วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2563 เวลา 05.30 น. เทศบาลนครขอนแก่น นำโดย นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น สั่งการให้เจ้าหน้าที่เทศบาลนครขอนแก่น ลงพื้นที่สำรวจน้ำท่วมขังในจุดเสี่ยง ตรวจสอบระบบระบายน้ำ จุดรับน้ำ แก้มลิง บึงแก่นนคร บึงทุ่งสร้าง เก็บขยะออกจากตะแกรงฝาท่อระบายน้ำ


สืบเนื่องจากการประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องพายุระดับ 3 (โซนร้อน) “โนอึล”ฉบับที่ 6 (179/2563) โดยเทศบาลนครขอนแก่น จึงได้วางแผนเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและวาตภัยในพื้นที่เขตเทศบาลนครขอนแก่น โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง จำนวน 11 โซน คือ
-โซนที่ 1 ถนนมิตรภาพ ได้แก่ บริเวณซอยสวัสดี , GF ,หมู่บ้านพิมานศิลป์
-โซนที่ 2 หลังศูนย์-จอมพล ได้แก่ ถนนหลังศูนย์ราชการ ซอย 14 ,ถนนกสิกรทุ่งสร้าง ,ถนนจอมพล ,ถนนราษฎร์คนึง ซอย 9
-โซนที่ 3 ทุ่งสร้าง-หนองใหญ่ ได้แก่ หมู่บ้านทุ่งเศรษฐี ,ชุมชนหนองใหญ่ 4 ,ชุมชนโพธิบัลลังก์ทอง
-โซนที่ 4 ศรีจันทร์-ศรีฐาน ได้แก่ ถนนข้างบึงหนองบอน ,บริเวณรอบศาลหลักเมือง ,ชุมชนศรีฐาน
-โซนที่ 5 ประตูเมือง-บ้านกอก ได้แก่ ถนนบ้านกอก ,ถนนมิตรภาพบริเวณด้านหน้าโค้วยู่ฮะ ,หมู่บ้านบุญสม
-โชนที่ 6 แยกเจริญศรี ได้แก่ ถนนเหล่านาดีข้างตลาดศรีเมืองทอง ,ซอยเหล่านาดี 12
-โซนที่ 7 สนามกีฬา-การเคหะ ได้แก่ ซอยเมตตา ,ชุมชนการเคหะ
-โซนที่ 8 รอบบึงแก่นนคร ได้แก่ ถนนรอบบึงแก่นนคร ,ถนนศรีธาตุประชาสรรค์ (บ้านตูม)
-โซนที่ 9 โนนทัน-อนามัย ได้แก่ ซอยน้ำทิพย์ 1-2 ,ถนนอนามัย
-โซนที่ 10 ถนนเฉลิมพระเกียรติ (คลองร่องเหมือง) ได้แก่ ถนนหน้าเมืองช่วงห้างแฟรี่พลาซ่า ,ถนนเฉลิมพระเกียรติช่วงร้านส้มตำอินเทอร์เน็ต
-โซนที่ 11 คุ้มหนองคู ได้แก่ ถนนรอบเมืองบริเวณด้านหลังอาชีวะขอนแก่น ,คุ้มหนองคู


โดยนายกเทศมนตรีนครขอนแก่นได้กำชับให้แต่ละหน่วยงานได้ดำเนินการตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายงานอย่างเคร่งครัด ได้แก่
1.การปฏิบัติงานภายใต้ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและวาตภัย เทศบาลนครขอนแก่น War Room ที่บริเวณอาคารป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลนครขอนแก่น
2.การประสานงานบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น จังหวัดขอนแก่น ,เทศบาลนครขอนแก่น ,สำนักงานชลประทานที่ 6 ขอนแก่น ,โครงการชลประทานขอนแก่น ,ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดขอนแก่น ,อำเภอเมืองขอนแก่น ,มณฑลทหารบกที่ 23 ,กรมทรัพยากรน้ำภาค 4 ,ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน , มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น
3.การเตรียมการบริหารจัดการแหล่งน้ำในพื้นที่
3.1 ทำหนังสือแจ้งให้เทศบาลตำบลบ้านเป็ด ลดระดับน้ำในบึงหนองโคตรลงเพื่อเป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำ เพื่อชะลอน้ำใหลเข้าสู่เขตเมืองเร็วเกินไป
3.2 ทำหนังสือแจ้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลดระดับน้ำในหนองเอียดลงเพื่อเป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำ ไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่เขตเมืองเร็วเกินไป
3.3 รักษาระดับน้ำในบึงแก่นครให้ระดับสูงไม่เกิน 0.50 เมตรจากระดับบันใดลงบึงขั้นสุดท้าย เพื่อเป็นแก้มลิง ช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี
3.4 ตรวจสอบบานประตูน้ำทุกบานให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งานได้
3.5 ขุดลอกทางรับน้ำและแก้มลิงบริเวณบึงทุ่งสร้าง
4.การเตรียมการก่อนเข้าสู่ฤดูฝนไม่ว่าจะเป็นการขุดลอกผักตบชวาตามแหล่งน้ำหรือคลองน้ำ ,การวางท่อระบายน้ำ , การขุดลอกท่อระบายน้ำ ตลอดจนการติดตั้งระบบเตือนภัยน้ำท่วม กล้องวงจรปิด CCTV
5.การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง พร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่ประจำจุด เพื่อเฝ้าระวังในพื้นที่จุดเสี่ยง ตลอด 24 ชั่วโมง และการเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ ขนาด 3 นิ้ว ประจำสถานีดับเพลิง ทั้ง 4 แห่งๆ ละ 2 เครื่อง นอกจากนั้นได้เตรียมความพร้อมเลื่อยโซ่ยนต์ จำนวน 17 เครื่อง เพื่อประจำการกรณีเหตุวาตภัย
6.การวางแผนปฏิบัติการเก็บขยะปากท่อเตรียมการและแก้ไขปัญหาในภาวะน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยง โดยมีหน่วยกวาดถนน ,หน่วยรถเก็บค่าขยะภาคกลางคืน และหน่วยเฉพาะกิจ ออกปฏิบัติการสลับหมุนเปลี่ยนการทำงาน ตลอด 24 ชั่วโมง




ทั้งนี้ เทศบาลนครขอนแก่น ขอประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชนในเขตเทศบาล หากท่านใดประสบเหตุการณ์ฉุกเฉิน สามารถติดต่อดังนี้
– ปัญหาน้ำท่วม เหตุต้นไม้ล้ม ติดต่อฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 043 221184 หรือ 199
– เหตุป้ายโฆษณาล้ม/ ติดต่อสำนักการช่าง 043-221578
– เหตุบ้านเรือนพังเสียหาย ติดต่อสำนักสวัสดิการสังคม 043-271210
– ปัญหาการจัดการขยะ ติดต่อสำนักการสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม 043-424550 หรือศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ 043-271261
– กรณีบาดเจ็บ เจ็บป่วย ติดต่อสำนักการสาธารณสุขฯ 043-424550 ฉุกเฉิน 1669 (รพ.ศูนย์ขอนแก่น ,รพ.ศรีนครินทร์)



แสดงความคิดเห็น