“ศักดิ์สยาม”ลุยจังหวัดอีสานใต้ 3 จังหวัด เร่งพัฒนาระบบขนส่งถนน-ราง- สนามบิน ทุ่มแสนล้านชูโปรเจ็กต์สร้างมอเตอร์เวย์สายใหม่“โคราช-ขอนแก่น” 1.2 หมื่นไร่ ระยะทาง 202 กม.เริ่มก่อสร้างในปี 2568 คาดแล้วเสร็จ ปี 2571
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่เพื่อติดตามการพัฒนาโครงการด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ในพื้นที่อีสานใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ ยโสธร และมุกดาหารว่า กระทรวงคมนาคม จะเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายถนน การก่อสร้างทางหลวงสายใหม่ การพัฒนาระบบราง ทั้งรถไฟทางคู่ ทางรถไฟสายใหม่ รถไฟความเร็วสูง และการพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก ด้านการคมนาคมขนส่ง รวมถึงการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ทั้งในด้านการเดินทางสัญจร และการขนส่งสินค้าในเส้นทางที่เชื่อมโยงสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อ่านต่อ>>“ศักดิ์สยาม”ลุยอีสานใต้!!โชว์แผนลงทุน 4 แสนล้าน.ผุดถนน-มอเตอร์เวย์-รถไฟทางคู่ https://www.esanbiz.com/33965
ในการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีว่าการคมนาคม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ การก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน – นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. คาดว่าจะสามารถเปิดบริการในปี 2566 และเตรียมการก่อสร้างต่อขยาย จากนครราชสีมา – ขอนแก่น ระยะทาง 202 กม. ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในปี 2568 เพื่อคลี่คลายปัญหาการจราจรและเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้แก่ประชาชน
ปัจจุบัน “ทล.-กรมทางหลวง” ได้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการเสร็จแล้ว เป็นการก่อสร้างบนพื้นที่ใหม่ รูปแบบถนนระดับดิน ขนาด 4 ช่องจราจร มีระยะทาง 202 กม. ทั้งโครงการใช้เงินลงทุนประมาณ 103,915 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้างงานโยธา 42,935 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 6,505 ล้านบาท มีที่ดินถูกเวนคืน 4,651 แปลง หรือ 12,950 กว่าไร่ สิ่งปลูกสร้าง 180 หลัง ค่างานด่านเก็บค่าผ่านทาง และงานระบบ 6,206 ล้านบาท ค่าพัฒนาที่พักริมทาง 2,352 ล้านบาท ค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) 42,664 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ประมาณ 3,253 ล้านบาท
แนวเส้นทางของมอเตอร์เวย์โคราช-ขอนแก่น จะแยกออกมาจากแนวของมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช บริเวณ กม. ๑๘๓+๐๐๐ ในพื้นที่อำเภอขามทะเลสอ โดยแนวเส้นทางจะมุ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อนจะเข้าสู่จุดพักรถ (Rest Stop) บริเวณ กม. ๑๘๗+๔๐๐ จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งหน้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่อำเภอเมืองนครราชสีมา แล้วจึงเข้าสู่พื้นที่อำเภอโนนไทย ก่อนจะเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข ๒๐๕ บริเวณ กม. ๒๐๙+๗๐๐ ในพื้นที่ตำบลโนนไทย ก่อนจะเข้าสู่ศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) ในพื้นที่ตำบลด่านจาก อำเภอโนนไทย และเข้าสู่ตำบลมะค่า จากนั้นแนวเส้นทางจะเข้าสู่พื้นที่อำเภอโนนสูง เชื่อมทางหลวงหมายเลข ๒๐๖๗ บริเวณ กม. ๒๒๘+๐๐๐ ในพื้นที่ตำบลขามเฒ่า แล้วจึงเข้าสู่ตำบลพลสงคราม ผ่านจุดพักรถ บริเวณ กม. ๒๓๘+๗๐๐ ก่อนจะข้ามทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ กม. ๒๔๒+๐๐๐ แล้วจึงเข้าสู่พื้นที่อำเภอคง แนวเส้นทางจะตัดทางหลวงหมายเลข ๒๑๕๐ เชื่อมต่อเป็นทางแยกต่างระดับ บริเวณ กม. ๒๕๑+๐๐๐ ก่อนแนวเส้นทางจะเข้าสู่พื้นที่ตำบลดอนตะหนิน อำเภอบัวใหญ่ ผ่านสถานีบริการทางหลวง (Service Area) บริเวณ กม. ๒๖๘+๑๐๐ แล้วจึงตัดผ่านทางหลวงหมายเลข ๒๐๒ เข้าเชื่อมต่อเป็นทางแยกต่างระดับ บริเวณ กม. ๒๗๒+๓๐๐ แล้วเข้าอำเภอบัวใหญ่และอำเภอสีดา”
นายเจษฎา นาวาสิทธิ์ กล่าวอีกว่า “จากนั้นแนวเส้นทางจะเข้าสู่พื้นที่อำเภอบัวลาย ตัดผ่านถนนมิตรภาพ เชื่อมต่อเป็นทางแยกต่างระดับ บริเวณ กม. ๒๘๗+๕๐๐ ก่อนจะเข้าสู่พื้นที่ตำบลวังไม้แดง อำเภอประทาย จากนั้นแนวเส้นทางจะเข้าสู่พื้นที่ตำบลหนองแวงโศกพระ อำเภอพล (ขอนแก่น) โดยผ่านจุดพักรถ บริเวณ กม. ๒๙๘+๑๐๐ แล้วจึงเข้าสู่ตำบลพันโจด อำเภอหนองสองห้อง ตัดทางหลวงหมายเลข ๒๐๗ เชื่อมต่อเป็นทางแยกต่างระดับ บริเวณ กม. ๓๐๗+๐๐๐ พื้นที่อำเภอโนนศิลา ก่อนจะเข้าสู่พื้นที่อำเภอบ้านไผ่ แนวเส้นทางในช่วงนี้จะผ่านตำบลป่าปอ เข้าศูนย์บริการทางหลวง บริเวณ กม. ๓๒๘+๑๐๐ แล้วจึงตัดผ่านทางหลวงหมายเลข ๒๓ เชื่อมต่อเป็นทางแยกต่างระดับ บริเวณ กม. ๓๔๑+๐๐๐ ในพื้นที่ตำบลหินตั้ง แล้วจึงมุ่งขึ้นทิศเหนือผ่านตำบลภูเหล็ก”
“จากนั้นแนวเส้นทางจะเข้าสู่พื้นที่อำเภอโกสุมพิสัย ผ่านจุดพักรถ บริเวณ กม. ๓๕๕+๕๐๐ แล้วจึงตัดทางหลวงหมายเลข ๒๐๘ เชื่อมต่อเป็นทางแยกต่างระดับ บริเวณ กม. ๓๗๐+๐๐๐ จากนั้นแนวเส้นทางจะเบี่ยงซ้าย โดยมีตำแหน่งด่านเก็บค่าผ่านทางแบบ Barrier Type บริเวณ กม. ๓๗๖+๕๐๐ ในพื้นที่ตำบลเขาไร่ และผ่านตำบลโพนงาม จากนั้นจึงยกระดับข้ามแม่น้ำชี เข้าสู่พื้นที่ตำบลดอนหัน อำเภอเมืองขอนแก่น จากนั้นแนวเส้นทางจากกม. ๓๖๑+๕๐๐ ถึงจุดสิ้นสุดโครงการ ในจุดที่โครงการผ่านชุมชนหรือตัดผ่านถนนท้องถิ่น เพื่อรองรับการพัฒนาเมืองตลอดแนวก่อนจะสิ้นสุดโครงการบนทางหลวงหมายเลข ๒๓๐ ในพื้นที่ตำบลพระลับ อำเภอเมืองขอนแก่น โครงการได้ออกแบบมาให้ ทางบริการ ทางลอดหรือสะพานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การสัญจรในท้องถิ่นให้สามารถเดินทางเชื่อมต่อกันได้
ในแผนงานของกรมทางหลวงในปี 2563-2565 เป็นการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) สำรวจออกแบบและศึกษารูปแบบ PPP ในปี 2565 ขออนุมัติโครงการปี 2566 เริ่มเวนคืนและประมูลก่อสร้างปี 2567-2568 เปิดบริการในปี 2571 คาดว่าจะมีปริมาณการจราจรอยู่ที่ 41,801 คัน/วัน และในอนาคตจะขยายเส้นทางไปถึง จ.หนองคายอีกด้วย