นายสังข์เวิน ทวดห้อย กรรมการการยางพาราแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการศึกษาข้อมูลการจัดสวัสดิการและอื่นๆ เพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง เปิดเผยถึงการดำเนินการของทางการยางแห่งประเทศไทย ที่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางเป็นกังวลอยู่ คือ การค้างจ่ายค่าสินไหมให้แก่เกษตรกรกว่า 800 ราย ของทางบริษัทประกันว่า
“ทาง กยท. เราจะมีกรมธรรม์ที่ 2 อยู่ ในส่วนของกรมธรรม์ที่หนึ่งนั้นเสร็จสิ้นเรียบร้อยไปแล้ว แต่กรมธรรม์ที่สอง บริษัทที่เราดูแลอยู่ยังค้างจ่ายค่าสินไหมให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางอยู่ จึงอยากจะฝากบอกพี่น้องเกษตรกรว่าในตอนนี้การค้างค่าสินไหม ขอให้พี่น้องเกษตรกรทุกท่านไม่ต้องตกใจ เพราะอย่างไร ทางการยางแห่งประเทศไทยก็ต้องติดตามเงินให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่เสียชีวิตมาจากอุบัติเหตุแน่นอน ซึ่งถ้าหากว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริง มีเอกสารครบถ้วน ท่านต้องได้เงินแน่นอน เพราะ ทางกยท. จะดูแลพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางเป็นอย่างดี”
สำหรับกรมธรรม์ที่สาม ที่เป็นบริษัท ทูนประกันภัย ตรงนี้เราได้มีข้อตกลงใหม่ว่า ต่อไปนี้หากพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในทุกกรณี จะได้เงินชดเชย 30,000 บาท ถ้าเอกสารของท่านครบ ท่านก็จะได้รับเงินภายใน 15 วัน แต่ถ้าเกิดจากกรณีประสบอุบัติเหตุ และเอกสารของท่านครบ ท่านก็จะได้รับเงินภายใน 45 วัน นี่คือข้อตกลงใหม่ที่เราจะดูแลพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางให้ดียิ่งขึ้น
“โดยส่วนใหญ่แล้วเกษตรกรชาวสวนยาง จะไม่มราบว่า หากเกิดกรณีเสียชีวิตขึ้นแล้วจะไปติดต่อที่ใคร ซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าถ้าเสียชีวิตไปแล้วสามารถมาแจ้งย้อนหลังได้ กลายเป็นว่าตอนนี้มีกรมธรรม์ที่ค้างจ่ายอยู่ค่อนข้างเยอะ ฉะนั้น เมื่อมาเป็นกรมธรรม์ที่สองเราก็พยายามเก็บให้ละเอียดยิ่งขึ้น โดยพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่เสียชีวิตมีอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งบริษัทคู่ค้ากับทางเราก็รับปากและยืนยันว่า ที่ยังค้างอยู่ประมาณ 7-8 ร้อยราย มีแผนที่จะต้องจ่ายให้พี่น้องเกษตรกรอย่างแน่นอน ให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางสบายใจได้เลย”
กรณีการจ่ายค่าสินไหมล่าช้าดังกล่าว นายสังข์เวิน กล่าวว่า อาจจะล่าช้าตรงที่เอกสารของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางอาจจะส่งกลับคืนมาและยังไม่ครบ และอีกอย่างหนึ่งคือ การที่บริษัทประกันจะจ่ายเงินที่ค่อนข้างจะเป็นจำนวนมากถึงหลักร้อยล้าน เขาก็ต้องมีแผนการใหญ่ ที่จะบริหารจัดการเรื่องเงินที่จะจ่ายออกไปในแต่ละเดือนอย่างมีระบบและรอบคอบ ซึ่งเขาจะค่อยๆ ทยอยจ่ายให้เรา แต่ถ้าเกิดกรณีที่บริษัทประกันไม่จ่าย ซึ่งมีเอกสารครบเรียบร้อย ทางกยท. ก็คงจะต้องทำคำร้องไปทาง คปภ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ซึ่งดูแลบริษัทประกันอยู่ ฉะนั้นให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางสบายใจได้ ว่าทางเราจะจ่ายให้ครบถ้วนแน่นอน