ด้านหนึ่งชีวิตและผลงานไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ: บุคคลในความทรงจำอันมิรู้ลืม

“อ.โต้ง” เรา (ผู้เขียน) รู้จักในฐานะเป็นพี่ชายและฝ่ายซ้ายด้วยกันมาตั้งแต่ปี 2523 หรือผ่านมาราว 40 ปี แล้วเราภูมิใจมากที่ได้รู้จัก อ.โต้งในครั้งการเสวนากับคนป่าเขา คนในเอ็นจีโอ ชาวบ้าน ครูชนบท และนักวิชาการคนเล็กๆเช่นเรา ความที่ต้องตราไว้คือ การเดินทางไป (เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) สัมภาษณ์กับคนสำคัญของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามว่าด้วยเรื่องก้าวรุดหน้าอย่างไม่หยุดของฝ่ายสังคมนิยมในอินโดจีน…ฯลฯ

มิตรภาพระหว่าง อ.โต้งนับวันจะดีขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งมอบหมายให้เรามาจัดรายการ “นายกฯ(ชาติชาย) พบประชาชน” ที่หอประชุมวิทยาลัยครูนครราชสีมา จากนั้นการเดินทางไปเป็นวิทยากรทั่วประเทศเกือบ 76 จังหวัดของเราได้เริ่มต้นขึ้น

เพื่อให้ข้อเขียนนี้เหมาะสมกับเวลาสั้นๆ ของผู้อ่าน เราจึงขอสรุปความสัมพันธ์ระหว่างกัน ดังนี้

1. เริ่มแรกเราเริ่มสนิทสนมกันมากขึ้นในการจัดตั้งมูลนิธิครูทิม บุญอิ้ง(ครูชนบทบุรีรัมย์เสียชีวิตในปี 2524 ครูสมใจ อุตรวิเชียร เสียชีวิตในเวลาต่อมา) แม่ของอ.โต้ง ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ ออกเงินให้เป็นเงินก้อนโตเพื่อฝากแล้วนำดอกผลมาใช้จ่าย แล้วมูลนิธินี้ (เราเป็นกรรมการช่วงสั้นๆ) ได้ดำเนินการเชื่อมประสานกับครูชนบท เอ็นจีโอ และชาวบ้านในหลายจังหวัดจัดตั้งองค์กรเครือข่ายในรูปของสหกรณ์ โดยมีนายวีรพล โสภาและคณะเป็นผู้ประสานงาน ต่อมาได้พัฒนาเป็น”สมัชชากษตรรายย่อยภาคอีสาน” (สกยอ.) ในปี 2534 และทำการเคลื่อนไหวหลายระลอก ที่โดดเด่นที่สุดคือการเคลื่อนไหวเดินทางไกล 470 กว่า ก.ม. ด้วยรถอีต็อกอีแต๋นจากอำเภอบัวขาว (กฬ.) มายังอำเภอสีคิ้ว (นม.) กรณีข้อเรียกร้อง 9 ปัญหา และต่อมาก็จัดตั้งสมัชชาคนจน (2538) เข้าล้อมทำเนียบรัฐบาลในปี 2539-40 ในสมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี
2. ในสมัยนายกฯชาติชาย อ.โต้ง ได้นำเสนอท่านนายกรัฐมนตรีโดยตรง เกษตรกรหลายจังหวัดภาคอีสานในนาม “สหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกร” แล้ว ครม.บรรจุเป็นวาระจร ความว่า ขอให้รัฐบาลมอบ “อาชญาบัตร” (ฆ่าและชำแหละ) ให้แก่กษตรผู้เลี้ยงฯ นายกรัฐมนตรี (นรม) แจ้งที่ประชุมว่าเรื่องนี้ “ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก” เสนอมา และ นรม.เห็นว่าสมาชิกสหกรณ์เดือดร้อนก็ควรจะอนุมัติตามคำร้องของเขา รมว.มหาดไทย พลตรีประมาณ อดิเรกสาร รับไปปฏิบัติ
3. ที่วิทยาลัยครูนครราชสีมา เมื่อ อ.โต้งมอบหมายให้จัดรายการ “นายกฯพบประชาชนชาวอีสาน ” ปรากฏว่าวันนั้นมีการเสนอกรณีตัวอย่างนักเรียนยากจน(ด.ช.เวียง แสนลืม) ในอำเภอปทุมรัตต์” (ร้อยเอ็ด)
ทำจดหมายลาครูไปขอทาน ซึ่งเป็นเรื่องที่สื่อในประเทศและสื่อต่างประเทศ นำเสนอต่อเนื่อง จนกลบเรื่องที่ชาวบ้านอีสานร้องเรียนนายกรัฐมนตรีเสียจนหมดสิ้น ในรายการนี้เราได้แนะนำให้บำรุง คะโยธา เลขาธิการ สกยอ.รู้จักกับ อ.โต้ง
และท่านนายกรัฐมนตรีด้วย
4. ผู้นำครูประถมศึกษาขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อของบประมาณอาหารกลางวันให้เด็กชั้นอนุบาลและประถมศึกษาจำนวนกว่า 6 ล้านคน
อ.โต้งเป็นผู้เข้าพบนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง และได้อนุมัติงบประมาณอาหารกลางวันต่อนักเรียนทั่วประเทศ และต่อมาได้พัฒนาออกเป็นพระราชบัญญัติกองทุนอาหารกลางวันในปี 2535 สมัยนายกฯอานันท์ ปันยารชุน
5. เชื่อมประสานปัญหาที่ดินและป่าไม้เครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทั้งชาวบ้าน เอ็นจีโอ และนิสิตนักศึกษา) สมัชชาคนจน (บางปัญหา) ผลงานสำคัญคือ การต่อต้านเขื่อนทั่วประเทศ โรงไฟฟ้า ถนนริมแม่น้ำ เช่น เขื่อนแก่งกรุงในภาคใต้ เขื่อนในภาคอีสาน และภาคเหนือ ฯลฯ ปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมนี้ อ.โต้งมักจะออกปฏิบัติการร่วมกับชาวบ้านเช่น สุราษฎร์ธานีและกระบี่ เป็นต้น และออกการอภิปรายกับผู้นำนักศึกษาและการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ
6. ด้านแรงงานได้ร่วมกับผู้นำแรงงานทุกภาคส่วนตราพระราชบัญญัติประกันสังคมขึ้น กฎหมายนี้ส่วนหนึ่งถือเป็นบทบาทสำคัญของนักวิชาการสายสังคมนิยมเช่น อ.โต้ง และมีคุณค่าต่อประเทศและคนงานนานัปการ
7. มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการผลักดันให้มีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมตั้งแต่ 14 ตุลาฯ หลัง 6 ตุลาฯ จนทำให้เกิดสมานฉันท์ในชาติชั่วขณะหนึ่ง
8. ในวันสำคัญทางศาสนา 2538 สหาย(ครู) ประเวียน บุญหนัก ถูกสังหารโหดหน้าที่ว่าการอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย อ.โต้ง น.พ.สันต์ หัตถีรัตน์ น.พ.เหวง โตจิราการ ครูประทีป อึ๊งทรงธรรม บำรุง คะโยธา วีรพล โสภา วสันต์ สิทธิเขตต์ เราและคนอื่นๆ ได้เดินทางไปให้กำลังใจแก่ครอบครัวและชาวอีสาน ทำการเคารพและบรรจุศพยังภูเขาลูกหนึ่งห่างจากจุดเสียชีวิตราว 5 ก.ม.
9. จากปรากฏการณ์สนธิฯ อ.โต้ง เรา สุวิทย์ วัดหนู และพี่ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ได้ไปพูดคุยที่บ้านซอยราชครูกับบุคคลสำคัญที่มีบทบาทยิ่งในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 จนในที่สุดก็สามารถตกลงกันได้

ที่เป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำมิรู้ลืมต่อ อ.โต้ง เมื่อผู้เขียนเป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เราประทับใจบทบาทด้านกว้างและลึก(ลับ)มาก ทั้งในด้านวิชาการ ผลงานเขียนมีราว 10 กว่าชิ้น นั้น ประทับใจในงานเขียน
“2538: ทุน การเมืองและชนชั้นในไทย” ในวารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง และกรรมการอิสระฯ “2550: การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษ และการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง
และทรัพยากรของประเทศไทย(ฆตน.) หรือเรารู้จักกันในนาม “ฆ่าตัดตอน2500ศพ”

การให้สัมภาษณ์ในบทความของ “สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี” ระบุว่า ไกรศักดิ์ฯ หรืออาจารย์โต้งมีคุณูปการอย่างมากต่อความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงหรืออดีตอินโดจีนของฝรั่งเศส (Freench Indochina) เนื่องจากเป็นผู้ผลักดัน “นโยบายแปรสนามรบเป็นตลาดการค้า” ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ของรัฐบาลพลเอกชาติชายฯ ผู้เป็นบิดา

โดยแท้จริงแล้ว พลเอกชาติชายคือคนสำคัญคนหนึ่งในการเคลื่อนไหวเปิดสัมพันธ์ไทย-จีนในปี 1975 ประเทศก็ออกแนวโปรฯจีนนับแต่นั้นเป็นต้นมา อ.โต้งแอบคบค้าสมาคมกับเวียดนามนับ 10 ปี ก่อนจะผลักดันนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นตลาดการค้า เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญชูธงเรื่องอินโดจีน ปัญหาเขมรแดง พร้อมด้วยบท(แอบ-ลับ) สัมภาษณ์ “ฟ่าม วัน โด่ง” นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กับ ดร.ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ ความใกล้ชิดกับเวียดนาม และต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ในเขมรแดง(นโยบายรัฐไทยขณะนั้น โปรฯจีน หนุนเขมรแดง ต่อต้านเวียดนามอย่างถึงรากถึงโคน…

เมื่อพลเอกชาติชายขึ้นสู่อำนาจอ.โต้งก็ผลักดันนโยบายต่ออินโดจีนชนิดรีเทิร์น 180 องศาเลยทีเดียว นั่นก็คือ อ.โต้งได้เป็นตัวแทนพิเศษของรัฐบาลไทยในการประชุมเพื่อแก้ปัญหาในกัมพูชา ลาว และเวียดนาม ส่งผลให้ไทยเลิกสนับสนุนเขมรแดง การเจรจาสันติภาพในกัมพูชาบรรลุเป้าหมาย สร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง เปิดการค้าการลงทุนกับอินโดจีนอย่างเป็นล่ำเป็นสัน…หลังจากนั้น อ.โต้งก็ไม่ได้หวนคืนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีก และไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ได้คะแนนเสียงมากอันดับ 1 ของประเทศ)

ช่วงที่อยู่ในวุฒิสภาดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ รองประธานกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อพม่า และ อ.โต้งยังชักชวนเราไปลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ด้วยกันในช่วงปี 2550-2553 และเป็นประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ

เรื่องสำคัญอันเป็นปมเงื่อน (ของลุงเขย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์) อ.โต้งในฐานะนักวิชาการและนักการเมืองแนวสิทธิมนุษยชนฯ ยังได้ไปกล่าวขอโทษและแสดงความเสียใจในปี 2559 แก่ทายาท “หะยี สุหลง” ผู้ถูกอุ้มหายจากลุงเขยของตน

ทั้ง 4 เรื่องสำคัญที่ อ.โต้งฝากไว้ คือ เรื่อง 1. เกษตรกรคนยากจน ที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2.การสร้างผลงานประกันสังคมให้แรงงานทั้งมวล และอาหารกลางวันเด็กนักเรียนทั่วประเทศ 3. ผู้ผลักดันนโยบายอินโดจีน บนแนวทางสันติภาพและการพัฒนา และ 4. การขอโทษและแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์อันเป็นปมเงื่อนในปัจจุบัน อันเป็นมูลฐานความเป็นมาจากอดีต

ในวันนี้ อ.โต้งจากเราไปแล้ว ครั้งหนึ่งยังคงทิ้งไว้ “บ้านอันแสนอบอุ่น” พูดคุยในเรื่องที่เป็นสาระสำคัญปัญหาประชาชนและชาติ บ้านเมืองที่เต็มไปด้วยภาพศิลปะ และฟังดนตรีจาก อ.โต้ง ต้องร้องเพลง “คาราวาน” ก่อนเสมอ.

ในวันนี้ “บ้านซอยราชครู” อาจเงียบหงอย จะไม่มีบรรดานักการเมือง นักวิชาการฝ่ายซ้าย นิสิตนักศึกษากลุ่มก้าวหน้า นายทหาร เอ็นจีโอทั้งไทยและต่างประเทศ ผู้คนจากสถานฑูตต่างๆ นักข่าวทั้งในและต่างประเทศ และศิลปินทั้งหลาย (เหมือนเดิม) อีกแล้ว.

ขอให้ อ.โต้งรับรู้ว่า อย่างน้อยเรา บำรุงฯ วีรพลฯ ครูจ่อยฯ ครูมนัสฯ ครูสุธรรมฯ และคนอื่นๆ ในภาคอีสาน ยังรำลึกถึงและจะจดจำผลงานอันยิ่งใหญ่ของท่านตลอดไป

แสดงความคิดเห็น