รมช.ศธ.”กนกวรรณ วิลาวัลย์” ลงพื้นที่ ขอนแก่น ติดตามเรื่องราวแห่งความสำเร็จของ ‘โครงการฟื้นฟูเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กชายขอบ’ ชื่นชมการมีส่วนร่วมในพื้นที่ที่ช่วยกันดูแลเด็ก และเยาวชนทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์สามารถเป็นต้นแบบนำไปปรับใช้ในพื้นที่ที่เป็นปัญหาอื่น ๆ ได้
วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2563 เวลา 13.30 น. ณ ศูนย์สร้างโอกาส เด็ก และเยาวชนบ้านเรา เทศบาลนครขอนแก่น นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น พร้อมเจ้าหน้าที่เทศบาลนครขอนแก่น และ กลุ่มแกนนำเยาวชนเด็กชายขอบ นำโดย นายประดิษฐ์จรัส อสุชีวะ (เปี๊ยก มังกรดำ) แกนนำผู้ดูแลเยาวชนเด็กชายขอบ ร่วมให้การต้อนรับ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในโอกาสเยี่ยมชมและให้กำลังใจคณะทำงานโครงการฟื้นฟูเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กเยาวชนชายขอบในสังคมเมือง (เด็กชายขอบ) โดยมี ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ,ดร.พะโยม ชิณวงศ์ ศึกษาธิการภาค , นายถวร พลีดี ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดขอนแก่น ,นางวิจิตราวลิน พรปัญญาภัทร ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอเมืองขอนแก่น ร่วมเป็นเกียรติในครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวยกย่องหน่วยงานในจังหวัดขอนแก่น ไม่ว่าจะเป็น จังหวัดขอนแก่น ,เทศบาลนครขอนแก่น , กศน.จังหวัดขอนแก่น , กศน.อำเภอเมืองขอนแก่น ตลอดจนภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับเด็กเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอชื่นเด็กๆ กลุ่มแกนนำเยาวชนเด็กชายขอบ นำโดย นายประดิษฐ์จรัส อสุชีวะ (เปี๊ยก มังกรดำ) แกนนำผู้ดูแลเยาวชนเด็กชายขอบ ในการอุทิศตนช่วยเหลือสังคมในเวลาที่สังคมต้องการความช่วยเหลือ ด้วยจิตใจที่มั่นคง เป็นคนดีของสังคม เพื่ออนาคตที่สดใสในวันข้างหน้าสำหรับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี เป็นพ่อแม่ที่ดี และเป็นคนดีในสังคมต่อไป
นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นได้กล่าวว่า โครงการฟื้นฟูเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กเยาวชนชายขอบในสังคมเมือง (เด็กชายขอบ) นั้น สืบเนื่องจากมีกลุ่มเด็กกลุ่มหนึ่งที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เมื่อกลุ่มเหล่านี้รวมตัวกันมีปัญหาเรื่องการหารายได้ มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยไปอยู่ตามบ้านร้างรวมตัวกัน จนกระทั่งไปเจอเด็กกลุ่มหนึ่ง แล้ววันหนึ่งกลุ่มเด็กๆเหล่านี้มีความพร้อมเพื่อพบปะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่เทศบาลนครขอนแก่น โดยผ่านนวัตกรรมเนื้อย่าง และได้มีโอกาสคุยกับแก๊งที่มีชื่อว่า “แก๊งมังกรดำ” มีนายประดิษฐ์จรัส อสุชีวะ (เปี๊ยก มังกรดำ) เป็นหัวหน้าแก็ง ซึ่งกว่าจะให้ความเชื่อมั่นก็ใช้เวลาพอสมควร หลังจากนั้นก็เริ่มพูดคุยอย่างจริงจังกับเด็กชายขอบ เป็นสื่อเชิงสัญลักษณ์ของความหมายว่า เหมือนกลุ่มน้องๆเหล่านี้อยู่ขอบของสังคม เมื่อพบปะพูดคุยได้หาแนวทางในการทำกิจกรรมร่วมเป็นกิจกรรมที่มุ่งคลายความกังวลให้เกิดความไว้วางใจ หลังจากนั้นได้มีการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การเข้าค่าย กิจกรรมการกีฬา การอบรมอาชีพ การบำบัดยาเสพติด การจัดการเรื่องการศึกษา
ตลอดจนการหาพื้นที่ดีๆให้เด็กๆเหล่านั้นได้อยู่รวมกันโดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายเข้ามาช่วยกันดูแล และได้จัดตั้งเป็นศูนย์สร้างโอกาสเยาวชนชายขอบ เทศบาลนครขอนแก่น โดยเป็นสถานที่ในการใช้เป็นที่อยู่อาศัยพักพิงและมีตารางกิจกรรมร่วมกันทุกวัน ซึ่งศูนย์แห่งนี้ทำให้เด็กๆสามารถเข้าถึงได้ปีละ 300 คน ปัจจุบันมีเด็กชายขอบ จำนวนทั้งสิ้น 1,200 คน และมีเด็กชายขอบเข้าร่วมกิจกรรมของเทศบาล จำนวนกว่า 160 คนที่มีอาชีพ หรือได้รับการบำบัด หรือยินดีที่จะกลับบ้านไปหาครอบครัว
รวมไปถึงการที่เด็กเหล่านั้นได้เป็นแกนนำเพื่อเข้าร่วมโครงการกับเทศบาลนครขอนแก่น ด้วยการลงพื้นที่จำนวน 95 ชุมชนในเขตเทศบาลนครขอนแก่น เพื่อช่วยสอดส่องดูแลเด็กในพื้นที่ไม่ให้หลงทางไปใช้ชีวิตที่ผิดพลาด ซึ่งการดำเนินการได้มีความคืบหน้าไปบ้างแล้ว โดยมีการถ่ายทอดและถอดบทเรียนถึงกระบวนการทำงาน วิธีการทำงาน งบประมาณ การสร้างเครือข่าย เพื่อเป็นการต่อยอดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ หรือหน่วยงานต่างๆ สามารถนำไปต่อยอดทำงานต่อไปได้
แสดงความคิดเห็น