ผู้ว่าฯขอนแก่นเผย สภาพน้ำในลำน้ำพองกลับคืนสภาวะปกติเกือบ 100 % แล้ว หลังคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเร่งแก้ปัญหาผลักดันน้ำที่มีสารอินทรีย์จนทำให้น้ำสีดำและมีกลิ่นเหม็น พร้อมกับเติมค่าออกซิเจนในน้ำจนทำให้นำดีขึ้น
จากกรณีน้ำพอง บริเวณหน้าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น มีสภาพสีดำทั้งลำน้ำ และมีกลิ่นเหม็น ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น สั่งระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์วันละ 5 แสน ลบ.ม.จาก 3 แสน ลบ.ม.ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา พร้อมกับตั้งกังหันน้ำชัยพัฒนา เพื่อระบายน้ำและเติมออกซิเจน แก้ไขปัญหาแม่น้ำพองเน่าเหม็นนั้น วันนี้สภาพน้ำพองกลับเข้าสู่ภาวะปกติเกือบจะ 100 % แล้ว
นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ,สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 10 ,สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ที่ได้ออกตรวจตลอดลำน้ำที่อาจมาจากผลกระทบจากโรงงานหรือไม่นั้น ได้รายงานความคืบหน้า นับตั้งแต่ที่ ผู้ว่ารการจังหวัดพร้อมหน่วยงานได้ลงพื้นที่ ฝายหนองหวาย ขณะนี้ตลอดลำน้ำ สภาพแวดล้อมระบบนิเวศน์ของลำน้ำพองที่เคยเน่าเหม็นได้ กลับคืนสภาวะเกือบจะปกติแล้ว อาจจะมีบางจุดที่มีค่าออกซิเจนยังไม่นิ่ง ถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ได้ใช้หลักวิชาการเข้ามาแก้ไขแล้ว
ส่วนประเด็นสำคัญ พบว่าการแก้ไขนี้มีนัยสำคัญ คือการที่ให้ฝายหนองหวานนั้นเปิดบานประตูระบายน้ำออกมา ทำให้สิ่งตกค้างสารอินทรีย์ที่ไหลมาสันฝายหนองหวายไม่ได้ จนตกค้างทำให้เกิดกลิ่นหรือเกิดการเน่าที่บริเวณหน้าฝายหนองหวายนั้น หลังจากที่มีการเปิดไปเมื่อวันที่ 6 กันยายน ทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น อีกทั้งใช้การเจือจางของน้ำ. ประกอบกับ ฝายหนองหวายได้เร่งเพิ่มออกซิเจนในน้ำบริเวณหน้าฝาย ซึ่งจะทำให้เกิดปฏิกิริยาให้สารอินทรีย์ย่อยสลายอย่างสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้กลิ่นเหม็นหายไปเกือบ 100 % และยังมีการเติมความสมบูรณ์ให้น้ำกลับมา โดยให้เขื่อนอุบลรัตน์ ได้เพิ่มการระบายน้ำจากวันละ 3 แสน ลบ.ม.เป็นวันละ. 5 แสน ลบ.ม. เป็นระยะเวลา 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน
ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยอีกว่า ยังมีความจำเป็นที่จะรักษาระบบนิเวศน์ทางน้ำควบคู่กับการเก็บกักน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและต้องให้คุณภาพของน้ำอยู่ในระดับที่ดี คือจะต้องมีการเจือจางของสิ่งปนเปื้อนทางน้ำ ซึ่งคงจะไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะไม่มีสารอินทรีย์อยู่ในน้ำ เนื่องจากมีลำน้ำสาขาต่างๆ ที่ไหลเข้ามาโดยตลอก ดังนั้นลำน้ำนี้จะต้องมีการรักษาระบบนิเวศน์ ด้วยการเจือจางมีปริมาณน้ำที่สูงขึ้น มีการเติมอากาศที่หน้าฝายหนองหวาย ทำให้ขณะนี้สภาพของค่าออกซิเจนที่บริเวณหน้าฝายหนองหวาย อยู่ที่ 2 ถือว่าคุณภาพอยู่ในระดับที่ดี