การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง หลายคนถูกให้ออกจากงานหรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน ทำให้รายได้หดหายหรือลดลง แต่ภาระหนี้ยังคงอยู่ทั้งหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสดหรือสินเชื่อส่วนบุคคล แล้วช่วงนี้มีมาตรการอะไรที่จะช่วยลดหนี้ของลูกหนี้รายย่อยได้บ้าง
ล่าสุดสถาบันการเงินได้ออกมาตรการเพื่อบรรเทาภาระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อย ด้วยวิธีการรวมหนี้ (Debt Consolidation) ที่สามารถนำหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ เช่น บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (จำนำทะเบียน) และสินเชื่อเช่าซื้อรถ มาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ด้วยการรวมหนี้กับหนี้บ้านที่มีอยู่ในสถาบันการเงินเดียวกัน หรือบริษัทที่อยู่ในกลุ่มของสถาบันการเงินนั้น ๆ โดยใช้บ้านเป็นหลักประกัน โดยหนี้บ้านจะต้องไม่เป็นหนี้ที่ค้างชำระเกินกว่า 90 วัน (NPL) ส่วนหนี้ที่จะนำมารวมกับหนี้บ้านนั้นจะเป็น NPL หรือไม่เป็น NPL ก็ได้
การรวมหนี้ดังกล่าว จะช่วยลดอัตราดอกเบี้ยให้เหลือไม่เกินอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR (Minimum Retail Rate) ซึ่งปัจจุบันสถาบันการเงินบางแห่งคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 5.75 ต่อปี เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตร้อยละ 16 ต่อปี บัตรกดเงินสดร้อยละ 25 ต่อปี ทำให้ลดภาระดอกเบี้ยลงไปได้มากทีเดียว และยังสามารถขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปได้ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
นอกจากนี้ มาตรการนี้จะไม่ทำให้ลูกหนี้เสียประวัติข้อมูลเครดิต ไม่มีค่าธรรมเนียมในการเข้าร่วมมาตรการ ไม่มีเบี้ยปรับการชำระหนี้ก่อนกำหนด (Prepayment Fee) อีกทั้งยังสามารถใช้วงเงินคงเหลือของบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด โดยสถาบันการเงินจะพิจารณาตามความสามารถในการชำระของลูกหนี้
แต่ละราย และจะให้ข้อมูลเปรียบเทียบเพื่อประกอบการตัดสินใจ เช่น เปรียบเทียบภาระหนี้เดิมกับ
ภาระหนี้ใหม่ ข้อดีข้อเสียของการเข้าร่วมมาตรการ เป็นต้น
สำหรับผู้ที่เข้าเงื่อนไขดังกล่าวสามารถขอเข้าร่วมมาตรการรวมหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 และต้องแสดงข้อมูลการได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด 19 ให้แก่สถาบันการเงินนั้นด้วย
มาตรการรวมหนี้เป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะช่วยลดภาระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยได้ โดยลูกหนี้ที่สนใจสามารถสมัครได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของสถาบันการเงิน เช่น Website ของสถาบันการเงิน สาขาของสถาบันการเงิน และ Call Center เป็นต้น หรือหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร. 1213
……………………………..
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
โดย-นางสาวอัมพร นิติกิจไพบูลย์ ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน