#กระหึ่มทั้งอีสาน ม.ขอนแก่น จัด ‘นุ่งซิ่นกินแมง แหล่งโปรตีนโลก’ มุ่งจุดไอเดีย นำจิ้งหรีดไทยสู่อุตสาหกรรมอาหารโลก
สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นในรายวิชา CM017814 การจัดการการตลาด (Marketing Management) จัดงาน “นุ่งซิ่นกินแมง” แหล่งโปรตีนโลก หรือ Edible Insect Food Fair-1st in Thailand @Khon Kaen โดยมี รศ. รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (สยปพ.) กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.บุษกรณ์ ลีเจ้ยวะระ อาจารย์ประจำรายวิชาฯ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มเกษตรกรผู้ลี้ยงจิ้งหรีด นักศึกษาปริญญาโท MBA หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ประชาชนทั่วไป สื่อมวลชน ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ณ ตลาดนัตต้นตาล อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เมื่อ วันที่ 3 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา
งาน‘นุ่งซิ่นกินแมง แหล่งโปรตีนโลก’มีรูปแบบงานเป็นการกิจกรรมเพื่อการพัฒนาแนวคิดสร้างรูปแบบธุรกิจและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีด โดยนักศึกษาในรายวิชา CM017814 การจัดการการตลาด (Marketing Management) และเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด ให้สามารถต่อยอดและขยายผลไปสู่การดำเนินธุรกิจ และยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของจิ้งหรีดให้มีความหลากหลาย สร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากจิ้งหรีดให้ผู้บริโภค สร้างโอกาสให้เกิดช่องทางในการจัดจำหน่ายและการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีดสู่เชิงพาณิชย์
ดร.บุษกรณ์ ลีเจ้ยวะระ อาจารย์ประจำรายวิชาฯ เผยว่า กิจกรรม ‘นุ่งซิ่นกินแมง แหล่งโปรตีนโลก’เป็นส่วนหนึ่งในรายวิชา CM017814 การจัดการการตลาด (Marketing Management) โดยในวันนี้การจัดกิจกรรมแบ่งเป็นภาคเช้าและ ภาคค่ำ ในภาคเช้าเป็นการ จัดกิจกรรม “การประกวดกลยุทธ์ทางธุรกิจและการตลาดผลิตภัณฑ์แปรรูปจากจิ้งหรีดด้วยแนวคิดเชิงออกแบบและการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ครั้งที่ 2” (CRICKET-BASED FOODS INNOVATION CONTEST – IDEA TO MARKET DESIGN THINKING APPROACH TO MARKETING MANAGEMENT) โดยมีวัตถุประสงค์ให้นักศึกษา Young Executive MBA รุ่นที่ 21 ได้นำเสนอแผนการตลาดและผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดแปรรูป มีคณะกรรมการตัดสินและให้ข้อเสนอแนะ ในภาคค่ำเป็นการจัดแสดงผลงานของนักศึกษาทั้ง 15 ทีม ภายใต้งาน “นุ่งซิ่นกินแมง” แหล่งโปรตีนโลก หรือ Edible Insect Food Fair-1st in Thailand @Khon Kaen
“เราเห็นเทศกาล Food Fair ของต่างประเทศค่อนข้างเยอะ และส่งเสริมการบริโภคแมงเนื่องจากมีประโยชน์และโปรตีนสูงมาก โดยเฉพาะประเทศฝั่งยุโรปออสเตรเลียจะกระตุ้นให้คนยอมรับอย่างมาก มีการจัด Food Fair มี startup แต่บ้านเราการบริโภคแมงค่อนข้างเงียบในขณะที่บ้านเรามีศักยภาพสูงมาก นอกจากนี้ยังมีชาวต่างชาติมาลงทุนในการเลี้ยงจิ้งหรีดเพราะว่าบ้านเรามีอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อจากนั้นก็นำไปแปรรูป ไปสร้างราคาที่บ้านเขา จากจุดนี้สะท้อนว่า โปรตีนจากแมงเป็นที่ต้องการของทั่วโลก เมื่อมีความต้องการสูง การสร้างคุณค่าให้วัตถุดิบอย่างจิ้งหรีดย่อมเป็นโจทย์สำคัญที่จะทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้ที่มากขึ้น”
ดร.บุษกรณ์ กล่าวต่อไปว่า มูลค่าตลาดทั่วโลกของจิ้งหรีด ปีละ 4 หมื่นล้าน เป็นตลาดที่ใหญ่โตมากซึ่งเราสามารถมาอยู่ใน Value Chain หรือ การสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบของอุตสาหกรรมจิ้งหรีดได้ ไม่ว่าจะเป็น อาหารที่เกี่ยวข้องกับจิ้งหรีด เราสามารถที่จะเลี้ยง สามารถที่จะเป็นพ่อค้าคนกลาง สามารถที่จะแปรรูปเป็นผง สามารถแปรรูปเป็นอาหารพร้อมทาน หรือเราสามารถทำเป็นผงแล้วส่งออก ฉะนั้นโครงการ ‘นุ่งซิ่นกินแมง แหล่งโปรตีนโลก’จึงเป็นกิจกรรมที่ผสมผสานวัฒนธรรมการแต่งกายอีสานและต้องการยกระดับอุตสาหกรรมจิ้งหรีด รวมไปถึงการเผยแพร่ ข้อมูลว่าจิ้งหรีดสามารถแปรรูปเป็นอาหารได้เยอะมากกว่าที่เคยเห็น และยังทำให้นักศึกษาได้ทดลอง ทำความเข้าใจตลาด ก่อนที่จะไปทำธุรกิจจริง และนำมุมมองของตลาด มุมมองของผู้บริโภคมาเป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหา สร้างธุรกิจ หมายความว่านักศึกษาจะได้ในเชิงของการเรียนเรื่องของธุรกิจ การตลาด ส่วนสิ่งที่ได้ตามมาคือ การที่เราไปจัดงานที่ตลาดต้นตาลจะเป็นการสร้าง การรับรู้ของประชาชน เพราะเราต้องการเผยแพร่ให้แนวคิดแบบนี้ไปยังอุตสาหกรรม ไปสู่ผู้บริโภคไปสู่คนทั่วไปให้คนเห็นเป็นจำนวนมาก ซึ่งนำไปสู่การต่อยอดทางธุรกิจ หรือแม้กระทั่งเกษตรกรก็ทำให้ทราบว่ามีโอกาสที่กว้างขึ้น แม้กระทั่งที่ปัจจุบันมีผู้ที่ตกงานสูงขึ้น ก็สามารถนำไปสู่การสร้างเส้นทางอาชีพได้เช่นกัน ไม่ต้องทำอะไรที่เป็นโจทย์ยาก แต่มาทำในสิ่งที่เป็นที่ต้องการของคนทั่วโลก และคู่แข่งน้อย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่เก่งที่สุดในเรื่องของการเลี้ยงจิ้งหรีด”
ในช่วงท้าย ดร.บุษกรณ์ มองว่า จิ้งหรีดเป็นสัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่มีพลังใหญ่ เนื่องจากมีความต้องการกระจายอยู่ทั่วโลก เป็นอีกหนึ่งกลไกที่สามารถสร้างเม็ดเงินสู่ธุรกิจด้านอาหารระหว่างประเทศ และยังสามารถสร้างอาชีพแก้วิกฤติในภาวะที่ภาคเอกชนลดจำนวนพนักงานจากปัญหาทางเศรษฐกิจ
“อุตสาหกรรมจิ้งหรีดเป็นกลไกที่ใหญ่ เมื่อมองเห็นเงินกระจายอยู่ทั่วโลก ทำไมเราไม่หยิบ ทำไมเราไม่ฝึกในการที่เราจะสร้างงานให้กับตัวเอง แล้วใช้ความรู้ความสามารถที่เคยไปฝึกในบริษัทมาบริหารจัดการธุรกิจของเราเอง มาประเมินว่าเราต้องคุมต้นทุนเท่าไหร่ วางแผนการขายอย่างไร วางแผนการผลิตอย่างไร ตลาดเราอยู่ที่ไหน มีส่วนงานส่วนไหนที่เราสามารถเข้าไป ต่อจากนั้นเชื่อมโยงทำเป็นเครือข่าย เพราะเมื่อเข้าอุตสาหกรรมแปรรูป จะต้องมีมาตรฐาน GMP เพื่อที่จะให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาได้มาตรฐานสามารถส่งออกได้ทั่วโลก” ดร.บุษกรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ผลงานนักศึกษา Young Executive MBA ม.ขอนแก่น จำนวน 15 ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ผงจิ้งหรีดที่ผ่านการเลี้ยงระบบปลอดภัยโดยสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่นฯ ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงเป็นส่วนประกอบให้นักศึกษานำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และทดลองขายในงาน ได้แก่ Cricket Spread, Smooth โจ๊ก, ผงปรุงรสตรา น้องจิ้งปรุงรส, เส้นพาสต้าอบแห้ง Pasty Crickey, Peanut Cricker Butter, จิ้งหรีดในหมูยอ Picketyore, ลูกชิ้น Crick Ball, สแน็ก Cricket Crackers, เส้นขนมจีนอบแห้ง Cricket Dried Rice Noodles, ธัญพืช Sticky Crick, ไส้กรอกอีสาน Echo โอ้โหอร่อยบอกต่อ, Cricket Sausage, ขนมปัง KETO Cricky Bun, บราวนี่ Cric Cric-Cricoa Crunchy, อาหารสุนัข Crickey Doggy และ ขนมจิ้งหรีดผสมธัญพืช Sticky Crick