บทเพลงของสามัญชน: งานวัฒนธรรม​กับการเคลื่อนไหว

หากพูดถึงขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนงานศิลปวัฒนธรรมนั้นถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของการนำขบวนการการต่อสู้ ในห้วงยามหลังรัฐประหาร 2556 ชื่อ “วงสามัญชน” ได้ปรากฎขึ้นอยู่บนหลายเวทีชุมนุม โดยประเด็นที่พวกเขาเข้าไปมีบทบาทส่วนใหญ่นั้นเป็นเรื่องของการถูกเอารัดเอาเปรียบของคนตัวเล็กตัวน้อย การเรียกร้องความยุติธรรมให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นในกรณีเหมืองแร่ เขื่อน และประเด็นสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ สมาชิกคนสำคัญของสามัญชน ได้แก่ แก้วใส เจ-ชูเวช ไผ่ ดาวดิน นอกนั้นก็มีเพื่อนพ้องนักกิจกรรมที่สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นร้องเพลง อ่านบทกวี ตามบริบทของกิจกรรม

หากไม่ผูกขาดว่ารูปแบบของเพลงเพื่อชีวิตจะต้องร้อง ต้องเขียน ตามรูปแบบของ คาราวาน คาราบาว หรือวงดนตรีเพื่อชีวิตที่เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา บทเพลงของสามัญชนถือเป็นบทเพลงเพื่อชีวิตของคนยุคใหม่ ที่มีเนื้อหางานสอดพ้องกับแนวคิด “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ที่เขียนโดย “ทีปกร” (นามปากกาของ จิตร ภูมิศักดิ์) อย่างแท้จริง “ทั้งนี้เพราะศิลปะมีชีวิตเป็นพื้นฐาน และมีแนวคิดทางสังคมเป็นเครื่องกำหนดท่าทีของมัน”*

16 กรกฎาคม 2563 วงสามัญชนขึ้นทำการแสดงบนเวทีเยาวชนปลดแอก – Free YOUTH ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำให้สมาชิกของวงมีรายชื่อเป็น 1 ใน 31 คนที่ได้รับหมายจับดั่งเดียวกับ ฮอกกี้ RAD (Rap Against Dictatorship เจ้าของเพลง ‘ประเทศกูมี’) แต่พวกเขายังทำหน้าที่เป็นฝ่ายศิลปวัฒนธรรมของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะบนเวทีของนักศึกษาหรือประชาชน และวันที่ 24 สิงหาคม วงสามัญชนปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งในเวที “ชาวบ้านสิบ่ทน คนอีสานปลดแอก” โดย แนวร่วมประชาชนอีสานเพื่อประชาธิปไตย ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น ทำให้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ “แก้วใส” หนึ่งในสมาชิกวง

วงสามัญชนเกิดขึ้นได้ยังไงคะ มารวมตัวกันได้ยังไง

วงสามัญชนเกิดมาหลังช่วงรัฐประหารครับ ซึ่งช่วงนั้นเพื่อนเราถูกเรียกไปรายงานตัวกันเยอะ แล้วก็มีหลายคนโดนคุกคามคนก็ต้องลี้ภัย ด้วยความที่พวกเราอึดอัดไม่รู้จะทำอะไรได้เลยเขียนเพลงกันขึ้นมาหนึ่งเพลงชื่อว่า ‘บทเพลงของสามัญชน’ แล้วก็มาช่วยกันขัดเกลาเนื้อหา ตอนแรกช่วยกันเขียนก่อนแล้วก็มาเกลาเนื้ออีกที แล้วก็ร้องในงาน เป็นคนเขียนก่อนแล้วก็มาช่วยกันเหนื่อยอีกทีแล้วก็ใช้ร้องในการชุมนุมต่าง ๆ แล้วก็มีการ Cover ร้องใน YouTube ตอนนั้นกระแส  Ice Bucket กำลังมา แล้วเราก็อยากให้กำไรกำลังใจเพื่อนก็เลยแบบท้ากันร้องต่อใน Facebook เพลงนี้ก็ร้องต่อ ๆ กันมาเรื่อย ๆ จนจะใช้ชื่อเพลงว่าอะไรดี เราก็เลยใช้ชื่อเพลงว่า ‘บทเพลงของสามัญชน’ ครับ

วงสามัญชนมีบทบาทในงานเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างไรบ้าง

ก่อนหน้านั้นจริง ๆ ไม่ได้ใช้ชื่อวงสามัญชน ไปเล่นในนามวงสลึง แล้วเราก็รู้สึกว่าเกรงใจเขา เพราะว่างานเรามันก็เวลาไปเล่นให้มันขยับไปหลายประเด็นมาก เราก็ไม่รู้ว่ามันจะยังไง ก็เลยออกมาทำเป็นวงเอง ปกติเราก็เล่นอยู่ตามม็อบอยู่แล้ว เล่นในงานชุมนุมของชาวบ้าน งานเสวนา เล่นกันมาเรื่อย ๆ จนหลังช่วงรัฐประหารก็เกิดเพลงชื่อว่า ‘บทเพลงของสามัญชน’ ก็มีม็อบที่ไหนเราก็ไปนะครับ ซึ่งตอนนั้นมันบวกกับคนรุ่นใหม่ออกมาเขาเรียกร้องประชาธิปไตยกันเยอะ ก็จะเห็นปรากฏการณ์ 14 นักศึกษา พอเพื่อนเราโดนจับโดยบทบาทของเพลงมันก็ต้องถูกร้องให้กำลังใจ และสถานที่ที่เราไปมันก็จะเป็นตามใต้ถุนศาล หน้าคุก หน้าศาล อย่างนี้ครับ ก็ร้องกันมาในบริบทแบบนั้น แล้วก็ยังมีเล่นงานชาวบ้านบ้างเวลาพี่น้องขึ้นมาชุมนุมที่กรุงเทพฯ หรือแบบไปตามต่างจังหวัดครับ

เพราะฉะนั้นจึงถือได้ว่าวงสามัญชนมีบทบาทในส่วนของงานวัฒนธรรมที่นำมาขับเคลื่อนในเวทีการเมืองภาคประชาชน

ใช่ครับ ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่เราคิดว่างานวัฒนธรรมในเชิงของบทเพลงหรือในเชิงอื่น ๆ มันสำคัญกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิ ความเท่าเทียม ประชาธิปไตย

วงสามัญชนเลยเลือกที่จะทำงานกับพี่น้องชาวบ้านในการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม

ใช่ครับ พวกเราเองเป็นนักกิจกรรม มีอะไรที่เราทำได้เพื่อหนุนประเด็นไหนของพี่น้องชาวบ้านเราก็เลยคิดว่าพอดีว่าส่วนหนึ่งเราเล่นดนตรีได้ เราก็เลยไปเล่นดนตรีในม็อบหรือการชุมนุมของพี่น้องชาวบ้าน ซึ่งมันก็มีหลากหลายประเด็น เช่น ประเด็นชาวบ้านในเหมืองแร่ เขื่อน ป่าไม้ ที่ดิน น้ำ ป่า ก็มีบางเพลงที่แต่งขึ้นมาเขียนขึ้นมาใช้ให้มันเหมาะกับบริบทกับประเด็นของพี่น้องด้วย หรือบางทีเราก็หยิบเพลงเก่า ๆ ขึ้นมาร้องให้กำลังใจหรือปลุกเร้าในการต่อสู้ของพี่น้องชาวบ้านด้วยเหมือนกันหรือผ่อนคลาย

เพลงที่หยิบมาใช้บ่อยสุด

เพลงเก่า ๆ ที่หยิบมาใช้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพลงของพี่จิ้น(วงกรรมาชน) อย่างเช่น เพลงกำลังใจ กำลังใจ พลังใจเพื่อมวลชน หรือเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา

วันที่ 16 กรกฎาคม เวทีการชุมนุมเยาวชนปลดแอกหรือว่า Free YOUTH วงสามัญชนก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมบนเวทีนี้ เล่าหน่อยได้ไหมคะ

ได้ครับ วันที่ 16 ก็เป็นอันนั้นก็เป็นประเด็นต่อเนื่องมาจากการเกิดขึ้นใหม่ของน้อง ๆ ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย เราในฐานะที่ทำงานวัฒนธรรมก็ได้มีโอกาสมีส่วนร่วม น้อง ๆ ก็ชวนไปเล่นที่นั่นด้วย ก็สนุกดีครับ มีพลังมากครับงานวันนั้น เราก็พยายามส่งพลังให้ให้ทุกคนที่เรียกร้องเรื่องพวกนี้ได้สู้กันต่อไปแล้วก็เราก็ยังทำเพลงมีเพลงใหม่ ๆ ด้วยนะครับที่ร้องในวันนั้น ก็ให้กำลังใจกันแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการต่อสู้

คิดอย่างไรกับประเด็นที่ศิลปินโดนหมายจับอย่าง Rap Against Dictatorship เจ้าของเพลง ‘ประเทศกูมี’ หรือแม้แต่สมาชิกวงสามัญชนเองก็มีรายชื่ออยู่ในหมายด้วย

จริง ๆ ผมรู้สึกว่ามันแย่มากเลยครับ มันไม่ใช่แค่ศิลปินนะ คือจริง ๆ เราก็คือประชาชนคนหนึ่ง ในฐานะประชาชนคนหนึ่งไม่ควรจะถูกคุกคามหรือจับกุมโดยรัฐเพียงแค่เราออกมาเรียกร้องสิทธิ เรียกร้องประชาธิปไตยที่มันอยู่ภายใต้หลักการสากล อยู่ภายใต้หลักการของรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ควรมีใครโดนคุกคามหรือโดนจับกุมหรือโดนหมายจับหมายเรียกขึ้นศาลเลย ผมรู้สึกมันแย่ครับ คือมันตลกตรงที่บอกว่าประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญที่ยึดหลักประชาธิปไตย แต่ เอ๊ย.. แล้วสิทธิเสรีภาพที่มันอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เราสามารถทำได้นี้มันหายไปไหน กลายเป็นว่าคนที่ออกมาเรียกร้องเรื่องพวกนี้ให้บ้านเมืองนี้มันเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกลับถูกคุกคาม มันตลก

โดยส่วนตัวแล้ว ไม่แน่ใจนะครับ ส่วนใหญ่แล้วคนเขาอาจจะมองว่า เออ.. เป็นศิลปินเป็นนักร้อง แต่ส่วนตัวจริง ๆ แล้วเราเกิดมาจากที่เป็นนักกิจกรรมแค่เล่นกีต้าร์ร้องเพลงแล้วก็เขียนเพลงได้นะแล้วก็ใช้สิ่งที่เรามีอยู่เพื่อเสริมขบวนการต่อสู้อย่างที่บอกไปนะครับ แต่ว่าส่วนตัวเราเองเราก็ยังรู้สึกว่าเราอาจจะไม่ใช่ศิลปินโด่งดัง เราแค่ชอบในเสียงดนตรี เราไม่ใช่นักกวีอะไรขนาดนั้น แต่ว่าสิ่งที่เราเรียกร้องก็คืออยากให้มีเสรีภาพ มีประชาธิปไตยในบ้านเมืองนี้

ถ้าจะติดต่อวงสามัญชนไปเล่นในเวทีต่าง ๆ เขาติดต่อไปยังไง

ส่วนใหญ่ก็ติดต่อไปทาง Facebook นะครับ รู้จักกันบ้าง หรือบางคนไม่รู้จักเลย เขาก็ติดต่อมาทาง Facebook ถ้าว่างเราก็จะไปกันหรือบางทีมันชนกันสองงานแล้วก็จะแยกร่างไปกัน ถ้าอย่างมาบางทีก็มีค่ารถให้ บางที่ก็ไม่มีค่ารถให้เราก็ไป เพราะว่าหลาย ๆ ที่ไม่มีค่ารถ เราจึงต้องระดมทุนมีท่อน้ำเลี้ยงนะครับ วงสามัญชนมีท่อน้ำเลี้ยงก็คือประชาชนนี่แหละครับที่ช่วยกันมาซื้อเสื้อที่เราทำขาย เป็นเสื้ออาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรกุล ซึ่งเราขออนุญาตอาจารย์แล้วนะครับ แล้วก็มีซีดีวงสามัญชน ใครอยากเป็นท่อลำเลียงของสามัญชนก็มาอุดหนุนได้นะครับเข้าไปที่ในเพจวงสามัญชนนะครับ inbox ได้เลยครับเสร็จแล้วใช่ไหม

 

*บางส่วนจากหนังสือ “ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน

 

แสดงความคิดเห็น