สภาผู้แทนฯเดินหน้า!!สางปัญหา‘หนี้สินครู’ทั้งระบบ เปิดรับฟังทางแก้ 4 ภูมิภาค 28 พ.ย.นี้

คณะอนุกรรมาธิการฯสภาผู้แทน เตรียมฟันธงแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบผนึกกำลังร่วมผู้นำองค์กรเครือข่ายวิชาชีพครู4ภูมิภาคทั่วประเทศที่ขอนแก่น28พ.ย.นี้

   

              ดร.เพิ่ม หลวงแก้ว ประธานสภาสหภาพครูแห่งชาติ ในฐานะโฆษกคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า เมื่อเวลา10.00วันที่23 พฤศจิกายน 2563 ที่ห้องประชุมกรรมาธิการ403 ชั้น4 อาคารรัฐสภา กรุงเทพฯ มีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูในคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาและแนวทางบริหารหารจัดการปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพฯ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบหลายประเด็น จนถึงเวลา15.00น. ประธานที่ประชุมคือดร.ปรีดา บุญเพลิง จึงสั่งปิดการประชุม

ดร.ปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมาธิการเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาวันนี้ ที่ประชุมได้มีการสรุปสาเหตุการเกิดปัญหาหนี้สินครูและวิเคราะห์ สาเหตุของการเป็นหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้โดยปัจจัยพื้นฐาน เป็นหนี้ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่รับราชการครูหรือทางราชการเป็นเหตุ และ  เป็นหนี้จากปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ซึ่งภาระหนี้สินครู เมื่อแบ่งประเภทหนี้ของข้าราชการครูที่เกิดจากการกู้เงินสถาบันการเงิน และหนี้นอกระบบอื่น ๆ แบ่งเป็น ๓ ลักษณะ คือ
๑) หนี้ปกติ คือ ครูที่เป็นหนี้สามารถส่งคืนหนี้ได้ปกติทุกเดือน และมีเงินเดือนเหลือพอใช้จ่ายเพียงพอในแต่ละเดือนได้ปกติ (มีปานกลาง)
๒) หนี้ใกล้วิกฤติ คือ ครูที่เป็นหนี้สามารถส่งคืนได้ปกติทุกเดือน แต่ไม่มีเงินเหลือเพียงพอในการใช้จ่ายแต่ละเดือน ต้องวิ่งหากู้ยืมเงินนอกระบบมาใช้จ่ายให้เพียงพอ (มีมาก เพิ่มขึ้นทุกปี)
๓) หนี้ขั้นวิกฤติ คือ ครูที่เป็นหนี้ไม่สามารถส่งคืนเงินกู้ได้ปกติ เงินใช้แต่ละเดือนไม่เพียงพอ ตกเป็นภาระผู้ค้ำประกัน ต้องรับภาระชำระหนี้แทน (มีน้อย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี)


 จากสาเหตุและสภาพหนี้ปัจจุบันของการเป็นหนี้ของข้าราชการครู ดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ การได้รับการยอมรับรับถือในสังคม จรรยาบรรณวิชาชีพ ตลอดจนการพัฒนาองค์กรวิชาชีพของครูอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้การแก้ปัญหาหนี้ จึงจำเป็นต้องแก้ไขอย่างเป็นระบบแบบองค์รวมเชิงบูรณาการในทุกมิติ ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาแบบเฉียบพลัน มีส่วนร่วมและยั่งยืน แก้ไขปัญหาหนี้สินครูครูให้บังเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั้น ไม่สามารถจะดำเนินการกับกลุ่มครูที่เป็นหนี้ทั้งหมดในคราวเดียวกันได้ เพราะครูที่เป็นหนี้มีเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเริ่มต้นที่กลุ่มครูที่เป็นหนี้วิกฤติก่อนแล้วจึงขยายผลไปยังกลุ่มอื่นให้ครอบคลุม โดยมีแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของครู ทั้งแก้ไขเร่งด่วนและแก้ไขอย่างยั่งยืนระยะยาว ซึ่งวันนี้จะขอชี้แจง การแก้ไขระยะเร่งด่วนก่อน โดยตามที่แบ่งประเภทของข้าราชการครู ที่เป็นหนี้ข้างต้น มี ๓ ประเภท คือ หนี้ปกติ หนี้กำลังเข้าขั้นวิกฤติ และหนี้เข้าขั้นวิกฤติ โดยเฉพาะหนี้เข้าขั้นวิกฤติจนมีการฟ้องร้องบังคับคดียึดทรัพย์ หรืออาจนำไปสู่การเป็นบุคคลล้มละลายได้ ควรได้รับการแก้ไขโดยเร็วกว่าหนี้ประเภทอื่น ๆ ซึ่งจะต้องดำเนินการแก้ไขให้ครบถ้วนในลำดับต่อไป โดยแนวทางเร่งด่วนพอสรุปคร่าวๆ อาทิเช่น
 ๑) การประนอมหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับข้าราชการครูที่เป็นหนี้เข้าขั้นวิกฤติและกำลังเข้าขั้นวิกฤติ
โดยกำหนดแผนการชำระหนี้และเจรจาประนอมหนี้ ด้วยการประสานกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ครู หรือสถาบันการเงินอื่น เจ้าหนี้ ศูนย์ดำรงธรรม กรมบังคับคดีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

๒) รัฐต้องพักชำระหนี้ให้แก่ครู อย่างน้อย ๒ ปี หรือยืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้ยาวขึ้น สำหรับครูที่มีความประสงค์และเดือดร้อนเท่านั้นเพื่อให้ครูได้วางแผนการบริหารจัดการภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้เพียงพอแต่ละเดือน และต้องมีมาตรการกำกับ ติดตามอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามสร้างหนี้เพิ่ม ต้องทำบัญชีครัวเรือนและดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น
๓) ลดดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกินร้อยละ ๔ บาทต่อปี โดยใช้กระบวนการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูทั้งระบบ และอาศัยเครือข่ายพัฒนาชีวิตครูเพื่อแก้ไขปัญหาชีวิตครูอย่างเป็นระบบและอย่างยั่งยืน ฯลฯ

         ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบประสบความสำเร็จโดยเร็ว ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการจึงจัดให้มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับแกนนำองค์กรวิชาชีพครู และเครือข่ายพัฒนาวิชาชีพครู4ภูมิภาคทั่วประเทศในฐานะที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการคณะนี้ เพื่อหลอมรวมปัญหาและสรุปแนวทางครั้งสุดท้ายในวันที่ 28พ.ย.  2563เวลา13.00น.เป็นต้นไป ที่ห้องประชุมใหญ่โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จ.ขอนแก่น ก่อนสรุปแนวทางครั้งสุดท้ายให้คณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯอนุมัติ เสนอเข้าสู่ระบบรัฐสภาเห็นชอบส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไปให้สำเร็จโดยเร็ว ดร.ปรีดา บุญเพลิง ประธานคณะอนุกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู กล่าวสรุปในที่สุด.

แสดงความคิดเห็น