบบก้าวกระโดด กล่าวคือจากเดิมที่เคยถูกปรามาสว่า ขบวนการเยาวชนคนหนุ่มสาวไม่มีพลังใดๆในการเปลี่ยนแปลงสังคม มีความคิดเฉยชาไม่สนใจเรื่องการเมือง มุ่งสนใจแต่เรื่องการหาความสุขสำราญส่วนตัวหรือสนใจแต่กิจกรรมบันเทิง และเก็บตัวอยู่ภายในแต่ละสถาบันการศึกษาของตนเอง มาในวันนี้พวกเขาได้ฟื้นตัวก้าวล้ำไปสู่การมีแนวคิดแบบ “เสรีนิยมใหม่” ซึ่งผู้ใหญ่ในรุ่นเบบี้บูมเมอร์และรุ่นเจนเอ็กซ์ (Gen –X) โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีหัวทางอนุรักษ์นิยม และกลุ่มชนชั้นนำที่มีอำนาจในสังคม ยากที่จะเข้าใจแนวความคิด ความต้องการ หรือการให้คุณค่ากับเรื่องต่างๆ รวมถึงความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง และความรักในอิสระของพวกเขาได้ และพลังของเยาวชนเหล่านี้จะก่อตัวมากขึ้นเรื่อยๆหากความรู้สึกอึดอัดและความไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาล ซึ่งสั่งสมมายาวนานไม่ได้รับการตอบสนอง หรือไม่ได้รับการแก้ไขจากผู้มีอำนาจรัฐ การออกมาประท้วงของเยาวชนคนหนุ่มสาวในครั้งนี้ ยังได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเสื่อมศรัทธา และความไม่ไว้วางใจที่มีต่อรัฐบาลและอำนาจรัฐอย่างรุนแรง และความเสื่อมศรัทธานี้ได้แพร่ขยายออกไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ในบรรดาเยาวชนคนหนุ่มสาวทั้งในระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ โดยผ่านสื่อโซเซียลมีเดียอันเป็นอาวุธที่ทรงพลังของพวกเขา

แนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ที่ว่านี้ สอดคล้องกับผลการศึกษาของนักสังคมวิทยาการเมืองในโลกตะวันตก  ที่พบว่า  ในปัจจุบันมีประเทศต่างๆ จำนวนมากทั่วโลก ที่ประชาชนได้มีการเปลี่ยนแปลงแนวความคิด ความเชื่อ และค่านิยมทางการเมืองไปในแนวทางที่ก้าวหน้าหรือแบบเสรีนิยมใหม่มากขึ้น กล่าวคือจากเดิมที่เคยมีความจงรักภักดียินยอมต่อระบบการเมือง (allegiance) แล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การกล้าตั้งคำถาม กล้าออกมาต่อสู้เรียกร้องในสิ่งที่เห็นว่าไม่ถูกต้องชอบธรรม และกล้ายืนยันในสิทธิของตนเองอย่างชัดเจน ในการแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น (assertiveness) ขณะเดียวกันประชาชนก็เริ่มเกิดความไม่ไว้วางใจต่อผู้ปกครอง และรวมถึงสถาบันทางการเมืองต่างๆ เนื่องจากเห็นว่า ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของพวกเขาได้ หรือไม่ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับสังคมได้ และประชาชนยังกล้าที่จะออกมาเผชิญหน้ากับกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองที่มีอำนาจ ด้วยการเสนอข้อเรียกร้องใหม่ๆที่มาจากความต้องการของพวกเขา ดังเช่นกรณีที่เยาวชนของเราที่ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ต่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ หนึ่ง ให้มีการยุบสภา สอง ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สาม ให้หยุดคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นต้น

นักสังคมวิทยาการเมืองเห็นว่า  ผลจากการเปลี่ยนแปลงในระบบความเชื่อ และค่านิยมทางการเมืองที่เป็นไปในทางก้าวหน้ามากขึ้นของประชาชนเช่นนี้ ในท้ายที่สุดจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยทำงานได้ดี ทั้งในแง่ของการทำให้พวกชนชั้นนำที่มีอำนาจ มีความสำนึกรับผิดชอบต่อประชาชนมากขึ้น และยังทำให้ระบบการเมืองการปกครองมีความโปร่งใส มีความสุจริต และมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน และในสังคมที่ประชาชนตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่ตนเองสามารถกระทำให้เกิดขึ้นได้นั้น สังคมที่ประชาชนเริ่มมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมากขึ้น สังคมที่ประชาชนได้รับการศึกษาและมีข้อมูลข่าวสารมากขึ้น มีเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยมากขึ้น ทั้งหมดนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางค่านิยมในหมู่พลเมืองแบบใหม่ และยังเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจหยุดยั้งได้ ประวัติศาสตร์บอกไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะมันคือกฎของธรรมชาติ นั่นคือสรรพสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ

เป็นที่น่าสนใจว่า สิ่งที่เยาวชนกำลังต่อสู้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่นี้ นอกจากข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ข้อดังกล่าวแล้ว คุณูปการที่มีต่อสังคมระยะยาวคือ  จะนำไปสู่การจัดระเบียบทางสังคมใหม่ และยังเป็นเรื่องของการพยายามสร้างศีลธรรมทางการเมืองแบบใหม่ (political moralism) ตามที่พวกเขาคาดหวังให้ปรากฏเป็นจริงขึ้นมาด้วย การจัดระเบียบทางสังคมใหม่และศีลธรรมใหม่ที่เยาวชนต้องการคือ  เสรีภาพ, ความเสมอภาคและเท่าเทียมอย่างแท้จริง, ไม่มีการปฏิบัติของผู้ใหญ่แบบหน้าไหว้หลังหลอก, มีความสุจริตและมีความโปร่งใสในการบริหารงานของรัฐ, ไม่มีระบบอภิสิทธิ์ชน, การขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน, การขจัดระบบอำนาจนิยมที่กดทับพวกเขามายาวนาน, และพวกเขาปฏิเสธการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมทุกรูปแบบ

ทั้งหมดนี้คือความท้าทายในเชิงอุดมการณ์ การต่อสู้ของเยาวชนคนหนุ่มสาว จะมุ่งโจมตีไปที่รัฐและระบบราชการแบบศักดินา เนื่องจากถูกมองว่ามันเป็นต้นตอของปัญหาการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม และไม่มีความสุจริต มันคือการเมืองในความหมายใหม่ ที่ไม่ต้องการเข้ามาแย่งชิงอำนาจรัฐ แต่ต้องการความถูกต้อง และปฏิเสธสิ่งที่ไม่มีเหตุผล และไม่เหมาะกับสังคมสมัยใหม่ การต่อสู้เรียกร้องของเยาวชนคนหนุ่มสาวไม่มีใครรู้ว่าจะจบลงเมื่อใด ตราบใดที่ปัญหาต่างๆยังไม่ได้รับการแก้ไข และการต่อสู้เรียกร้องของพวกเขาไม่มีข้อจำกัดใดๆ มันเหมือนเป็นแผ่นดินไหวทางการเมือง ซึ่งนานๆจะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง

แน่นอนในช่วงเวลาและสถานการณ์นี้ กลุ่มของพลเมืองแบบใหม่หรือเยาวชนกลุ่มนี้อาจมีการต่อสู้และปะทะกันทางความคิด กับพวกปฏิกิริยาที่มีอำนาจและที่ต้องการรักษาสถานภาพเดิม หรือพลังอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นได้ทั่วไป ในสังคมที่อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ดังเช่นที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้ อย่างไรก็ดี จากการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอย่างขนานใหญ่ หรือถ้ามีพลังมากพอของพลเมืองแบบใหม่ หรือเยาวชนคนหนุ่มสาวเหล่านี้ ในท้ายที่สุดจะทำให้ข้อเรียกร้องต่างๆของพวกเขา สามารถส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในนโยบายของรัฐบาล หรืออาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวรัฐบาลได้ หรืออาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองครั้งใหญ่ในเรื่องอื่นๆได้เช่นกัน

สำหรับเราในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ เราต้องมีจิตใจเปิดกว้างแบบประชาธิปไตย เราต้องไม่มองว่าเยาวชนในสถาบันการศึกษาที่ตื่นตัวทางการเมืองเหล่านี้ เป็นคนที่ไม่หวังดี คิดร้ายทำลายชาติ หรือเป็นพวกไม่จงรักภักดีต่อสถาบันฯ หรือตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของใคร แท้จริงแล้วการที่เยาวชนหันมาสนใจเรื่องการเมืองนับว่าเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากการเมืองเป็นเรื่องของเราทุกคน และเป็นเรื่องของส่วนรวม ประเทศชาติจะพัฒนาไปไม่ได้เลย หากเยาวชนในชาติของเราเห็นแก่ตัว สนใจแต่ปัญหาเรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง และเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ตื่นตัวสนใจการเมืองกลุ่มนี้ ในที่สุดจะกลายเป็นพลังสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติในอนาคตต่อไป เราต้องปล่อยให้เขาได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ของเขาเอง เพื่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคตต่อไป คลื่นลูกใหม่ในท้องทะเลย่อมกลบคลื่นลูกเก่าเสมอ ในการเรียนรู้ของเด็กยุคใหม่เขามีความฉลาดมากพอ เขาไม่จำเป็นต้องรอการบอกเล่าจากผู้ใหญ่ หากพวกเขาสนใจสิ่งใด พวกเขาสามารถใฝ่หาความรู้ได้เอง คิดเองได้ บางครั้งเขากล้าตั้งคำถามได้อย่างแหลมคมมากกว่าผู้ใหญ่บางคนเสียด้วยซ้ำไป

ที่น่าสนใจคือ ในการต่อสู้ทางการเมืองอย่างสันติของพวกเขา เขาใช้ยุทธวิธีการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ในรูปแบบต่างๆ ที่คู่ขนานพร้อมไปกับการเรียกร้องประชาธิปไตย เช่น การชูสามนิ้ว, การชูกระดาษเปล่า, กิจกรรมวิ่งร้องเพลง และการติดริบบิ้นสีขาว ฯลฯ ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า พวกเขาพยายามปลดแอกจากการที่ต้องตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมทางการเมืองแบบอำนาจนิยม ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมายาวนาน อันเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองหรือระบบที่ไม่เคยเปิดโอกาส หรือปิดกั้นไม่ให้เขาได้พูดหรือแสดงออกมาก่อนและในการต่อสู้ทางการเมืองก็ไม่จำเป็นต้องมีแกนนำที่ผูกขาดตลอดกาล ไม่จำเป็นต้องมีแม่ยก ฯลฯ แต่ใช้ระบบการสื่อสารสมัยใหม่ในการติดต่อกับสมาชิก และการสร้างเครือข่ายด้วยกัน

รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยและในฐานะผู้ปกครองที่มีคุณธรรม ต้องรู้จักตรวจสอบตนเอง  และต้องมีความเข้าใจถึงพลวัตหรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองเช่นนี้ เพื่อให้การบริหารบ้านเมืองเป็นไปด้วยดี  หากผู้มีอำนาจยังขาดความรู้ความเข้าใจ  และหันมาใช้กำลังความรุนแรงหรือใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมแบบเก่า เข้ามาจัดการกับกลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาวเหล่านี้  นอกจากเป็นการทำลายเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพและสร้างสรรค์ของสังคมแล้ว ยังอาจทำให้เกิดปัญหาบานปลาย และส่งผลกระทบในทางลบที่เกิดขึ้นกับสังคม เหมือนดังเช่นเหตุการณ์ในอดีตที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

 

                                            

 

แสดงความคิดเห็น