เปิดแบบ ‘เทอร์มินอลใหม่สนามบินบุรีรัมย์ ไอเดียเก๋ รูปลักษณ์อาคารโฉบเฉี่ยว สู่เมืองแห่ง สปอร์ตซิตี้”คาดเปิดบริการปี 66 ทย.ทุ่ม 775 ล้านเริ่มตอกเสาเข็มก.ย.63 ต้อนรับผู้โดยสาร 2.8 ล้านคน
“กรมท่าอากาศยาน” ได้จัดทำแผนพัฒนาสนามบินบุรีรัมย์ปี 2563-2566 ด้วยวงเงิน 1,750 ล้านบาท เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จากสถิติปริมาณผู้โดยสารตั้งแต่ปี 2553 มีจำนวน 6,113 คนต่อปี และเพิ่มขึ้นเป็น 349,440 คนต่อปีในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 144% ต่อปี
โดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีการแข่งขันกีฬาจะมีปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารต่อชั่วโมงเกินขีดความสามารถที่จะรองรับได้ เช่น การจัดการแข่งขันโมโตจีพีในชั่วโมงคับคั่งจะมีปริมาณผู้โดยสาร 720 คน (4 เที่ยวบิน) ต่อชั่วโมง ซึ่งอาคารที่พักผู้โดยสารรองรับขาออก 300 คน (2 เที่ยวบิน) ต่อชั่วโมง และขาเข้า 150 คน (1 เที่ยวบิน) ต่อชั่วโมง
ในแผนจะก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ รองรับผู้โดยสารได้ 1,000 คนต่อชั่วโมง หรือ 2.80 ล้านคนต่อปี ใช้งบฯ 775 ล้านบาท เปิดบริการในปี 2566 ขณะนี้ได้บริษัทผู้รับเหมาที่จะมาดำเนินการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาได้ภายในเดือน ส.ค.63 และเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างในเดือน ก.ย.นี้ ทั้งนี้จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จ และพร้อมเปิดให้บริการได้ประมาณปี 66 โดยอาคารผู้โดยสารหลังใหม่นี้มีพื้นที่ประมาณ 15,000 ตารางเมตร
และขยายความยาวทางวิ่งจาก 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร อาคารคลังสินค้าและลานจอดอากาศยานขนส่งสินค้า ของบฯปี 2564 จำนวน 950 ล้านบาท เพื่อให้รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ B787 หรือ A330 ในการบินพิสัยไกล รับเส้นทางบินตรงจากออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
เพิ่มขีดความสามารถตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยกระดับ “สนามบินบุรีรัมย์” เป็นศูนย์กลางทางการบินของอีสานใต้เชื่อมขนส่งทางอากาศกับกลุ่มประเทศ CLMV กลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
อาคารผู้โดยสารหลังใหม่นี้ มีการออกแบบให้มีความทันสมัยสมกับการยกระดับเมืองบุรีรัมย์ให้เป็นที่รู้จัก เป็นประตูบานแรกที่เปิดรับผู้คนจากทั่วโลกที่พร้อมจะมาเยี่ยมเยือนเมืองแห่งประวัติศาสตร์ และเมืองกีฬาครบวงจร(สปอร์ตซิตี้) โดยรูปลักษณ์เส้นสายของอาคารจะมีความโฉบเฉี่ยว สปอร์ต และสากลมากขึ้น ให้ความรู้สึกถึงความพุ่งทะยานที่เจริญรุ่งเรืองไปข้างหน้า นอกจากนี้ยังเลือกใช้โครงสร้างผนังเบา (อลูมิเนียมคอมโพสิท) เข้ามาประสานกับผนังกระจกบานใหญ่ เพื่อทำให้ดูโปร่งโล่งเบาสบายไม่รู้สึกอึดอัด
ขณะที่ภายในอาคารยังคงความเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่นำมาสอดประสานในรูปแบบประติมากรรม และการตกแต่งภายใน พร้อมกันนี้มีการจัดวางองค์ประกอบของพื้นที่ใช้สอยส่วนบริการต่างๆ ให้สามารถบริการผู้โดยสารได้อย่างรวดเร็ว และคล่องตัว ขณะเดียวกันอาคารแห่งใหม่นี้ยังถูกออกแบบให้รองรับการใช้พลังงานทดแทน และมีกระบวนการรีไซเคิลน้ำ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย
ที่มา:https://www.prachachat.net/property/news-490181
https://www.dailynews.co.th/economic/788316